อยากเริ่มต้นเป็นนายหน้าอสังหาฯ ต้องทำอย่างไรบ้าง

อยากเริ่มต้นเป็นนายหน้าอสังหาฯ ต้องทำอย่างไรบ้าง

21 พ.ย. 2565

ข้อดีข้อเสียของการกู้คอนโดเงินเหลือ
นายหน้าอสังหาฯ จะเข้ามาเป็นตัวแทนในการซื้อขายหรือปล่อยเช่าอสังหาฯ
นายหน้าอสังหาฯ จะเข้ามาเป็นตัวแทนในการซื้อขายหรือปล่อยเช่าอสังหาฯ

นายหน้าอสังหาฯ คืออะไร ?

นายหน้าอสังหา นายหน้าขายบ้าน โบรกเกอร์ขายบ้าน หรือ อาชีพอสังหาริมทรัพย์ คืออะไร ? ต้องบอกว่าตำแหน่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีหน้าที่สำคัญก็คือ การเป็นคนกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือผู้เช่ากับผู้ให้เช่า โดยที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการซื้อขายหรือปล่อยเช่าอสังหาฯ ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเจรจาต่อรองระหว่าง “คู่สัญญา” เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจในข้อตกลงที่ระบุขึ้น โดยนายหน้าอสังหาฯ จะได้รับค่าตอบแทน เมื่อมีการปิดการขายหรือส่งมอบสัญญาเป็นที่สำเร็จแล้วนั่นเอง

นายหน้าอสังหาฯ เปรียบเหมือนตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
นายหน้าอสังหาฯ เปรียบเหมือนตัวกลางประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

หน้าที่ของนายหน้าอสังหาฯ มีอะไรบ้าง ?

จากที่อธิบายถึงหน้าที่ของนายหน้าอสังหาฯ จะพบว่านายหน้าอสังหาฯ นายหน้าขายบ้าน หรือโบรกเกอร์ขายบ้านจะมีหน้าที่เปรียบเสมือนตัวกลางที่คอยช่วยประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือผู้เช่าและผู้ปล่อยเช่า ซึ่งในกรณีที่อยากเป็นนายหน้าอสังหาฯ และอยากรู้ว่าจะต้องมีหน้าที่อะไรบ้างนั้น ในหัวข้อนี้ธนาคารกสิกรไทย จะพาคุณไปทำความรู้จักกับหน้าที่ของนายหน้าอสังหาฯ ว่าแท้จริงแล้วมีขอบเขตหน้าที่เนื้องานประมาณไหน

  • จัดหาทรัพย์หรือผู้ต้องการขายหรือปล่อยเช่า

    โดยทำการรวบรวมข้อมูลทรัพย์ที่มีโอกาสปิดการขายได้ง่าย โดยอาจจะเป็นทรัพย์ของธนาคาร หรือทรัพย์ NPA หรือจะเป็นทรัพย์ที่ฝ่ายที่นายหน้าอสังหาฯ ติดต่อเข้าไปเสนอบริการเป็นนายหน้าให้ หลังจากนั้นก็จัดทำสัญญามอบหมายการเป็นหน้านายเป็นลำดับถัดไป

    สำหรับนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์กับทางธนาคารกสิกรไทย จะมีหน้าที่ช่วยขายทรัพย์สินรอการขายของธนาคาร หรือที่เรียกกันว่า ทรัพย์ NPA

  • จัดหาผู้ต้องการซื้อหรือต้องการเช่า

    ลงประกาศขายหรือปล่อยเช่าผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงและเพิ่มโอกาสในการปิดงาน หากมีผู้สนใจฝั่งนายหน้าอสังหาฯ จะต้องทำการนัดเพื่อชมสถานที่ พร้อมทั้งนำเสนอทรัพย์อื่น ๆ ที่ถืออยู่ ในกรณีที่ผู้ต้องการซื้อหรือต้องการเช่ายังไม่ถูกใจในตัวทรัพย์ หากผู้ต้องการซื้อหรือต้องการเช่ามีความสนใจ ลำดับถัดไปจะเป็นการเจรจาต่อรองราคาระหว่างคู่สัญญาเพื่อหาจุดที่พึงพอใจร่วมกัน หลังจากนั้นจึงเริ่มทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาเช่า

  • จัดบริการทางธุรกรรมให้กับผู้ซื้อหรือผู้เช่า

    โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ซื้อหรือผู้เช่าเพื่อให้กระบวนการต่าง ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็ว เช่น แนะนำสินเชื่อพร้อมทั้งติดต่อประสานงานกับธนาคารเพื่อทำการกู้ยืม รวมถึงช่วยประสานงานด้านงานเอกสารในขั้นตอนการกู้ยืม

