-
เลือกวันหรือฤกษ์ในการขึ้นบ้านใหม่
ขั้นตอนแรกของการขึ้นบ้านใหม่ คือ การเลือกวันและเวลา ซึ่งจะมีอยู่หลายวิธีในการเลือกช่วงเวลาที่มีความหมายดี โดยสามารถเลือกได้อย่างหลากหลาย ตามความเชื่อและความสนใจของแต่ละคน ซึ่งจะมีอยู่ 3 วิธีที่นิยมใช้ในการเลือกวันขึ้นบ้านใหม่ ได้แก่
เลือกฤกษ์สะดวก
ฤกษ์สะดวก คือ การเลือกวันผ่านความสะดวกของตนหรือของทุกคนในงานเป็นสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจเอาไว้เลือกวันจัดงานเช่นกัน โดยฤกษ์สะดวกจะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี และช่วยเสริมในการทำสิ่งต่างๆ ให้ราบรื่น และปราศจากอุปสรรคได้ เพราะเป็นการเลือกขึ้นบ้านใหม่ในช่วงเวลาที่เจ้าของบ้านและผู้อยู่อาศัยมีความพร้อม ทำให้มีจิตใจที่สงบ และไม่ต้องคอยพะว้าพะวัง
แต่ถ้ากังวล เรื่องฤกษ์แต่ไม่สะดวก หรือไม่มีเวลาในการดู ก็ควรหลีกเลี่ยงจัดงานขึ้นบ้านใหม่ในวันเสาร์ เพราะในทางโหราศาสตร์ไทย วันเสาร์จะไม่ใช่วันมงคลที่เหมาะกับการขึ้นบ้านใหม่ เนื่องจากดาวเสาร์ถือเป็นดาวที่เกี่ยวข้องกับความเศร้าและความทุกข์
เลือกวันที่เป็นมงคลตามวันเกิด
การเลือกวันมงคลตามวันเกิดถือเป็นอีกตัวเลือกที่ได้รับความนิยม โดยสามารถยึดจากวันที่ดีกับตัวเจ้าของบ้าน หรือเป็นวันที่ดีหรือไม่แย่กับทุกคนในครอบครัวก็ได้ โดยคนที่เกิดแต่ละวันจะมีวันที่เป็นมงคล และควรหลีกเลี่ยงต่างกัน โดยวันมงคลและวันที่ควรหลีกเลี่ยงของคนที่เกิดในแต่ละวัน มีดังนี้
- ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันพุธ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยง คือ วันศุกร์
- ผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันพุธ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยง คือ วันอาทิตย์
- ผู้ที่เกิดวันอังคาร มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันพฤหัสบดี และวันอาทิตย์ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ วันจันทร์
- ผู้ที่เกิดวันพุธกลางวัน มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันพุธ และวันอาทิตย์ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ วันจันทร์
- ผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืน มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันจันทร์ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ วันพฤหัสบดี
- ผู้ที่เกิดวันพฤหัสบดี มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันอาทิตย์ และวันพุธ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ วันเสาร์
- ผู้ที่เกิดวันศุกร์ มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันอังคาร และวันพฤหัสบดี โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ วันพุธ
- ผู้ที่เกิดวันเสาร์ มีฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่ที่ดีที่สุด คือ วันศุกร์ และวันจันทร์ โดยวันที่ควรหลีกเลี่ยงคือ วันพุธ
เลือกวันที่เป็นมงคลตามปีนักษัตร
การเลือกวันขึ้นบ้านใหม่ผ่านปีนักษัตรที่เกิดก็สามารถเลือกเป็นวันโดยยึดจากเจ้าของบ้าน หรือเป็นวันที่ดีกับทุกคนในครอบครัวก็ได้ ซึ่งวันที่ดีกับแต่ละนักษัตร มีดังนี้
