นโยบายด้านภาษีของธนาคาร


นโยบายด้านภาษีของธนาคาร
ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่
ธนาคารมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบด้านภาษีต่อผู้มีส่วนได้เสียเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้หลักความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่หลีกเลี่ยงภาษี และปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยหลักธรรมาภิบาลที่ดีตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ธนาคารได้กำหนดกรอบการควบคุมด้านภาษี (Tax Control Framework) โดยยึดถือตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงของธนาคารซึ่งสอดคล้องกับหลักการที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีการกำกับดูแลและควบคุมความเสี่ยงด้านภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารเปิดเผยข้อมูลนโยบายด้านภาษีอย่างโปร่งใสเพื่อสร้างความเข้าใจ และความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของทางการอย่างครบถ้วน ถูกต้อง


จรรยาบรรณด้านภาษี

  • การปฏิบัติตามกฎหมาย
    ธนาคารยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมาย เจตนารมณ์และลายลักษณ์อักษรของกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายและหรือข้อบังคับในการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินและภาษีต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงต่อสาธารณะ
  • ความรับผิดชอบด้านภาษี
    ธนาคารมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียของธนาคาร ด้วยการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยยึดมั่นในหลักความซื่อสัตย์ โปร่งใส ไม่หลีกเลี่ยงภาษี ด้วยการจัดให้มีระบบภาษีและการปฏิบัติงานด้านภาษีที่ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย และใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ทางธุรกิจที่วางไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ถือหุ้น
  • การชำระภาษีและโครงสร้างทางภาษี
    ธนาคารชำระภาษีอย่างถูกต้องและสอดคล้องกับมูลค่าที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมตามปกติในแต่ละประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจโดยไม่โยกย้ายมูลค่าที่เกิดขึ้นไปยังประเทศที่เสียภาษีในอัตราต่ำกว่า และไม่ใช้โครงสร้างภาษีที่สร้างขึ้นโดยปราศจากการประกอบธุรกิจอย่างแท้จริงอันจะก่อให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษี รวมทั้งธนาคารไม่มีนโยบายในการใช้ดินแดนที่ไม่เปิดเผยข้อมูล (Tax Havens) สำหรับการหลีกเลี่ยงภาษี แต่อาจใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการระดมทุนและจัดหาสภาพคล่องให้กับธนาคาร เพิ่มความหลากหลายและลดการกระจุกตัวของแหล่งเงินทุน ซึ่งธนาคารมีนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการด้านการเงินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนดกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการประกอบกิจการของสาขาในต่างประเทศ ธนาคารได้เสียภาษีตามกฎหมายในประเทศนั้นๆ รวมทั้งได้นำรายได้และรายจ่ายที่เกิดจากการประกอบกิจการทั้งในและต่างประเทศมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายในประเทศไทยด้วย
  • การกำหนดราคาโอน
    ธนาคารกำหนดให้ใช้หลักการเปรียบเทียบระหว่างราคาโอนกับราคาพึงซื้อขายโดยสุจริต (Arm’s Length Price) ในการคิดราคาระหว่างกันสำหรับรายการทางธุรกิจระหว่างธนาคารกับกิจการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อให้การรับรู้รายได้และรายจ่ายที่ใช้เป็นฐานในการเสียภาษีเป็นไปตามกฎหมาย
  • การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี
    ธนาคารใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentives) อย่างถูกต้องตามกฎหมายและเต็มประสิทธิภาพภายใต้การประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืนและเหมาะสม สอดคล้องกับหลักการสร้างประสิทธิภาพของระบบภาษีตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอาจครอบคลุมถึงมาตรการยกเว้นภาษีในบางช่วงเวลา หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้นโยบายภาษีของประเทศหรือแต่ละท้องถิ่น และใช้กับธุรกิจที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  • ความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐ
    ในด้านความสัมพันธ์กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลภาษี ธนาคารเคารพสิทธิของรัฐบาลในการกำหนดโครงสร้างภาษี อัตราภาษี และกลไกการจัดเก็บภาษีสำหรับประเทศนั้น ๆ ซึ่งธนาคารมีการติดต่อกับหน่วยงานที่กำกับดูแลภาษีอย่างเปิดเผยและสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันให้มีความเป็นมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ
  • จรรยาบรรณของพนักงาน
    พนักงานต้องปฏิบัติตาม “จรรยาบรรณของพนักงาน” อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านภาษีอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อธนาคา

