รังวัดที่ดิน คืออะไร
การรังวัดที่ดิน คือ การให้เจ้าหน้าที่จากกรมที่ดินทำการรังวัดปักเขตที่ดิน
ตรวจสอบหลักเขตที่ดินและเนื้อที่ของที่ดินนั้น เพื่อให้ทราบถึง ที่ตั้งแนวเขตที่ดิน
ที่ตั้งของที่ดินและเนื้อที่ของที่ดินที่แน่นอน การรังวัดที่ดินเป็นสิ่งที่เจ้าของที่ดินควรทำทุกๆ 10 ปี
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการหาหลักเขตไม่เจอแล้วกลายเป็นว่ารังวัดที่ดินไม่ตรงกับโฉนดทำให้ต้องสูญเสียที่ดินบางส่วนไป
ส่วนการรังวัดที่ดินออนไลน์ คือบริการจองคิวสำหรับรังวัดที่ดินออนไลน์ผ่าน Application
“e-QLands” ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยกรมที่ดิน
เป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ขอยื่นรังวัดสามารถขอรังวัดที่ดินออนไลน์ รวมถึงจองคิวโอนที่ดินออนไลน์
จองคิวโอนที่ดินข้ามเขตผ่าน Application ได้เลย โดยไม่ต้องไปที่กรมที่ดินด้วยตัวเอง ช่วยให้สะดวก
รวดเร็ว ในปัจจุบันให้บริการเฉพาะสำนักงานที่ดินในกรุงเทพมหานคร 17 แห่ง ได้แก่
- สาขากรุงเทพมหานคร
- สาขาบางเขน
- สาขาพระโขนง
- สาขาบางกะปิ
- สาขามีนบุรี
- สาขาบางขุนเทียน
- สาขาบางกอกน้อย
- สาขาธนบุรี
- สาขาห้วยขวาง
- สาขาหนองแขม
- สาขาลาดพร้าว
- สาขาดอนเมือง
- สาขาประเวศ
- สาขาบึงกุ่ม
- สาขาหนองจอก
- สาขาลาดกระบังและสาขาจตุจักร
ประเภทของรังวัดที่ดิน
การรังวัดที่ดินแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน โดยแบ่งตามการยื่นคำขอในการรังวัดที่ดิน
ได้แก่ รังวัดเพื่อตรวจสอบเนื้อที่ดินเดิมกับโฉนด
รังวัดเพื่อแบ่งแยกที่ดินแปลงย่อยจากที่ดินผืนใหญ่และรังวัดเพื่อรวมที่ดินใหม่กับที่ดินเดิมเป็นโฉนดแผ่นเดียวกัน
ซึ่งแต่ละประเภทมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
การรังวัดสอบเขต
เป็นการรังวัดที่ดินเพื่อตรวจสอบว่าเนื้อที่ดินทั้งหมดตรงกับเนื้อที่ดินในโฉนดหรือไม่และเป็นการรังวัดในกรณีที่หมุดปักบอกอาณาเขตสูญหาย
เจ้าของที่ดินจะต้องดำเนินการยื่นคำขอรังวัด สอบเขตที่ดินจากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินใหม่อีกครั้ง
เพื่อปักหมุดใหม่และดำเนินการแก้ไขรายละเอียดในโฉนดให้ถูกต้องตามเนื้อที่ดินจริง
การรังวัดแบ่งแยก
เป็นการรังวัดที่ดินสำหรับแปลงที่ดินขนาดใหญ่แต่ต้องการแบ่งแยกที่ดินนั้นออกเป็นหลายๆ
แปลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลการแบ่งขายหรือแบ่งที่ดินเพื่อมอบเป็นมรดกก็ตาม