  • จัดบริการทางธุรกรรมให้กับผู้ขายหรือผู้ปล่อยเช่า

    โดยการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายหรือผู้ปล่อยเช่า อาทิ คำนวณค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษี ค่าธรรมเนียมการโอน อีกทั้งช่วยประสานงานธุรกรรมต่าง ๆ ที่สำนักงานที่ดินและราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

นายหน้าอสังหาฯ ควรศึกษาช่องทางตลาดและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
นายหน้าอสังหาฯ ควรศึกษาช่องทางตลาดและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

อยากเป็นนายหน้าอสังหาฯ ต้องเริ่มต้นยังไง ?

นายหน้าอสังหาฯ นับเป็นอาชีพที่มีค่าตอบแทนสูง ปัจจุบันการเป็นนายหน้าอสังหาฯ นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนให้ความสนใจ แล้วหากอยากเริ่มต้นเป็นนายหน้าอสังหาฯ จะต้องเริ่มต้นอย่างไร มาหาคำตอบในหัวข้อนี้ไปพร้อมกัน

  • เข้ารับการอบรมเพื่อการได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพ

    ปัจจุบันไม่ว่าคุณจะประกอบวิชาชีพสาขาใดก็ตาม จำเป็นที่จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ นายหน้าอสังหาฯ ก็นับเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่จำเป็นต้องถือใบประกอบวิชาชีพ เพื่อเป็นใบเบิกทางที่จะทำให้นายหน้ามือใหม่ที่ไร้สังกัดหรือนายหน้าอิสระที่ไม่ได้อยู่ในบริษัทหรือสังกัดด้านอสังหาฯ โดยตรงได้รับความน่าเชื่อถือ อีกทั้งเป็นหลักฐานยืนยันอย่างดีว่าคุณนั้นเป็นบุคคลที่มีความรู้และความสามารถในวิชาชีพนี้ นอกจากนั้นการอบรมเพื่อได้มาซึ่งใบประกอบวิชาชีพยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คุณได้สร้างเครือข่ายสำหรับคนในแวดวงเดียวกันและได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมอาชีพอีกด้วย

  • จัดหาทรัพย์ที่ถืออยู่

    การจะได้มาซึ่งค่าตอบแทนนั้นหากยิ่งมีทรัพย์มากเท่าไหร่ โอกาสการซื้อขายก็จะยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น แต่ทั้งนี้จะต้องมีการประมาณว่าทรัพย์ดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากพอที่จะปิดการขายได้

  • จัดการทำธุรกรรมการซื้อขายหรือการเช่ากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    จากที่เกริ่นไปข้างต้นการว่าการเป็นนายหน้าอสังหาฯ นั้นคือการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หรือผู้เช่าและผู้ปล่อยเช่า ดังนั้นธุรกรรมต่าง ๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นธนาคารหรือสำนักงานที่ดินต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเอกสารหรือธุรกรรมการเงินต่าง ๆ ล้วนเป็นหน้าที่ของนายหน้าอสังหาฯ ทั้งสิ้น

  • ศึกษาช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสในการปิดการขาย

    การมีช่องทางการขายที่หลากหลาย นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนเข้าถึงและมองเห็นตัวทรัพย์ที่ต้องการจะขายได้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยที่คนสามารถเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้ง่ายดายนั้น หากมีกลยุทธ์ที่แปลกใหม่ล้วนส่งผลให้เป็นข้อได้เปรียบ อีกทั้งยังสามารถติดต่อกับผู้ที่ต้องการเช่าหรือผู้ซื้อได้ไม่ยาก

  • ศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    เนื่องด้วยอสังหาฯ เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน การรู้ข้อกฎหมายนับเป็นอีกหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้นายหน้าอสังหาฯ ทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นว่านายหน้าอสังหาฯ ยังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

    • นายหน้าอสังหาฯ ฟรีแลนซ์ หรือนายหน้าอสังหาฯอิสระ

      กล่าวคือ นายหน้าประเภทนี้อาจจะถืออาชีพนี้เป็นอาชีพหลักหรืออาชีพรอง แต่นับเป็นการทำงานที่จริงจังโดยที่จะได้รับค่าตอบแทนแบบเต็ม ๆ ไม่ต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับบริษัทเมื่อปิดการขายได้สำเร็จ อีกทั้งยังมีอิสระ ไม่ต้องกังวลกับยอดขาย แต่ทั้งนี้ก็อาจจะขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องด้วยไม่มีสังกัด ต้องรับมือกับปัญหาทุกอย่างเอง ตั้งแต่การแบกรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ โดยไม่มีผู้ให้แนะนำ