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษี

ธนาคารมุ่งเสริมสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร (Risk Culture) โดยเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดยุทธศาสตร์และการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อให้ธุรกิจเติบโตและสร้างผลตอบแทนอย่างมั่นคงในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน

การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษีของธนาคาร ประกอบด้วย
1. กรอบการควบคุมด้านภาษี (Tax Control Framework) ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับในระดับสากล และ
2. การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านภาษีซึ่งกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจน

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการความเสี่ยงและการควบคุมความเสี่ยงด้านภาษีที่มีประสิทธิผล เหมาะสมกับสถานการณ์ ส่งเสริมให้การปฏิบัติงานภายในธนาคารมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส และเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารได้ปฏิบัติตามกฏหมายและระเบียบข้อบังคับทางด้านภาษีในแต่ละประเทศที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง

1. กรอบการควบคุมด้านภาษีของธนาคาร (Tax Control Framework) ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ดังต่อไปนี้

    

หลักการควบคุมภายในสำหรับความเสี่ยงด้านภาษี
ธนาคารกำหนดหลักการควบคุมภายในสำหรับความเสี่ยงด้านภาษี ดังนี้

1.1 การจัดให้มีสภาพแวดล้อมการควบคุมที่เหมาะสม โดยธนาคารมีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบและสายการรายงานอย่างชัดเจนสำหรับทุกฝ่ายงานที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องทางด้านภาษี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการควบคุมภายในที่ดี

ธนาคารได้มีการกำหนด “ระเบียบปฏิบัติการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์” (Product Management Framework: PMF) เพื่อให้การบริหารจัดการผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกฎหมายด้านภาษีอากร พร้อมทั้งกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานและการดำเนินการด้านภาษีแต่ละประเภทเพื่อให้ทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องทราบและปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารของธนาคาร

ทั้งนี้ ธนาคารได้มีการประกาศ “นโยบายการบริหารความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานที่ผิดไปจากระเบียบปฏิบัติ ข้อกำหนด จรรยาบรรณ” (Conduct Risk Management Policy) ซึ่งกำหนดให้พนักงานทุกระดับ และทุกฝ่ายงานตระหนักถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบ และช่วยกันกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติงานตามระเบียบที่กำหนดเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่มีต่อธนาคาร

1.2 การประเมินและควบคุมความเสี่ยงด้านภาษี ประกอบด้วย

  • การระบุความเสี่ยงด้านภาษี ธนาคารกำหนดให้หน่วยธุรกิจมีหน้าที่ระบุกิจกรรมหรือกระบวนการที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางภาษี รวมทั้งระบุประเภทความเสี่ยง สาเหตุและปัจจัยของความเสี่ยง ซึ่งหน่วยธุรกิจต้องพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงด้านภาษีให้ครอบคลุมทั้งปัจจัยภายในธนาคาร ได้แก่ กิจกรรมทางธุรกิจที่แตกต่างกันในการดำเนินธุรกิจของธนาคารซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงด้านภาษีที่แตกต่างกัน และปัจจัยภายนอกธนาคาร ได้แก่ การปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับทางด้านภาษีที่อาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่ธนาคารดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษีอากร การมีกฏหมายออกใหม่ รวมถึงความไม่ชัดเจนของกฎหมายภาษีอากรที่ต้องมีการตีความเพิ่มเติม
  • การประเมินความเสี่ยงด้านภาษี ธนาคารมีกระบวนการวิเคราะห์และประเมินระดับความเสี่ยงด้านภาษีที่มีอยู่เพื่อให้ทราบลำดับความสำคัญของความเสี่ยงด้านภาษีที่ธนาคารต้องจัดการ โดยมีการพิจารณาผลกระทบทั้งที่เป็นตัวเงิน เช่น ภาษีที่ต้องชำระ และผลกระทบที่ไม่เป็นตัวเงิน เช่น ผลกระทบด้านชื่อเสียง ด้านความพึงพอใจของลูกค้า และด้านความสัมพันธ์กับหน่วยงานทางการ
  • การระบุมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านภาษี ธนาคารมีการกำหนดกระบวนการในการขจัดหรือลดความเสี่ยงทางภาษีที่เกิดขึ้น การควบคุมให้ความเสี่ยงด้านภาษีอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ รวมทั้งการประเมินประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านภาษีอย่างสม่ำเสมอ
  • การรายงานความเสี่ยงด้านภาษี ธนาคารกำหนดขั้นตอนการนำเสนอและรายงานการประเมินความเสี่ยงและมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านภาษีอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบข้อมูลและจัดการความเสี่ยงด้านภาษีอย่างถูกต้อง ทันเวลา

