นโยบายเครดิต ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล และ
แนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ
สถาบันการเงินเปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของต้นทางในการสนับสนุนหรือป้องกันการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่อาจส่งผลกระทบต่อ
สิ่งแวดล้อมและสังคม และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Economy) เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของธนาคาร และยังเป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยสร้างรายได้และความน่าเชื่อถือให้แก่ธนาคาร
ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการผล
กระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมจากการสนับสนุนทางการเงินผ่านการให้สินเชื่อและการลงทุน จึงได้กำหนดนโยบายเครดิต ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) โดยนำปัจจัยดังกล่าวตามหลักปฏิบัติสากลมาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อประเภทต่างๆ ทั้ง Corporate/Project Finance รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ต่างๆ กำหนดประเภทของสินเชื่อที่ธนาคารจะไม่สนับสนุน (Exclusion List) และกำหนดแนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector-Specific Guidelines) รวมทั้งมีมาตรการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อให้มั่นใจว่าสินเชื่อที่ธนาคารสนับสนุนจะได้รับการจัดการด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเสริมสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย รวมถึงป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดผล
กระทบต่อภาพลักษณ์และการดำเนินงานของธนาคาร
นโยบาย ESG นี้ รวมถึงกลยุทธ์ภาคส่วนที่พัฒนาขึ้นตามนโยบาย แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าของธนาคารกสิกรไทยในการบรรลุเป้าหมายเพื่อให้มั่นใจถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมสู่สังคมที่ปลอดคาร์บอนสุทธิ รวมถึงความมุ่งมั่นของเราที่จะเป็น Net Zero ในการดำเนินงานของเราเองภายในปี 2030 รวมถึงความมุ่งมั่นของเราในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพอร์ตการเงินของเราให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของประเทศไทย*; ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสัดส่วนของเงินกู้ที่ให้กับแต่ละภาคส่วน และจะเร่งดำเนินการในส่วนที่เป็นไปได้ให้เร็วขึ้น
ตามนโยบายของธนาคารกสิกรไทยเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมเพื่อความร่วมมือ ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะสร้างความร่วมมือกับทุกองค์กรและทุกฝ่าย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จทางธุรกิจและประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ธนาคารกสิกรไทยไม่สนับสนุนการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการล็อบบี้ ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกสิกรไทยไม่สนับสนุนการล็อบบี้ต่อต้านกฎระเบียบด้านสภาพภูมิอากาศหรือกิจกรรมที่ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หมายเหตุ:
ความมุ่งมั่นของประเทศไทยที่ COP26 รวมถึงความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065
ประเภทเครดิตที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ที่ธนาคารไม่ให้การสนับสนุน (Exclusion List)
ธนาคารกำหนดให้มีการพิจารณาตั้งแต่ลักษณะของผู้ขอเครดิต ประเภทธุรกิจที่ลูกค้าดำเนินการอยู่ โดยธนาคารไม่ให้การสนับสนุนการ
ขอเครดิต1 ของประเภทธุรกิจต่างๆ (Exclusion List) ดังนี้
- ผู้ขอเครดิตที่มีข้อมูลว่าเกี่ยวข้องหรือคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อาทิ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดเกี่ยวกับการพนัน ความผิด
เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ ยึดถือหรือครอบครอง หรือกระบวนการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติโดยมิชอบ ความผิดเกี่ยวกับอาวุธ หรืออาจนำไปใช้ในการรบ หรือการสงคราม รวมถึงความผิดเกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ - เครดิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิด หรือเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมาย โดยครอบคลุมกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศและข้อตกลงระหว่างประเทศที่รัฐบาลได้ทำไว้ อาทิ
- การค้าสัตว์ป่าและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES)