    • นายหน้าอสังหาฯ สังกัดบริษัท

      นับเป็นนายหน้าอสังหาฯ มืออาชีพเช่นเดียวกัน แต่จะมีหน้าที่แตกต่างกันบ้าง โดยนายหน้าอสังหาฯ ฟรีแลนซ์จะเป็นผู้ที่ทำทุกอย่างเองไม่ว่าจะเป็นติดต่อผู้ขาย ทำการตลาดหาผู้ซื้อ เจรจาต่อรอง ร่างสัญญา แต่จะต่างกันตรงที่นายหน้าอสังหาฯ ซึ่งสังกัดบริษัทที่จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเนื่องจากอยู่ในนามบริษัท ไม่ต้องกังวลกับค่าทำการตลาด อีกทั้งยังมีเพื่อนร่วมอาชีพและทีมคอยสนับสนุนให้คำปรึกษา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกสิ่งที่มีข้อดีล้วนมีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น มียอดขายและกฎระเบียบที่ชัดเจน หรือมีส่วนแบ่งค่านายหน้าเมื่อมีการปิดการขายได้

ทั้งนี้ การเลือกนายหน้าอสังหาฯ ล้วนขึ้นอยู่กับตัวผู้ซื้อหรือผู้ต้องการเช่า ความสนใจอาจจะมาจากทรัพย์ที่ถืออยู่ หรืออาจจะมาจากการพูดคุยที่ถูกคอ หรือได้มาจากเพื่อนสนิทหรือญาติแนะนำมา ดังนั้นการจะเลือกตัวแทนหรือนายหน้านั้น ก็นับได้ว่าขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคลเลยทีเดียว

ทักษะที่นายหน้าอสังหาฯ ควรมีติดตัวไว้
ทักษะที่นายหน้าอสังหาฯ ควรมีติดตัวไว้

ทักษะที่นายหน้าอสังหาฯ ควรมีติดตัวไว้

ทักษะที่นายหน้าอสังหาฯ ควรมีติดตัวนั้นมีอะไรบ้าง ? มาหาคำตอบได้ในหัวข้อนี้

  • ทักษะในการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบ

    นับเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้น ๆ ที่นายหน้าขายบ้านจำเป็นต้องทำ เนื่องจากการได้มาของทรัพย์นั้นจะต้องมีการเข้าหาเจ้าของอสังหาฯ เพื่อเสนอตัวขอเป็นตัวแทนในการขายหรือปล่อยเช่า เมื่อมีการตกลงกันเรียบร้อยแล้วนายหน้าจะได้ทรัพย์นั้น ๆ มาทำเป็นฐานข้อมูลหรือที่เรียกกันว่า ลิสติ้ง (Listing)

    ในภาษาอสังหาฯ นั้น การทำ Listing มีไว้เพื่อจัดเก็บข้อมูลด้านที่ตั้ง ขนาดห้อง ราคา เงื่อนไขต่าง ๆ ไว้เสนอขายผู้ที่สนใจ ทั้งนี้ควรศึกษาหรือทำ Listing จากทำเลที่คุ้นเคย เพื่อศึกษาข้อดีและข้อเสียของทำเลนั้น ๆ และทำการขยับขยาย Listing ในพื้นที่อื่น ๆ เป็นลำดับถัดไป

  • ทักษะรวบรวมข้อมูล

    นอกจาก Listing ที่ถูกกล่าวถึงเบื้องต้นแล้ว นายหน้าอสังหาฯ ควรทำความเข้าใจข้อมูลหรือทรัพย์ที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบจุดเด่นของแต่ละโครงการ หรือเปรียบเทียบนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (Developer) แต่ละเจ้า ดูข้อดีข้อเสียจากทำเล รวมทั้งติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องเพื่อจับทิศทางการตลาดเพื่อใช้ในการเสนอการขายกับลูกค้าในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะต้องเข้าใจความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่มให้ดี เพราะจะช่วยเพิ่มโอกาสการปิดการขายได้ง่ายยิ่งขึ้น