1.3 ระบบข้อมูลและการสื่อสารภายในธนาคาร

  • ธนาคารดำเนินการให้มีระบบข้อมูลที่เพียงพอและทันเวลาเพื่อใช้ในการบริหารความเสี่ยงด้านภาษี โดยจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ในรูปแบบที่เหมาะสม มีความปลอดภัยและสามารถเข้าถึงได้เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีการติดตามตรวจสอบโดยผู้รับผิดชอบที่เป็นอิสระ
  • ธนาคารดำเนินการให้มีระบบควบคุมการบันทึกข้อมูลทางบัญชีที่เกี่ยวข้องกับรายการภาษีทุกประเภท เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง และเชื่อถือได้
  • ธนาคารดำเนินการให้มีการสื่อสารภายในธนาคารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างให้พนักงานมีความเข้าใจและยึดมั่นในข้อกำหนดและข้อปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายภาษี

ขอบเขตความเสี่ยงด้านภาษี
ธนาคารให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภาษี โดยมุ่งเน้นการติดตามและประเมินความเสี่ยงด้านภาษีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งขอบเขตความเสี่ยงด้านภาษีของธนาคาร มีดังนี้

  • ความเสี่ยงในการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านภาษี (Compliance risk) เป็นความเสี่ยงจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น ความรู้ความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ ความซับซ้อนของกฎหมาย ส่งผลต่อการชำระภาษีที่อาจไม่ถูกต้อง หรือล่าช้ากว่ากำหนด
  • ความเสี่ยงจากการปฏิบัติงาน (Operational risk) เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการปฏิบัติงานไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเกิดจากประสิทธิภาพของการควบคุมภายในที่กำหนดไว้ในกระบวนการปฏิบัติงาน หรือการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามการควบคุมภายในที่กำหนดไว้
  • ความเสี่ยงจากธุรกรรม (Transactional risk) เป็นความเสี่ยงด้านภาษีที่อาจเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมที่ไม่เกิดขึ้นบ่อย หรือธุรกรรมที่มีความซับซ้อน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนว่าจะต้องนำข้อกฎหมายใดมาพิจารณา หรืออาจต้องมีการตีความจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาษีภายนอก
  • ความเสี่ยงทางด้านบัญชีการเงิน (Financial accounting risk) เป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับภาษี ซึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษี นโยบายบัญชี และข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป
  • ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง (Reputational risk) คือ ความเสี่ยงทางภาษีที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของธนาคารและกลุ่มบริษัทในเครือ
  • ความเสี่ยงด้านการบริหาร (Management risk) เป็นความเสี่ยงเกี่ยวกับการบริหารจัดการให้มีบุคลากรที่ปฏิบัติงานหรือควบคุมการปฏิบัติงานด้านภาษีซึ่งมีความสามารถที่เหมาะสมกับหน้าที่และมีจำนวนเพียงพอ รวมทั้งจัดให้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ

ประเภทภาษีที่เกี่ยวข้อง
ธนาคารตระหนักถึงความเสี่ยงด้านภาษีจากความแตกต่างของกฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ ซึ่งการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของธนาคาร ดังนั้น นอกเหนือจากการศึกษา ทำความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศแล้ว ธนาคารมีการหารือกับบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาษีภายนอกในประเด็นที่ต้องมีการตีความ หรือมีความซับซ้อน ภาษีที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ประกอบด้วย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีมูลค่าเพิ่ม

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

  • การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ธนาคารทำความเข้าใจหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขทางภาษีที่กำหนดเพื่อการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด มีการติดตามตรวจสอบกระบวนการดำเนินการเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมไปถึงการบันทึกบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมาย
  • ธนาคารติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายภาษีที่เกิดจากนโยบายของภาครัฐ โดยมีการวิเคราะห์โอกาส และผลกระทบต่อธนาคารในมิติต่าง ๆ เช่น การดำเนินธุรกิจ ระบบงาน รวมทั้งนำเสนอผู้บริหารระดับสูงเพื่อวางแผนการจัดการเชิงรุกได้อย่างเหมาะสม