- การส่งออกและนำเข้ากากของเสียที่ขัดต่ออนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการควบคุมการเคลื่อนย้ายข้ามแดนของของเสียอันตรายและการกำจัด (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Wastes and Their Disposal: Basel Convention) หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- การผลิต การใช้หรือการค้าที่เกี่ยวข้องกับเวชภัณฑ์ สารเคมี ยาฆ่าแมลง สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ และสารอันตรายอื่นๆ ที่อยู่ใน
ข้อตกลงระหว่างประเทศหรือกฎหมายของประเทศที่อยู่ระหว่างการยกเลิกการใช้หรือที่ได้ยกเลิกไปแล้ว อาทิ การนำเข้าและการส่งออกสารเคมีเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงตาม
อนุสัญญา
รอตเตอร์ดัมว่าด้วยกระบวนการแจ้งข้อมูลสารเคมีล่วงหน้าสำหรับสารเคมีอันตรายและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์บางชนิดในการค้าระหว่างประเทศ (Rotterdam Convention on the Prior Informed Consent Procedure for Certain Hazardous Chemicals and Pesticides in International Trade) หรือสารเคมีที่ผลมลพิษตามอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants: POPs) - การผลิตหรือการซื้อขายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม สามารถทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากประเทศผู้นำเข้าสินค้าและปฏิบัติตามข้อกำหนดของพิธีสารคาร์ตาเฮนา
- การผลิตที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในสาขาวัสดุพันธุกรรมและวิศวพันธุกรรม (genetic materials & genetic engineering) ที่ไม่ผ่านข้อกำหนดอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขององค์การสหประชาชาติ (UN Convention on Biological Diversity) และ/หรือแนวปฏิบัติบอนน์ (Bonn Guidelines) หรือพิธีสารนาโกยา (Nagoya Protocol)
- เครดิตที่ที่เกี่ยวข้องกับการทำลายหรือบุกรุกระบบนิเวศที่สำคัญ อาทิ ป่าชายเลน พื้นที่อนุรักษ์ทางธรรมชาติ
- พื้นที่อุทยาน พื้นที่อนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ตามประกาศหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
- พื้นที่แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Sites)
- พื้นที่อนุรักษ์ตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มนํ้าที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Convention on Wetlands)
- พื้นที่คุ้มครองของ International Union for Conservation of Nature: IUCN (IUCN Protected Area Category) และพื้นที่ที่มีคุณค่าสูงต่อการอนุรักษ์ (High Conservation Value Area: HCV)
- พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (high-carbon stock)
- เครดิตที่เกี่ยวข้องกับการทำลายหรือบุกรุกพื้นที่อนุรักษ์ทางวัฒนธรรม อาทิ โบราณสถาน พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม
- เครดิตที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการใช้แรงงานจากการค้ามนุษย์ แรงงานที่ถูกบังคับ แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แรงงานเด็ก หรือสภาพการทำงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง
- เครดิตเพื่อการสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่ขัดแย้งกับศีลธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม อาทิ สถานบริการอาบ อบ นวด โรงแรมม่านรูด การค้าประเวณี การผลิตสื่ออนาจาร การพนัน สื่อที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิว
- ธุรกิจที่มีเหตุอันเชื่อว่าได้รับอนุมัติงาน อาทิ การจัดซื้อจัดจ้าง การได้รับสัมปทานหรือใบอนุญาต โดยมีการใช้อำนาจตำแหน่งทางราชการหรือการเมืองเพื่อเอื้อต่อธุรกิจ หรือการเรียกรับเงินสินบน ค่านายหน้า หรือการตอบแทนในรูปแบบต่างๆ
- หนังสือค้ำประกันยื่นซองประกวดราคา ที่เอื้ออำนวยให้ลูกค้านำไปประมูลงานของภาครัฐ ซึ่งผู้ประมูลงานตกลงสมยอมกันเพื่อให้ผู้ประมูลรายหนึ่งรายใดเป็นผู้ชนะ
- เครดิตที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไร
- เครดิตที่เกี่ยวข้องกับการค้าอาวุธและยุทโธปกรณ์ ที่มีการนำเข้าหรือส่งออกไปยังประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาชนอาหรับลิเบีย
- เครดิตที่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือค้าอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง อาทิ
- ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-personal land mines)
- ระเบิดลูกปราย (Cluster Munition)
- อาวุธนิวเคลียร์
- อาวุธชีวภาพและเคมี