เจ้าของที่ดินจำเป็นต้องยื่นคำขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินเพื่อทำการออกโฉนดที่ดินที่ได้แบ่งแปลงใหม่ต่อไปให้กับเจ้าของที่ดิน
การรังวัดแบ่งแยก
เป็นการรังวัดที่ดินสำหรับกรณีที่เจ้าของที่ดินได้ทำการซื้อที่ดินแปลงใหม่ติดกับที่ดินแปลงเดิม
ต้องการรวมโฉนดของที่ดินทั้ง 2 ไว้ในโฉนดเดียวกัน
จะต้องยื่นคำขอรังวัดแบบรวมโฉนดกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินใหม่อีกครั้ง
เพื่อทำการออกโฉนดแบบรวมใหม่ต่อไปให้กับเจ้าของที่ดิน
รังวัดที่ดิน สำคัญอย่างไร
การรังวัดที่ดินคือสิ่งที่เจ้าของที่ดินควรทำทุกๆ 10 ปี
ไม่เพียงแต่ทำให้รู้ถึงหมุดเขตความถูกต้องของอาณาเขตที่ดินจริง
ป้องกันการรังวัดที่ดินไม่ตรงโฉนดเมื่อต้องทำการซื้อ-ขายที่ดินเท่านั้น แต่การรังวัดที่ดินทุกๆ 10
ปียังเป็นการช่วยป้องกันการแอบอ้างครองปรปักษ์ที่ดินและตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของที่ดินได้อีกด้วย
ที่สำคัญสำหรับใครที่กำลังจะสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองหรือที่ดินที่เพิ่งซื้อมาใหม่
การรังวัดที่ดินยังช่วยบอกขอบเขตพื้นที่ที่ดิน
เพื่อช่วยให้สถาปนิกวางแผนออกแบบตัวบ้านและเว้นระยะห่างของบ้านจากขอบเขตที่ดินได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
สรุปความสำคัญของการรังวัดที่ดินได้ดังนี้
- ป้องกันการโดนแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การรุกล้ำที่ดินจากผู้ไม่หวังดี
- ป้องกันการเหลื่อมล้ำที่ดินจากพื้นที่สาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ธรรมชาติ เช่น คลอง ลำธาร ห้วย
ซึ่งอาจกัดเซาะพื้นที่ดินไปตามกาลเวลาโดยที่เจ้าของที่ดินไม่รู้ตัว
- เพื่อให้ทราบถึงแนวเขตที่ดินที่ได้ครอบครองใหม่ที่ถูกต้อง
- ป้องกันการรังวัดที่ดินไม่ตรงโฉนด พื้นที่ที่ดินจริงอาจเกินหรือขาดจากที่ระบุในโฉนด
รังวัดที่ดินต้องเตรียมตัวอย่างไร
อยากรังวัดที่ดินต้องเตรียมตัวอย่างไร
นี่คือสิ่งที่เจ้าของที่ดินควรรู้และเข้าใจในที่ดินผืนที่ได้ถือกรรมสิทธิ์อย่างถูกต้องตามกฎหมายก่อนทำการยื่นขอรังวัดที่ดินกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน
สิ่งที่เจ้าของที่ดินต้องรู้และเตรียมตัวมีดังนี้
- สภาพที่ดินที่ครอบครองเป็นอย่างไร เป็นที่ดินเปล่า ที่นา ที่สวน ที่ไร่ เทือกเขา เกาะ
หรือเป็นที่อยู่อาศัยแบบใด
- ที่ดินผืนที่ครอบครองตั้งอยู่ที่ไหน จังหวัดอะไร ตำบลอะไร อำเภออะไร หมู่ที่เท่าไหร่
- ที่ดินผืนที่ครอบครองนั้นมีหลักฐานอะไร ให้เตรียมไว้ให้พร้อม เช่น โฉนดที่ดิน น.ส.3 น.ส.3 ก. น.ส.3
จ.