- คนเกิดปีชวด จะมีวันดีเป็นวันพุธและวันเสาร์
- คนเกิดปีฉลู จะมีวันดีเป็นวันอาทิตย์และวันพุธ
- คนเกิดปีขาล จะมีวันดีเป็นวันอังคารและวันพฤหัสบดี
- คนเกิดปีเถาะ จะมีวันดีเป็นวันอังคารและวันศุกร์
- คนเกิดปีมะโรง จะมีวันดีเป็นวันพุธและวันเสาร์
- คนเกิดปีมะเส็ง จะมีวันดีเป็นวันจันทร์และวันพฤหัสบดี
- คนเกิดปีมะเมีย จะมีวันดีเป็นวันอาทิตย์และวันพฤหัสบดี
- คนเกิดปีมะแม จะมีวันดีเป็นวันจันทร์และวันพุธ
- คนเกิดปีวอก จะมีวันดีเป็นวันพุธและวันเสาร์
- คนเกิดปีระกา จะมีวันดีเป็นวันอังคารและวันศุกร์
- คนเกิดปีจอ จะมีวันดีเป็นวันพฤหัสบดีและวันเสาร์
- คนเกิดปีกุน จะมีวันดีเป็นวันพฤหัสบดีและวันศุกร์
วันและเวลาในฤกษ์มงคลของไทย
คนไทยจะมีความเชื่อเกี่ยวกับฤกษ์งามยามดี ว่าหากเลือกกระทำสิ่งต่างๆ ในช่วงเวลาที่เป็นมงคล หรือฤกษ์ที่เหมาะสม จะช่วยเสริมให้กิจการนั้นๆ ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ปราศจากปัญหา และประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยในทางโหราศาสตร์ไทยจะมีการกำหนดฤกษ์ที่ดี หรือฤกษ์บน โดยคำนวณจากตำแหน่งของดาวจันทร์ และดาวดวงอื่นๆ ไว้ด้วยกันทั้งหมด 9 ฤกษ์ แต่ละฤกษ์จะเหมาะกับกิจกรรมที่ต่างกัน สำหรับการขึ้นบ้านใหม่ มีทั้งหมด 3 ฤกษ์ที่เหมาะสมมาก ดังนี้
- มหัทธโนฤกษ์ แปลว่า คนมั่งมี ผู้รุ่งเรือง เศรษฐี ถือเป็นฤกษ์ที่เหมาะกับงานมงคลต่างๆ หากใช้ขึ้นบ้านใหม่จะช่วยส่งเสริมให้บ้านเกิดความร่ำรวยได้
- ภูมิปาโลฤกษ์ แปลว่า ผู้รักษาแผ่นดิน ถือเป็นฤกษ์ที่เหมาะกับงานที่ต้องการความมั่นคงถาวร หากใช้ขึ้นบ้านใหม่จะช่วยส่งเสริมให้บ้านเกิดความปลอดภัย
- สมโณฤกษ์ แปลว่า สงบเรียบร้อย นักบวช นักสอนศาสนา ถือเป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับการกระทำที่ต้องการความสงบร่มเย็น หรืองานบุญ จึงเหมาะกับการทำพิธีย้ายเข้าบ้านใหม่ หรือทำบุญขึ้นบ้านใหม่
-
จัดเตรียมของสำหรับพิธีขึ้นบ้านใหม่
ทุกครั้งที่มีการเตรียมพิธีมงคล ก็จะต้องมีการเตรียมของสำหรับพิธีขึ้นบ้านใหม่ด้วย ซึ่งของเหล่านี้ก็มีความสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น อาหารสำหรับแขกที่มางาน อาหารสำหรับทำบุญ หรือของไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบ้านทั้งหลาย ก็ล้วนต้องถูกเตรียมเอาไว้ให้พร้อมทั้งสิ้น เพื่อความสะดวกเรียบร้อยในการดำเนินงาน และป้องกันการตกหล่นของสิ่งที่จำเป็น
สิ่งศักดิ์สิทธิ์และของไหว้
ในแต่ละบ้านล้วนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือแตกต่างกันออก ทำให้ในงานขึ้นบ้านใหม่ก็มักจะมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา หรือตามประเพณี โดยตามความเชื่อต่างๆ ที่จะต้องใช้รูปเคารพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาประกอบ พร้อมกับข้าวของต่างๆ ที่ใช้ประกอบพิธี เช่น
- สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความนับถือ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป เจ้าที่หรือตี่จู้เอี๊ยะ
- ข้าวของที่จำเป็นในการประกอบพิธี หรือการทำความเคารพ เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน แท่นบูชา