  • ทักษะการร่างสัญญา

    เพื่อเป็นการยืนยันการว่าจ้างและป้องกันการเอาเปรียบ นายหน้าจำเป็นต้องทำหนังสือสัญญาเก็บไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย หรือสัญญาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีสัญญา 2 ประเภท ได้แก่

    • สัญญาแบบเปิด

      เป็นสัญญาที่เปิดโอกาสให้เจ้าของทรัพย์หรือนายหน้าคนขายทำการขายก็ได้ แค่ค่าตอบแทนที่เกิดขึ้นจะตกเป็นของนายหน้าที่ทำการปิดการขายได้แต่เพียงผู้เดียว และไม่มีกำหนดของระยะเวลาสัญญาจนกว่าจะปิดการขายได้

    • สัญญาแบบปิด

      เป็นสัญญาที่แต่งตั้งให้บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ดูแลเพียงผู้เดียว ถึงแม้จะมีลูกค้าคนอื่นที่สนใจและมีการติดต่อผ่านนายหน้ารายอื่นก็ไม่สามารถปิดการขายได้ แต่ทั้งนี้ตัวสัญญาจะมีการกำหนดระยะเวลาการว่าจ้าง หากไม่สามารถปิดการขายในระยะเวลาที่ระบุไว้ เจ้าของทรัพย์สามารถทำการว่าจ้างนายหน้าเจ้าอื่นได้ต่อไป

  • ทักษะการทำการตลาด

    ปัจจุบันการทำการตลาดนั้นเป็นเรื่องที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย หากนายหน้าคนนั้นมีศักยภาพในการทำการตลาดที่สร้างสรรค์หรือกลยุทธ์ที่แพรวพราวกว่าก็จะยิ่งทำให้ปิดการขายได้เร็วและง่ายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะนายหน้าที่มีเครื่องมือทำการตลาดมากเท่าไหร่ ก็นับเป็นผลดีต่อตัวนายหน้าเองมากเท่านั้น เพราะนอกจากจะเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเพิ่มช่องทางการติดต่อให้กับผู้สนใจได้อีกเช่นกัน

  • ทักษะข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

    อย่างที่เกริ่นไว้ในเบื้องต้น นายหน้าอสังหาฯ เองก็จำเป็นต้องรู้ข้อกฎหมายที่จำเป็นต่อสายงานของต้น โดยข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่นายหน้าขายบ้านต้องรู้นั้น จะมีการขยายความเพิ่มเติมในหัวข้อต่อไป

ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชีพอสังหาริมทรัพย์ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 16 นายหน้า มาตรา 845-849
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชีพอสังหาริมทรัพย์ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 16 นายหน้า มาตรา 845-849

กฎหมายที่นายหน้าอสังหาฯ ควรรู้ไว้ มีอะไรบ้าง ?

มาถึงข้อกฎหมายที่นายหน้าอสังหาฯ ต้องรู้ติดตัวและเข้าใจอย่างละเอียด โดยข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอาชีพอสังหาริมทรัพย์ คือ “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” หรือ ป.พ.พ. บรรพ 3 เอกเทศสัญญาลักษณะ 16 นายหน้า มาตรา 845-849 ซึ่งจะมีรายละเอียดของเนื้อความ ดังนี้

  • ป.พ.พ มาตรา 845

    “บุคคลผู้ใดตกลงจะให้ค่าบำเหน็จแก่นายหน้าเพื่อที่ชี้ช่องให้ได้เข้าทำสัญญาก็ดี จัดการให้ได้ทำสัญญากันก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จก็ต่อเมื่อสัญญานั้นได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่นายหน้าได้ชี้ช่องหรือจัดการนั้น ถ้าสัญญาที่ได้ทำกันไว้นั้นมีเงื่อนไขเป็นเงื่อนบังคับก่อนไซร้ ท่านว่าจะเรียกร้องบำเหน็จค่านายหน้ายังหาได้ไม่จนกว่าเงื่อนไขนั้นสำเร็จแล้ว นายหน้ามีสิทธิจะได้รับชดได้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปก็ต่อเมื่อได้ตกลงกันไว้เช่นนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้บังคับแม้ถึงว่าสัญญาจะมิได้ทำกันสำเร็จ”

  • ป.พ.พ มาตรา 846

    “ถ้ากิจการอันได้มอบหมายแก่นายหน้านั้น โดยพฤติการณ์เป็นที่คาดหมายได้ว่าย่อมทำให้แต่เพื่อจะเอาค่าบำเหน็จไซร้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันโดยปริยายว่ามีค่าบำเหน็จนายหน้า ค่าบำเหน็จนั้นถ้ามิได้กำหนดจำนวนกันไว้ ท่านให้ถือว่าได้ตกลงกันเป็นจำนวนตามธรรมเนียม”