- ที่ดินข้างเคียงใครคือผู้ที่ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง
เพราะเจ้าของที่ดินข้างเคียงจะต้องมาลงนามรับทราบและตกลงแนวรังวัดใหม่
หากในกรณีที่เจ้าของที่ดินข้างเคียงไม่ตกลงแนวเขตที่ดินที่วัดใหม่ สามารถไปแจ้งคู่กรณีได้ใน 90
วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง
- ที่ดินข้างเคียงเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ คืออะไร เช่น ถนน คลอง ลำธาร ห้วย
ยื่นขอรังวัดที่ดินได้ที่ไหน
การยื่นขอรังวัดที่ดินสามารถทำได้ 3 ที่ด้วยกัน ได้แก่ สำนักงานที่ดินจังหวัด
สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาและสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่หรือจองคิวรังวัดที่ดินออนไลน์ได้
เฉพาะ 17 พื้นที่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น
โดยการขอโฉนดที่ดินและหนังสือรับรองการทำประโยชน์สามารถยื่นขอได้ดังต่อไปนี้
- โฉนดที่ดิน
ติดต่อยื่นคำขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินผืนนั้นตั้งอยู่
- หนังสือรับรองการทำผลประโยชน์
ติดต่อยื่นคำขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินผืนนั้นตั้งอยู่
แต่หากอำเภอนั้นได้มีการยกเลิกอำนาจ
ให้ไปติดต่อยื่นขอได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่
หลักฐานประกอบการขอรังวัด
ก่อนที่จะดำเนินการไปยื่นคำขอรังวัดที่ดินที่สำนักงานที่ดินจะต้องเตรียมเอกสารและหลักฐานประกอบการขอรังวัดให้ครบถ้วน
โดยต้องเป็นเอกสารฉบับจริง ในกรณีที่เอกสารหลักฐานประกอบการขอรังวัด เช่น โฉนดที่ดิน
ติดภาระผูกพันกับสถาบันการเงินหรือกับบุคคลอื่นจะต้องทำหนังสือยินยอมเพื่อให้ทำการรังวัดก่อนให้เรียบร้อยก่อนมายื่นคำขอรังวัดที่สำนักงานที่ดิน
เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาและสามารถดำเนินการรังวัดที่ดินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ไม่ล่าช้ากับการรอเอกสารหลักฐานบางส่วน
โดยหลักฐานสำคัญที่ต้องมีเพื่อประกอบการรังวัดที่ดินที่เจ้าของที่ดินจะต้องเตรียมให้พร้อมมีดังนี้
- เอกสารส่วนตัวเจ้าของที่ดิน
- บัตรประจำตัวประชาชน
- เอกสารทะเบียนบ้าน
- เอกสารทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล (ถ้ามี)
- เอกสารหลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
- โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- หลักฐานประกอบการขอรังวัดรวมโฉนดที่ดิน
- โฉนดที่ดินที่จะขอรวม ต้องมีลักษณะดังนี้
- ต้องเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ประเภทเดียวกันทั้งหมด ยกเว้นโฉนดแผนที่
กับโฉนดที่ดินให้สามารถใช้รวมกันได้
- ต้องมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินในโฉนดที่ดินเหมือนกันทุกฉบับและต้องยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
- ต้องเป็นที่ดินติดต่อผืนเดียวกัน
ตั้งอยู่ในจังหวัดและสำนักงานที่ดินเดียวกันเท่านั้น
ขั้นตอนการขอรังวัดที่ดิน แบ่งแยก รวม สอบเขตที่ดิน
หลังจากเตรียมเอกสารหลักฐานประกอบการขอรังวัดครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว
เจ้าของที่ดินต้องมาทำความเข้าใจกับขั้นตอนในการขอรังวัดที่ดินทั้ง 3 ประเภท ได้แก่
การขอรังวัดที่ดินแบบแบ่งแยก การขอรังวัดที่ดินรวมและการรังวัดเพื่อสอบเขตที่ดิน
ซึ่งมีขั้นตอนที่คล้ายกัน ดังนี้
- ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัด
สำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาหรือสำนักงานที่ดินอำเภอที่ที่ดินนั้นตั้งอยู่แล้วขอรับบัตรคิวจากประชาสัมพันธ์
- เจ้าของที่ดินรับคำขอสอบสวนและชำระเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
- เจ้าของที่ดินส่งเอกสารหลักฐานให้ฝ่ายรังวัดดำเนินการ นัดวันที่จะรังวัด กำหนดตัวช่างรังวัด
กำหนดเงินมัดจำรังวัด
- ค้นหารายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเคียงและพิมพ์หนังสือแจ้งเจ้าของที่ดินข้างเคียง
- รับหนังสือแจ้งที่ดินข้างเคียง วางเงินมัดจำรังวัดและรับหลักเขตที่ดิน
- ช่างรังวัดออกไปทำการรังวัดตามวันและเวลาที่นัดไว้
- คำนวณเนื้อที่และเขียนรูปแผนที่ในโฉนดที่ดิน
- ส่งเรื่องรังวัดคืนฝ่ายทะเบียน จากนั้นเรียกผู้ขอรังวัดมาจดทะเบียน
- สอบสวนจดทะเบียนแบ่งแยก
- ตรวจอายัด
- ชำระเงินค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและค่าโฉนด
- แก้รายการทะเบียนและจดทะเบียนแบ่งแยก
- สร้างโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (กรณีรังวัดแบ่งแยกที่ดิน)
- เสนอเจ้าพนักงานที่ดินลงนามและประทับตรา
- แจกโฉนดที่ดินแปลงแบ่งแยก (กรณีรังวัดแบ่งแยกที่ดิน)
ขั้นตอนการขอรังวัดที่ดิน แบ่งแยกตรวจสอบเนื้อที่ และรวมหนังสือรับรองการทำประโยชน์
สำหรับขั้นตอนการขอรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยก
ตรวจสอบเนื้อที่และรวมหนังสือรับรองการทำผลประโยชน์ มีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้
- เจ้าของที่ดินนำหนังสือรับรองการทำประโยชน์และเอกสารต่างๆ ไปยื่นคำขอที่สำนักงานที่ดิน
- เจ้าของที่ดินรับคำขอสอบสวนและชำระเงินค่าธรรมเนียมคำขอ
- เจ้าของที่ดินให้ถ้อยคำในการนัดรังวัดที่ดิน เพื่อเป้าหมายต่อไปนี้
- กำหนดวันที่ทำการรังวัด
- กำหนดค่าใช้จ่ายในการรังวัด
- กำหนดเจ้าหน้าที่รังวัดและสถานที่นัดพบ
- เจ้าของที่ดินหรือผู้ได้รับมอบอำนาจไปรับเจ้าหน้าที่เพื่อไปทำการรังวัดและปักหลักเขตที่ดิน
จนเสร็จสิ้นกระบวนการรังวัด
- เจ้าของที่ดินลงนามในเอกสารต่าง ๆ
- เจ้าของที่ดินรอรับหนังสือแจ้งให้ไปดำเนินการจดทะเบียน
ค่ารังวัดที่ดิน
ก่อนทำการรังวัดที่ดินเจ้าของที่ดินจะต้องทราบถึงค่าใช้จ่ายก่อนว่าการรังวัดที่ดินราคาเท่าไหร่
โดยมีค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมส่วนไหนบ้างที่ต้องชำระ
โดยที่เจ้าของที่ดินจะต้องเป็นฝ่ายชำระค่ารังวัดที่ดินส่วนนี้เองทั้งหมด
ไม่ว่าจะทำการรังวัดที่ดินเพื่อขายหรือมอบเป็นมรดกก็ตาม
- ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรังวัดหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดิน
- ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- สำหรับที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- สำหรับที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน
(เศษเกินของจำนวนไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่) คิดค่าธรรมเนียมไร่ละ 2 บาท
- ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- กรณีคิดเป็นรายแปลง คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- กรณีคิดเป็นรายวัน คิดค่าธรรมเนียมวันละ 30 บาท
- ค่าจำลองแผนที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าคำนวณเนื้อที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าจับระยะ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 10 บาท