อาหารที่ต้องเตรียม
อาหารที่ต้องเตรียมนั้นนอกจากจะมีอาหารสำหรับต้อนรับแขกแล้ว ยังมีอาหารอื่นๆ ที่อาจจะไม่ได้กินเองในงาน แต่จำเป็นสำหรับการถวายให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีีการขึ้นบ้านใหม่ เพื่อเป็นการเสริมความเป็นสิริมงคล และสื่อถึงความพร้อมที่จะเข้าอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องกังวลอีก ซึ่งอาหารที่ต้องเตรียมก็จะได้แก่
- ผลไม้มงคล จำนวน 2 ชุด เช่น กล้วย มะพร้าว สาลี่ ทับทิม ส้ม
- ขนมไทยมงคล จำนวน 2 ชุด เช่น ทองม้วน ทองหยิบ ทองเอก เพราะชื่อขนมที่ขึ้นต้นด้วย “ทอง” เชื่อกันว่าจะส่งผลดีในเรื่องของเงินทอง หรือโชคลาภ
- น้ำดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำหวาน หรือน้ำผลไม้
- ข้าวสาร และอาหารแห้ง เช่น ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- อาหารคาว จำนวน 2 ชุด ได้แก่ ข้าวสวย และกับข้าวต่างๆ
-
จัดเตรียมสถานที่ หรือโต๊ะหมู่บูชาภายในบ้าน
เจ้าของบ้านควรจัดเตรียมสถานที่ โดยการทำความสะอาดและจัดระเบียบบ้านให้เรียบร้อย เก็บข้าวของที่ไม่จำเป็น ในพื้นที่ทำพิธีควรจะจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา เตรียมพื้นที่ให้มีความสะดวกในการเดินและนั่งทำพิธี พร้อมทั้งเว้นพื้นที่สำหรับวางของทำพิธีอื่นๆ เช่น น้ำ อาหาร เป็นต้น
-
อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าบ้าน
เวลาอัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้าบ้านโดยประเพณีแล้วจะให้ ผู้ชายอายุมากในบ้านเป็นคนเชิญพระพุทธรูปเข้าบ้านใหม่โดยนำไปวางที่หิ้งพระที่จัดเตรียมไว้ และมีผู้อยู่อาศัยทุกคนที่เหลือเดินตามเข้ามาในบ้าน หากเป็นครอบครัวเชื้อสายจีน จะมีการตั้งศาลเจ้าที่ หรือตี่จู้เอี๊ยะเอาไว้เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย
-
ถวายของไหว้
หลังจากเชิญพระเข้าบ้านแล้ว ก็จะสามารถเริ่มถวายของไหว้ได้ โดยการจัดตั้งโต๊ะอาหาร และวางอาหารทุกอย่างที่เตรียมไว้ ทั้งผลไม้และอาหารคาวหวาน น้ำดื่ม รวมถึงดอกไม้ พวงมาลัย เมื่อจัดวางครบแล้วก็เริ่มจุดเทียนและธูป เพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลของคนในบ้าน
-
ไหว้ศาลพระภูมิหรือเจ้าที่เจ้าทาง
การไหว้ศาลพระภูมิหรือเจ้าที่ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละบ้าน หรือหากเป็นหมู่บ้านบางที่อาจจะมีศาลของหมู่บ้านแทนที่จะเป็นศาลประจำบ้านของแต่ละหลัง ก็สามารถไปไหว้ศาลของหมู่บ้านแทนได้ ซึ่งการไหว้ศาลและเจ้าที่นั้นเชื่อกันว่าจะช่วยให้การอยู่อาศัยมีความร่มรื่น ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ โดยส่วนใหญ่การไหว้ศาลพระภูมิหรือศาลเจ้าที่เจ้าทาง ก็จะไหว้กันด้วยน้ำ ขนม หรือผลไม้เป็นหลัก พร้อมกับดอกไม้และการจุดธูปขอพร
-
เสริมความเฮง และความสบายใจ ด้วยพิธีก่อนย้ายเข้าบ้านใหม่เพิ่มเติม
ประเทศไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้มีหลายความเชื่ออยู่ร่วมกัน ดังนั้น บางบ้านอาจจะมีพิธีกรรมอื่นๆ มาเสริมทั้งก่อนหรือหลังย้ายเข้าบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านมือหนึ่ง หรือบ้านมือสอง ก็สามารถทำได้ตามความเชื่อและความนับถือของแต่ละคน โดยขั้นตอนต้องเตรียมอะไรและคำถามว่าขึ้นบ้านใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง ก็จะมีตัวอย่างเช่น
พิธีล้างอาถรรพ์บ้าน
จริงๆ เป็นวิธีที่ขึ้นบ้านใหม่ด้วยตัวเองที่ใช้ได้กับทั้งบ้านมือหนึ่งและบ้านมือสอง แต่สำหรับบ้านมือสองจะนิยมมากกว่า เพราะเจ้าของใหม่ไม่รู้ประวัติว่าบ้านที่กำลังย้ายเข้านั้นมีเรื่องที่ไม่ดีเคยเกิดขึ้นหรือไม่ การทำพิธีจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสร้างความสบายใจให้กับผู้ย้ายเข้าอยู่
ของที่ต้องเตรียม
สิ่งที่ต้องเตรียมในการประกอบพิธีกรรมนี้ มีอยู่ไม่มาก ก็ได้แก่
- มะนาวประมาณ 2 ผล
- เกลือราวๆ 2-3 ก้อน
- ประทัด 100 นัด
- ธูป 5 ดอก
ขั้นตอน
- นำมะนาวที่เตรียมไว้มาผ่าครึ่ง แล้วนำไปวางในมุมทั้ง 4 ของบ้าน ทิ้งไว้หนึ่งคืน แล้วจึงนำไปทิ้ง
- นำเกลือที่เตรียมไว้ ไปวางบนถ้วยเป็นเวลาสามวัน จากนั้นให้นำไปทิ้ง
- จุดประทัด 100 นัด บริเวณหน้าบ้าน ทั้งนี้ ก่อนจุดควรไปเตือนเพื่อนบ้านก่อนด้วย เพื่อเป็นมารยาทกับเพื่อนบ้านที่ดี และป้องกันการสร้างความเดือดร้อนให้แก่เพื่อนบ้าน
- จุดธูปที่เตรียมไว้ หันหน้าไปทางทิศตะวันตกแล้วจึงบอกกล่าวกับเจ้าที่เจ้าทาง เทวดาอารักษ์ ให้ทราบว่าเราได้มาเป็นเจ้าของใหม่ของบ้าน แล้วจึงขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นปกป้องเรา
พิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่
เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะนับถือพุทธศาสนา ทำให้หลายบ้านนิยมประกอบพิธีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เพื่อเสริมความเป็นสิริมงคล โดยในปัจจุบันคนไทยมักจะทำบุญขึ้นบ้านใหม่แบบง่ายๆ โดยการเชิญพระสงฆ์มาสวดมนต์ ในช่วงเช้า และเลี้ยงฉันเพลที่บ้านก็เพียงพอ
ของที่ต้องเตรียม
- เครื่องรับรองพระสงฆ์ เช่น หมากพลู น้ำร้อน น้ำเย็น กระโถน และอาสน์สงฆ์ พร้อมล้อมสายสิญจน์
- โต๊ะหมู่บูชา พร้อมพุทธรูปและเครื่องบูชา
- สายสิญจน์
- ธูป เทียน
- อุปกรณ์สำหรับการเจิม เช่น ดินสอพอง น้ำอบ ทองคำเปลว และถ้วยสำหรับใส่อุปกรณ์เจิมที่ผสมแล้ว
- อาหารเลี้ยงพระสงฆ์ โดยห้ามถวายอาหารที่มีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นข้อห้ามตามพระธรรมวินัย
ขั้นตอน
- เริ่มจากการติดต่อนิมนต์พระสงฆ์ก่อนจะถึงวันงานสักประมาณ 1-5 วัน บอกรายละเอียดของงานให้ครบ เช่น งานอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ต้องการพระสงฆ์กี่รูป โดยปกติในงานบุญจะนิยมเชิญพระสงฆ์เป็นจำนวนเลขคี่ คือ 5 7 หรือ 9 รูป
- จัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีให้เข้าที่ ทำความสะอาดให้ดี จัดเตรียมโต๊ะหมู่บูชาและเครื่องบูชาให้นั่งหันหน้าในทิศทางเดียวกับพระสงฆ์ บริเวณที่พระสงฆ์จะนั่งสวดมนต์ให้ปูอาสน์สงฆ์ให้เพียงพอ และห่างกันจนสะดวกต่อการเดิน และนั่ง พร้อมกับเตรียมที่ว่างเว้นระยะห่างระหว่างพระสงฆ์กับคนที่จะมาร่วมงาน
- เมื่อพระสงฆ์มาถึงก็ให้เจ้าภาพจุดธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม พร้อมกราบ 3 ครั้ง ที่หน้าพระพุทธรูป จากนั้นก็หันไปกราบพระสงฆ์ 3 ครั้ง แล้วเริ่มพิธี