- อาวุธอัตโนมัติรุนแรง (Lethal Autonomous Weapons Systems: LAWS)
- เครดิตสำหรับโครงการที่ต้องมีการดำเนินการโครงการในต่างประเทศที่อาจก่อให้ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้าน
สิ่งแวดล้อมของประเทศที่โครงการไปดำเนินการ (Host Country) รวมถึงหน่วยงานระดับประเทศที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม โดยมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อาทิ Equator Principle, IFC Performance Standards & Environmental, Health, and Safety Guidelines (EHS Guidelines), ADB Safe Guard Policy, JBIC’s Guidelines for Confirmation of Environmental and Social Considerations, EBRD Performance Requirements - Environmental and Social Sustainability (European Standard) - เครดิตสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนํ้าจากเขื่อนที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีนัยสำคัญที่ไม่มีมาตรการจัดการและแผนปฏิบัติงานตามแนวทาง Equator Principles และไม่มีสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินต่างประเทศที่รับในหลักการ Equator Principles เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับถ่านหิน (Themal coal)2 ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน การทำเหมืองถ่านหิน ธุรกิจค้าถ่านหิน รวมทั้ง ธุรกิจอื่นๆ ที่มีการนำเงินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจถ่านหิน หรือเป็น supply chain ของถ่านหิน เช่น ค้าถ่านหิน รับเหมาก่อสร้างเหมืองถ่านหิน ขนส่งถ่านหิน เป็นต้น
- โครงการสำรวจขุดเจาะและผลิตจากแหล่งพลังงานนอกรูปแบบ (Unconventional Oil & Gas)3 และธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (Supply chain and Infrastructure) กับแหล่งพลังงานนอกรูปแบบ เช่น ทรายน้ำมัน (Tar Sands), ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากหินดินดาน (Shale Oil & Gas), แหล่งพลังงานในอาร์กติก (Arctic Oil & Gas), แหล่งพลังงานน้ำลึก Deep Water , Ultra-Deep-Water (UDW) และก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งพลังงานนอกรูปแบบ (Unconventional Extraction Liquefied Natural Gas)
- เครดิตใดๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงในทางลบต่อธนาคาร
- เครดิตที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและค้ายาสูบ
หมายเหตุ
- การไม่สนับสนุนสินเชื่อ หมายถึง ก การไม่สนับสนุนการให้สินเชื่อใหม่หรือการขยายสินเชื่อเดิมที่เป็นสินเชื่อบรรษัทหรือสินเชื่อโครงการ (Corporate credit lines lending or Project and infrastructure financing) รวมทั้งการไม่สนับสนุนการให้บริการด้านตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมหรือจัดจำหน่าย (Arranging or underwriting)
- บริษัทที่นับว่าเป็นบริษัทถ่านหิน หมายถึง บริษัทที่มีรายได้มาจากธุรกิจถ่านหิน > 20% ไม่ว่าจะเป็นรายได้โดยตรงจากการทำเหมืองถ่านหินที่ให้ความร้อน(Thermal Coal), การผลิตถ่านหิน, การค้าถ่านหิน, โรงไฟฟ้าถ่านหิน, รวมถึงกรณีเป็นบริษัทที่เป็น Supply Chain มีรายได้ >20% จากการเป็น Supply Chain ของบริษัทที่ทำธุรกิจดังกล่าว
- บริษัทที่นับว่าเป็นบริษัทสำรวจขุดเจาะและผลิตพลังงานนอกรูปแบบ หมายถึง บริษัทที่มีรายได้ > 20% จากธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งดังที่กล่าวมาในข้างต้น รวมถึงกรณีบริษัทที่เป็น Supply Chain ที่มีรายได้ >20% จากการเป็น Supply Chain ของบริษัทที่ทำธุรกิจดังกล่าว
แนวปฏิบัติในการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะ (Sector - Specific Guidelines)
ธนาคารได้ดำเนินการพัฒนาแนวทางการพิจารณาสินเชื่อสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะตามนัยสำคัญของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยกำหนดให้มีการพิจารณาปัจจัยด้าน ESG ในการพิจารณาเครดิตสำหรับแต่ละอุตสาหกรรมเพิ่มเติมจากปัจจัยด้านอื่นๆ เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงทั้งในระดับเครดิตพอร์ตโฟลิโอและระดับธุรกรรมของธนาคารเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ โดยเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม นอกจากนี้ ธนาคารจะเน้นให้การสนับสนุนธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิแรงงานตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices: GLP) และมีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล
อุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า
ธนาคารสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยกรณีที่ธนาคารมีการสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในวงกว้าง ผู้ดำเนินโครงการจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศนั้นๆ (Host Country) รวมถึงปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ ธนาคารจะพิจารณาให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการที่มีสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ หรือสถาบันการเงินที่เข้าร่วมรับหลักการหรือมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ธนาคารไม่สนับสนุนสินเชื่อใหม่ให้กับโรงไฟฟ้า ดังนี้
- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์
- โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากเขื่อนที่ไม่ได้มีมาตรการจัดการและแผนปฏิบัติงานตามแนวทาง Equator Principles และไม่มีสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศหรือสถาบันการเงินต่างประเทศเข้าร่วมสนับสนุนโครงการ
- โรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ธนาคารจะทยอยลดเงินกู้ในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่แล้วให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 และธนาคารได้ทำการสื่อสารกับผู้กู้ปัจจุบันในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าถ่านหินเกี่ยวกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกและการลดวงเงินสินเชื่อที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง รวมไปถึง การทยอยลดเงินกู้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินให้เป็นศูนย์
- โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นใหม่ โดยที่ไม่มีเทคโนโลยีเพื่อลดค่าเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญร่วมด้วย
ธนาคารเน้นสนับสนุนสินเชื่อให้กับโรงไฟฟ้า ดังนี้
- โรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม
- โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นๆ อาทิ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ ที่มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตามความเหมาะสมของประเภทกิจการ
มีการเปิดเผยและมีแผนการลดก๊าซเรือนกระจก มีการติดตามผลการปฏิบัติงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
มีมาตรการติดตามและตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมพื้นที่โครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าและชุมชนบริเวณรอบโรงไฟฟ้า
อุตสาหกรรมเหมืองแร่
ธนาคารสนับสนุนผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ผ่านหลักเกณฑ์มาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการทำเหมืองแร่ที่จำกัดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรแร่อย่างยั่งยืน ไม่มีการบังคับใช้แรงงานเด็กโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้เสนอตนโดยสมัครใจ มีการดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากเสียงและความสั่นสะเทือน ลดผลกระทบคุณภาพของน้ำ และลดผลกระทบคุณภาพของอากาศที่ป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย โดยต้องมีระบบการขนส่ง การเก็บกวาดฝุ่นละอองบริเวณเส้นทางลำเลียง รวมทั้งระบบจัดเก็บที่ดี
ธนาคารไม่สนับสนุนผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่มีลักษณะดังนี้
- การทำเหมืองแร่ใยหิน (Asbestos) รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือการค้าแร่ใยหินที่ไม่ได้ฝังตัวอยู่ในวัสดุอื่น (Unbounded Asbestos Fibers)
- การทำเหมืองที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อทรัพยากรน้ำ ทั้งทางแหล่งน้ำและทางทะเล
- การทำเหมืองที่มีการระเบิดเปิดหน้าภูเขา (Mountaintop Removal Mining)
- การทำเหมืองในพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า
- การทำเหมืองที่มีพื้นที่อยู่ใกล้แหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก
- การทำเหมืองที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อทรัพยากรน้ำ ทั้งทางแหล่งน้ำและทางทะเล
- การทำเหมืองอยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง (ชายแดนติดเพื่อนบ้าน พื้นที่การสู้รบ)
- การทำโครงการเหมืองถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อนใหม่ (Thermal Coal) และ Coal Infrastructure รวมถึงการขยายเหมืองถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อนเดิม
- การให้สินเชื่อเชิงพาณิชย์ (Corporate Finance) กับ Coal Infrastructure สำหรับถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อน (Thermal Coal)