- ค่าธรรมเนียมออกโฉนดที่ดิน
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 50 บาท
- ที่ดินเนื้อที่เกิน 20 ไร่ ส่วนที่เกิน (เศษของไร่ให้คิดเป็นหนึ่งไร่)
คิดค่าธรรมเนียมไร่ละ 2 บาท
- ค่าธรรมเนียมรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
- กรณีเรียกเก็บเป็นรายแปลง คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 40 บาท
- กรณีเรียกเก็บเป็นรายวัน คิดค่าธรรมเนียมวันละ 40 บาท
- ค่าจำลองแผนที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าคำนวณเนื้อที่ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 30 บาท
- ค่าจับระยะ แปลงละ 10 บาท
- ค่าธรรมเนียมเบ็ดเตล็ด
- ค่าคำขอ คิดแปลงละ 5 บาท
- ค่ามอบอำนาจ คิดเรื่องละ 20 บาท
- ค่าปิดประกาศ คิดแปลงละ 10 บาท
- ค่าพยานให้แก่พยาน คิดคนละ 10 บาท
- ค่าหลักเขต คิดหลักละ 15 บาท
- ค่าใช้จ่ายการรังวัดที่เกี่ยวกับโฉนดที่ดินหรือการตรวจสอบเนื้อที่เกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- ค่าพาหนะเดินทางให้แก่เจ้าพนักงาน
พนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานจ้างเพื่อไปทำการรังวัดหรือวันละไม่เกิน 1,600 บาท
- ค่าเบี้ยเลี้ยงให้แก่เจ้าพนักงาน
พนักงานเจ้าหน้าที่และค่าจ้างคนงานที่จ้างไปทำการรังวัด
ให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายในระเบียบกระทรวงมหาดไทย ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
- ค่าป่วยการให้แก่เจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ หรือผู้แทนที่ไปในการรังวัด
ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทย ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง วันละ 50
บาท
- ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ในการรังวัดให้จ่ายในลักษณะเหมาจ่ายตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
เรื่องละ 100 บาท
- การคิดค่าใช้จ่ายรังวัดที่ดิน
ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินส่วนนี้ผู้ขอหรือเจ้าของที่ดินจะต้องชำระตามกฎหมายกฎกระทรวง ฉบับที่ 47
และ 48
ออกตามความในพระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497
- ค่าธรรมเนียมรังวัด
- โฉนดที่ดิน คิดเป็นต่อแปลง/วัน/ละ 40 บาท
- หนังสือรับรองการทำประโยชน์ คิดเป็นต่อแปลง/วัน/ละ 30 บาท
- ค่าหลักเขตที่ดิน
- คิดค่าหลักเขตละ 15 บาท (จะคิดตามจำนวนที่ใช้จริง)
- ค่าใช้จ่ายในการรังวัดลักษณะของการเหมาจ่าย
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าส่งจดหมายข้างเคียงทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 200 บาท
- ค่าป่วยการเจ้าพนักงานผู้ปกครองท้องที่ ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง
- ค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด คิดเหมาจ่ายวันละไม่เกิน 1,600 บาท
- ค่าคนงานรังวัด คิดเป็นต่อคน/วัน 420 บาท
(ค่าธรรมเนียมตามเขตจังหวัดที่กระทรวงการคลังกำหนด)
สำหรับการกำหนดวันทำการรังวัดตามค่าพาหนะพนักงานเจ้าหน้าที่และคนงานรังวัด
และค่าคนงานรังวัด ค่าธรรมเนียมเหมาจ่ายแบบกำหนดตามจำนวนเนื้อที่ มีรายละเอียดดังนี้
การรังวัดเกี่ยวกับโฉนดที่ดิน
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 5 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 3,480 บาท