- หลังทำพิธีเสร็จก็นำอาหารมาถวายพระสงฆ์ และพระพุทธรูป
- หากต้องการให้พระเจิมบ้าน สามารถให้ทำหลังจากที่พระฉันอาหารเรียบร้อย
พิธีเข้าบ้านใหม่แบบไทย
พิธีเข้าบ้านใหม่แบบไทย ก็เป็นอีกหนึ่งพิธีกรรมที่ยังคงมีบางคนทำกันอยู่ แม้จะไม่ได้มีเยอะมากนักก็ตาม โดยจะทำพิธีเพื่อเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นใหม่ รวมถึง ให้ครอบครัวมีกิน และมีใช้
ของที่ต้องเตรียม
- ถุงเงิน ถุงทอง
- เงินเหรียญ 108 บาท
- ธนบัตร 1,900 บาท
- ถังเปล่า 2 ใบ
- ข้าว ถั่ว และเมล็ดงา
- กลีบดอกกุหลาบ กลีบดอกดาวเรือง กลีบดอกรัก และดอกบานไม่รู้โรย
- เครื่องครัว เครื่องประดับ
- ธูป เทียน และพระพุทธรูป
ขั้นตอน
- นำเงินทั้งหมดไปใส่ในถุงเงินที่เตรียมไว้
- พูดเสียงดังทำนองว่ามีเงินเยอะ
- นำถุงเงินและเครื่องประดับไปใส่รวมไว้ในถุงทอง พร้อมนำข้าวและน้ำใส่ลงในถังที่เตรียมไว้จนเต็ม
- นำถั่ว งา และดอกไม้ ไปโรยรวมกันบนถัง
- ทยอยนำของเหล่านี้พร้อมกับเครื่องครัวเข้าบ้าน โดยพยายามอย่าให้ข้าวสาร งา น้ำ และดอกไม้หกเรี่ยราดไปตามทาง และระหว่างนั้นก็คอยพูดแต่สิ่งดีๆ หรือสิ่งที่เป็นมงคล
- อุ้มพระพุทธรูปเดินเข้าบ้านใหม่มา แล้วนำไปวางไว้บนหิ้ง
- จุดธูปบูชา 9 ดอก
- ให้ทุกคนช่วยกันเทข้าวของที่เตรียมมาลงบนที่นอนแล้วนอนลงบนนั้น
- พร้อมกับช่วยกันเก็บเข้ากระเป๋าเสื้อ หรือกระเป๋ากางเกง พร้อมเก็บกวาดให้สะอาดเรียบร้อย
พิธีเข้าบ้านใหม่แบบจีน
พิธีการขึ้นบ้านใหม่อีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นที่นิยมกันก็คือ พิธีเข้าบ้านใหม่แบบจีน ไหว้เจ้าที่ พร้อมหาฤกษ์งานยามดีให้เรียบร้อย จากนั้นก็ให้จัดเตรียมองค์พระ ตี่จู้เอี๊ยะ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เข้าบ้าน พร้อมเตรียมของไหว้ ด้วยผักหรือผลไม้ 5 ชนิดที่แทนธาตุทั้งห้าของจีน
ของที่ต้องเตรียม
- ธาตุดิน: (สีส้ม สีเทา) เช่น ฟักทอง ส้ม
- ธาตุน้ำ: (สีน้ำเงิน สีดำ) เช่น องุ่นดำ สาหร่าย
- ธาตุไม้: (สีเขียว) เช่น ผักใบเขียว มะนาว
- ธาตุไฟ: (สีแดง สีม่วง สีชมพู) เช่น มะเขือเทศ สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล
- ธาตุทองหรือธาตุโลหะ: (สีเหลืองทอง สีขาว) เช่น ข้าว ข้าวโพด กล้วย
ขั้นตอน
- เตรียมของไหว้ต่อเจ้าที่เจ้าทางให้พร้อม
- จุดธูปเทียนไหว้เจ้าที่บ้านใหม่
- จุดเตาแก๊ส สื่อถึงการมีกินมีใช้
- จัดเตียงนอน สื่อถึงความอยู่เย็นเป็นสุข
สรุป
การขึ้นบ้านใหม่นั้นมีพิธีกรรมให้เลือกอย่างหลากหลาย และมีความหมายที่ช่วยส่งเสริมความสบายใจ และการอยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัย ความมั่งคั่ง หรือความสงบ โดยวิธีขึ้นบ้านใหม่ก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง และพิธีขึ้นบ้านใหม่มือหนึ่งและมือสองก็ไม่มีความต่างกัน การเตรียมของทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็ไม่ยากเย็นอะไรมาก หากรู้ล่วงหน้าว่าขึ้นบ้านใหม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง จะช่วยให้การขึ้นบ้านใหม่ไม่ยากอย่างที่ใครๆ อาจเคยกังวล