  • ป.พ.พ มาตรา 847

    “ถ้านายหน้าทำการให้แก่บุคคลภายนอกด้วยก็ดี หรือ ได้รับคำมั่นแต่บุคคลภายนอกเช่นนั้นว่าจะให้ค่าบำเหน็จอันไม่ควรแก่นายหน้าผู้กระทำการโดยสุจริตก็ดี เป็นการฝ่าฝืนต่อการที่ตนเข้ารับทำหน้าที่ไซร้ ท่านว่านายหน้าหามีสิทธิจะได้รับค่าบำเหน็จ หรือรับชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปไม่”

  • ป.พ.พ มาตรา 848

    “ตัวนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญา ซึ่งได้ทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ เว้นแต่จะมิได้บอกชื่อของฝ่ายหนึ่ง ให้รู้ถึงอีกฝ่ายหนึ่ง”

  • ป.พ.พ มาตรา 849

    “การรับเงินหรือรับชำระหนี้อันจะพึงชำระตามสัญญานั้นท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า นายหน้าย่อมไม่มีอำนาจที่จะรับแทน ผู้เป็นคู่สัญญา”

นายหน้าอสังหาฯ ใต้สังกัดธนาคารกสิกรไทย สามารถสมัครได้ง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอน
นายหน้าอสังหาฯ ใต้สังกัดธนาคารกสิกรไทย สามารถสมัครได้ง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอน

แนะนำวิธีการสมัครเป็นนายหน้าของกสิกรแบบง่าย ๆ แค่ 3 ขั้นตอน

สำหรับนายหน้าอสังหาฯ มือใหม่ท่านใดต้องการเป็นส่วนหนึ่งหรือทำงานภายใต้สังกัด ให้ธนาคารกสิกรไทยได้เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกของท่าน เพราะธนาคารได้รวบรวมตัวทรัพย์ที่มีศักยภาพ และยังมีเพื่อนร่วมวิชาชีพที่จะคอยช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติม รวมถึง ยังได้รับค่าตอบแทนจากการดำเนินการขายทรัพย์สิน NPA ของธนาคาร หลังจากโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว โดยค่าตอบแทนจะคำนวณจากราคาสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

ถ้าหากท่านมีคุณสมบัติ ดังนี้

  • ไม่มีประวัติเป็น NPL ทุกสถาบันการเงิน
  • ไม่มีรายชื่อใน UN Thailand และ Sanction List
  • ไม่มีประวัติถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือล้มละลาย
  • ไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับพนักงาน กรรมการ และผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร

สามารถสมัครง่าย ๆ เพียง 3 ขั้นตอน ดังนี้

ดาวน์โหลด และกรอกใบสมัคร

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียด หรือดาวน์โหลดใบสมัครได้เลย

เตรียมเอกสารให้พร้อม

เอกสารที่จำเป็นต้องการสมัคร มีดังต่อไปนี้

  1. หนังสือรับรองบริษัท
  2. ใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท (ภพ.20)
  3. หน้าสมุดบัญชีธนาคารกสิกรไทยของบริษัท (สำหรับการจ่ายค่าตอบแทน)
  4. รายงานข้อมูลเครดิตของบริษัท และกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกท่าน (Credit Bureau)
  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ของกรรมการผู้มีอำนาจลงนามทุกท่าน

และส่งอีเมลล์มาที่ k-property.brokers@kasikornbank.com

รอผลการตรวจสอบคุณสมบัติ

ธนาคารจะตรวจสอบคุณสมบัติ และแจ้งผลกลับภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่ได้รับข้อมูลและเอกสารประกอบการสมัครครบถ้วน ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่ K-Contact Center โทร. 02-888-8888 กด 04

ทางธนาคารกสิกรไทย หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจจะประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาฯ อีกทั้งยังช่วยคลายข้อสงสัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ขอบเขต หน้าที่หรือเนื้องานของการเป็นนายหน้าอสังหาฯ ทักษะใดที่จำเป็นต้องมีติดตัวเพื่อปิดการขายได้อย่างมืออาชีพ ข้อกฎหมายไหนที่ควรรูู้ อีกทั้งทางธนาคารกสิกรไทย ยังมองหานายหน้าอสังหาฯ หากสนใจสามารถสมัครโดยตรงได้เลยที่ K-Property Broker