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 15 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 6,760 บาท
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 30 ไร่ เวลาทำการ 3 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 10,040 บาท
- ที่ดินเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 4 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 13,320 บาท
การรังวัดเกี่ยวกับหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- เนื้อที่ไม่เกิน 20 ไร่ เวลาทำการ 1 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 2,640 บาท
- เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ เวลาทำการ 2 วัน ค่าใช้จ่ายจะเรียกได้ไม่เกิน 5,080 บาท
ข้อควรรู้/เงื่อนไข เกี่ยวกับวันทำการรังวัด
- หากกรณีที่ดินมีเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ทุกๆ 50 ไร่ หรือมีเศษเกินกว่า 25 ไร่
ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีที่ดินที่ต้องทำการรังวัดตั้งอยู่ในพื้นที่องค์กรปกครองพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา
เทศบาลนคร เทศบาลเมืองหรือพื้นที่สวนไม้ยืนต้นให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- หากกรณีทำการรังวัดต้องคำนวณจำกัดเนื้อที่ ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีการรังวัดที่ดินแล้วมีที่ดินข้างเคียงหลายแปลงทุกๆ ข้างเคียง 30 แปลงหรือเศษจำนวนเกินกว่า 15
แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1 วัน
- กรณีการรังวัดแบ่งแยกจัดสรรทุกๆ 8 แปลงหรือมีจำนวนเศษเกินกว่า 4 แปลง ให้เพิ่มวันทำการรังวัดอีก 1
วัน
- กรณีมีที่ดินเนื้อที่เกิน 50 ไร่ มีเศษเกิน 25
ไร่และที่ดินตั้งอยู่ในพื้นที่ปกครองพิเศษหรือพื้นที่สวนไม้ยืนต้น
ให้เพิ่มวันทำการรังวัดได้ในกรณีใดกรณีหนึ่งเท่านั้น
การรังวัดที่ดินคือการตรวจสอบพื้นที่ที่ดินจริงว่าตรงกับรายละเอียดที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินหรือไม่
การรังวัดที่ดินมีความสำคัญอย่างยิ่งในการซื้อ-ขายที่ดิน
เป็นการตรวจสอบว่าที่ดินนั้นมีพื้นที่และขอบเขตถูกต้องตามที่ระบุในโฉนดที่ดิน
รวมถึงป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ดินจากบุคคลอื่นด้วย
สำหรับขั้นตอนการขอรังวัดที่ดินนั้นมีขั้นตอนรายละเอียดที่ต้องทำความเข้าใจอยู่พอสมควร
โดยมีหลักฐานสำคัญที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือ
เอกสารข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของที่ดินและหลักฐานโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
หากมีการเตรียมเอกสารและหลักฐานพร้อม เข้าใจในค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินทั้งหมดแล้ว
สามารถไปยื่นขอรังวัดที่ดินได้ที่สำนักงานที่ดินจังหวัดหรือจะยื่นรังวัดที่ดินออนไลน์สำหรับพื้นที่ในจังหวัดกรุงเทพมหานครทั้ง
17 เขต จะช่วยให้การยื่นคำขอรังวัดที่ดินสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
ซึ่งสำหรับใครที่มองหาที่ดินเพื่อซื้อไว้สำหรับสร้างบ้าน แต่ไม่อยากตรวจสอบการรังวัดที่ดินเองให้ยุ่งยาก
อยากได้ที่ดินเปล่าสวยๆ โดยไม่ต้องใช้เวลารังวัดนาน ทางธนาคารกสิกรไทยมีที่ดินมือสองทั้งผืนเล็ก
ผืนใหญ่ ที่สำคัญมีทำเลดีๆ ให้เลือกมากมาย สามารถเลือกดูตามความต้องการของคุณได้เลย