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

  • ธนาคารกำหนดแนวปฏิบัติในการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อกำหนดในอนุสัญญาภาษีซ้อนของ แต่ละประเทศ ซึ่งได้คำนึงถึงการตีความหรือคำนิยามมีความแตกต่างกัน เช่น ค่าสิทธิ ค่าซอฟต์แวร์ เป็นต้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามคำนิยามที่กำหนดในกฎหมายของประเทศนั้น และมีกระบวนการปฏิบัติเพื่อให้มั่นใจว่าการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ มีการหัก และนำส่งภาษีได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
  • เนื่องจากอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามกฎหมายภาษีของประเทศไทยมีความซับซ้อน ธนาคารจึงลดความเสี่ยงโดยการกำหนดให้ระบบงานดำเนินการหักภาษีโดยอัตโนมัติ และมีการทบทวนอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้เป็นปัจจุบันเสมอ
  • การเครดิตภาษี ธนาคารมีกระบวนปฏิบัติงานที่ชัดเจนเพื่อให้มั่นใจว่าภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้ทั้งในและต่างประเทศได้มีการดำเนินการเพื่อให้สามารถเครดิตภาษีในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

  • รายได้ส่วนใหญ่จากการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ เช่น ดอกเบี้ยจากการให้สินเชื่อ กำไร(ขาดทุน)จากการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังนั้น ธนาคารจึงมีระบบงานในการรวมศูนย์ข้อมูลรายได้จากช่องทางการให้บริการที่หลากหลาย เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีข้อมูลเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลา
  • ธนาคารมีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งอาจมีความไม่ชัดเจนในการตีความตามกฎหมาย ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการตีความไม่ถูกต้อง ธนาคารจึงขอความเห็นจากบริษัทที่ปรึกษากฎหมายภาษีภายนอก รวมถึงหารือเจ้าหน้าที่สรรพากรอย่างเป็นทางการ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าธนาคารเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

  • การให้บริการที่สำคัญของธนาคารที่อยู่ในขอบเขตของภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีขาย) คือ การให้บริการที่เกี่ยวข้องกับบัตรเครดิต ธุรกิจหลักทรัพย์ และการขายประกันภัย โดยการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการเสียโดยใช้การหักกลบระหว่าง ภาษีขาย กับภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจาก การใช้จ่าย (ภาษีซื้อ) ซึ่งธนาคารมีระบบงานในการรวมศูนย์ข้อมูลภาษีขาย และภาษีซื้อเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารมีข้อมูลเพื่อการเสียภาษีอย่างถูกต้อง
  • จากแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายของภาครัฐในการปรับอัตราและขยายฐานในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ธนาคารจึงเตรียมความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารสามารถดำเนินการตามข้อกำหนดได้อย่างครบถ้วน ถูกต้อง และทันเวลา

2. การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านภาษี
ธนาคารมีโครงสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยง กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนโดยเปิดเผยในรายงานประจำปีของธนาคาร ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบมีการสอบทานการบริหารความเสี่ยงด้านภาษีเป็นรายไตรมาส เพื่อให้มั่นใจว่าการบริหารความเสี่ยงมีความเหมาะสม

ความโปร่งใสด้านภาษี

ธนาคารให้ความสำคัญในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ซึ่งไม่เพียงครบถ้วนตามข้อกำหนดของกฎหมาย แต่ยังคำนึงถึงการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย

  • ธนาคารมีการเปิดเผยนโยบายภาษีของธนาคารต่อสาธารณะผ่านเว็บไซต์ของธนาคารอย่างโปร่งใส และแจกแจงข้อมูลให้เข้าใจง่าย ซึ่งเป็นไปตาม "นโยบายการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศธนาคารกสิกรไทย"
  • ในการรายงานข้อมูลต่อหน่วยงานทางการ ธนาคารมุ่งเน้นที่จะเปิดเผยข้อมูลภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมาย หน่วยงานทางการ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารกำหนด
  • ธนาคารให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่สรรพากรในประเทศต่างๆที่ธนาคารเข้าไปดำเนินการ ในการตอบข้อซักถามหรือจัดเตรียมข้อมูลประกอบการตรวจสอบด้านภาษีให้แก่เจ้าหน้าที่สรรพากรอย่างครบถ้วน โปร่งใส และเป็นไปตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศ
  • ธนาคารเปิดเผยข้อมูลรายได้และภาษีเงินได้จำแนกตามภูมิศาสตร์ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้มีส่วนได้เสียได้รับทราบถึงการมีส่วนร่วมสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ที่ธนาคารเข้าไปดำเนินธุรกิจ



ประเภท