- การให้สินเชื่อเชิงพาณิชย์กับเหมืองถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อน (Thermal Coal)
ทั้งนี้ ธนาคารจะทยอยลดพอร์ตโฟลิโอของการให้สินเชื่อเหมืองถ่านหินให้หมดภายในปี 2573
อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ
ธนาคารจะเน้นการสนับสนุนธุรกิจที่มีการตั้งเป้าหมายและเปิดเผยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งมีแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ระบบนิเวศ
- ธนาคารไม่สนับสนุนโครงการสำรวจขุดเจาะและผลิตจากแหล่งพลังงานนอกรูปแบบ (Unconventional Oil & Gas) เช่น ทรายน้ำมัน (Tar Sands) ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากหินดินดาน (Shale Oil & Gas) แหล่งพลังงานในอาร์คติก (Arctic Oil & Gas) แหล่งพลังงานน้ำลึก Deep Water (คือแหล่งพลังงานที่มีความลึกประมาณ1,000 ft หรือ 300m), แหล่งพลังงานน้ำลึกพิเศษ Ultra-Deep-Water (UDW) (คือแหล่งพลังงานที่มีความลึกประมาณ 5,000 ft หรือ 1,500m) และก๊าซธรรมชาติเหลวจากแหล่งพลังงานนอกรูปแบบ (Unconventional Extraction Liquefied Natural Gas) รวมทั้งการสร้างท่อเพื่อขนส่งน้ำมันเหล่านี้
ธนาคารเน้นสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- มีการตั้งเป้าในการลดการเผาก๊าซทิ้งทั้งสินทรัพย์เดิมและใหม่ เพื่อให้มีกรอบระยะเวลาในการลดก๊าซเผาทิ้ง
- มีแผนติดตามหรือลดการปล่อยก๊าซมีเทนทั้ง Upstream Assets เดิมและโครงการใหม่
- มีการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและขจัดมลพิษที่เกิดจากน้ำมัน มีแผนและมีการทดสอบความพร้อมในการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินกรณีน้ำมันหกล้นรั่วไหล (Oil Spill)
อุตสาหกรรมเกษตร เกษตรแปรรูปและอาหารและธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบ
การทำการเกษตร ประมง ป่าไม้ เป็นกิจกรรมที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปต่อ ซึ่งธนาคารให้ความระมัดระวังในการปล่อยเครดิตที่อาจมีความเสี่ยงและก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การปล่อยมลพิษ อาทิ มลพิษทางอากาศ ทางกลิ่น ทางน้ำ ตลอดจนการปล่อยของเสียสู่ภายนอกกิจการซึ่งมีผลต่อชุมชน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การเลี้ยงสัตว์ มีการปล่อยก๊าซมีเทน การปลูกพืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีที่ปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์
ธนาคารไม่สนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจที่เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งโครงการอยู่บนพื้นที่อ่อนไหว โดยพิจารณาตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต ไปจนถึงการจำหน่ายสินค้า ดังนี้
- พื้นที่ที่เป็นแหล่งมรดกโลกขององค์การยูเนสโก (UNESCO World Heritage Sites)
- พื้นที่ลุ่มน้ำ
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์
- พื้นที่อุทยาน พื้นที่อนุรักษ์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ ตามประกาศของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง
- พื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์ว่าด้วยพื้นที่ชุ่มนํ้าที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Wetlands Registered by Ramsar Convention)
- พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุ หรือพื้นที่อื่นๆ ที่กักเก็บคาร์บอนในระดับสูง (High-carbon Stock)
- พื้นที่คุ้มครองของ IUCN (IUCN Protected Area Category)
- พื้นที่ที่มีคุณค่าสูงต่อการอนุรักษ์ (High Conservation Value Area : HCV)
- การปลูกพืชที่มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า หรือมีการเผาพื้นที่หลังการเก็บเกี่ยว โดยต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ที่ดินประกอบการพิจารณาสินเชื่อ
- การใช้ประโยชน์บนที่ดินซึ่งได้มาอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
- การใช้ประโยชน์บนที่ดินที่ยังมีข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง ที่ยังไม่ได้มีการแก้ไขข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยสมัครใจล่วงหน้า (Free, Prior, and Informed Consent : FPIC) ก่อนเข้าใช้พื้นที่
- ธุรกิจที่รับซื้อสินค้าเกษตรที่มีการปลูกในพื้นที่บุกรุกป่า หรือการเผาเพื่อการเตรียมพื้นที่ปลูก เช่น การเผาป่าเพื่อปลูกข้าวโพด การเผาอ้อยในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการล่าสัตว์ การดักสัตว์ การเก็บหาของป่า การเผาถ่านในป่า ผลิตภัณฑ์จากกระดูก เขาและงา รวมทั้งสัตว์และพืชตามอนุสัญญาไซเตส (อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES)) เนื่องจากเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ธุรกิจโรงชำแหละที่มีการทารุณสัตว์
- ธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ โดยไม่มีมาตรการป้องกันหรือจัดการผลกระทบอย่างเหมาะสม
- การใช้แรงงานแบบผิดกฎหมาย
ธนาคารเน้นสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน
- คำนึงถึงสิทธิแรงงานและมีมาตรการด้านแรงงานขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด
- คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณการใช้น้ำหรือสามารถนำน้ำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ มีมาตรฐานการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดของเสีย และกลิ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมายกำหนด มีการจัดการของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ลดการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานหมุนเวียน
- มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) และระบบด้านความปลอดภัยและชีวอนามัย (ISO 45001) เป็นต้น
สำหรับบางธุรกิจที่มีความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ธนาคารกำหนดนโยบาย / เงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อแต่ละอุตสาหกรรม ดังนี้
การเลี้ยงสัตว์ (ไม่รวมสัตว์น้ำ) และโรงชำแหละ
ธนาคารไม่สนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เช่น สร้างมลภาวะทางกลิ่น ก๊าซพิษจากน้ำเสีย เป็นต้น โดยที่ตั้งฟาร์มต้องอยู่ห่างไกลชุมชนเพื่อลดผลกระทบด้านมลภาวะต่อชุมชน ผ่านการทำประชาพิจารณ์จากชุมชนว่าสามารถทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ได้ และควรมีระบบการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) เพื่อบำบัดน้ำเสียและลดปัญหาด้านกลิ่น
ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ มีมาตรฐานการเลี้ยง การป้องกันโรค การจัดการแรงงานและของเสีย สุขอนามัยของชุมชน โดยฟาร์มได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีด้านปศุสัตว์ หรือมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (Good Agricultural Practice : GAP) ตามที่กรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานอื่นที่ทางกรมปศุสัตว์ให้การรับรอง
- มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสุขภาพสัตว์และสิทธิแรงงานตามแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labor Practice : GLP) ที่เกี่ยวข้อง
- คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณการใช้น้ำหรือสามารถนำน้ำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ มีการจัดการของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ลดการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานหมุนเวียน
- โรงชำแหละควรปฏิบัติตามแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและ อาหารแห่งชาติเรื่อง การปฏิบัติที่ดีสําหรับโรงฆ่าสัตว์ (มกอช. 9004-2547) และต้องดําเนินการเกี่ยวกับโรงฆ่าสัตว์ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การเลี้ยงสัตว์น้ำ ประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำ
ธนาคารไม่สนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจ ดังนี้
- การเพาะเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ป่าชายเลน
- ธุรกิจประมงทางทะเลที่ไม่มีการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่มีการรายงานและการควบคุม (Unregulated Fishing: IUU Fishing) หรือมีการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ผิดกฎหมาย การจับสัตว์สงวน หรือสัตว์ที่ขึ้นบัญชีตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)
ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจที่มีการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
- ธุรกิจที่มีระบบการผลิตและผลิตผลสัตว์น้ำตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ตามหลักการปฏิบัติมาตรฐานทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice : GAP) ตามแนวทางจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน (Code of Conduct : CoC) จากกรมประมง และเป็นไปตามมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน Aquaculture Stewardship Council (ASC)*
- ธุรกิจการทำประมงอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามมาตรฐานการประมงสากลของสำนักงานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานสินค้าประมง : Marine Stewardship Council (MSC)** และต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
- ธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรที่มาจากการทำประมง การแปรรูปผลผลิต และการกระจายผลผลิต ตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้น ทุกกระบวนการควรเป็นไปตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง มีการจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ตลอดจนมีการใช้แรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceable)
*Aquaculture Stewardship Council (ASC) คือ มาตรฐานการรับรองอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืน โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารทะเลได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค
**Marine Stewardship Council (MSC) คือ มาตรฐานการรับรองอาหารทะเลจากการประมงทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของอาหารทะเลได้ทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค
ธุรกิจปาล์มน้ำมัน
- ธนาคารไม่สนับสนุนการปลูกปาล์มที่มีการตัดไม้ทำลายป่า
- ธนาคารสนับสนุนให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามนโยบาย No Deforestation, No Peat, No Exploitation (NDPE)
- ธนาคารสนับสนุนให้ผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน รวมถึงห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงสกัด โรงกลั่น และผู้ค้า เป็นต้น ปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืน (Roundtable for Sustainable Palm Oil : RSPO) กรณียังไม่ผ่านมาตรฐาน ควรมีแผนดำเนินการเพื่อให้ได้รับการรับรอง RSPO โดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน
ปาไม้และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่นำผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ไปใช้ อาทิ การทำเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์
- ธนาคารไม่สนับสนุนการทำป่าไม้ที่เป็นการทำลายป่า
- ธนาคารสนับสนุนเฉพาะการทำป่าไม้ที่ปลูกเพื่อการพาณิชย์ ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย และเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์กรด้านป่าไม้ อาทิ Forest Stewardship Council (FSC)
ธนาคารเน้นสนับสนุนธุรกิจที่ผ่านมาตรฐานด้านความยั่งยืน ดังนี้
- ยางพารา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ ผู้ปลูก ผู้ค้า ผู้ผลิต ที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การผลิตยางพาราอย่างยั่งยืน (Sustainable Natural Rubber Initiative : SNRI)
- แปรรูปอาหารทะเล ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเลส่งออกที่ผ่านมาตรฐานการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน (Aquaculture Stewardship Council : ASC) และ/หรือมาตรฐานการรับรองอาหารทะเลจากการประมงทางธรรมชาติอย่างยั่งยืน (Marine Stewardship Council : MSC)
- น้ำมันปาล์ม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปาล์มทั้งห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ ผู้ปลูก ผู้ค้า โรงสกัด และโรงกลั่นที่ปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Roundtable for Sustainable Palm Oil : RSPO)
- น้ำมันถั่วเหลือง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันถั่วเหลืองทั้งห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ ผู้ปลูก ผู้ค้า โรงสกัด และโรงกลั่นที่ปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตน้ำมันถั่วเหลืองอย่างยั่งยืน (Round Table on Responsible Soy Association : RTRS)
- น้ำตาล ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำตาลทั้งห่วงโซ่คุณค่า ได้แก่ ผู้ปลูก ผู้ค้า ผู้ผลิต ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานการผลิตน้ำตาลอย่างยั่งยืน (Bonsucro)
- ข้าว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน Sustainable Rice Platform (SRP)
- ปลาป่นและน้ำมันปลา ธุรกิจปลาป่นและน้ำมันปลาที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาอย่างยั่งยืน International Fishmeal and Fish Oil Organization Responsible Supply (IFFO RS)
- ไม้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำไม้ไปใช้ประโยชน์ อาทิ ยางล้อ บรรจุภัณฑ์กระดาษ เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานป่าไม้หรือผลิตภัณฑ์ไม้อย่างยั่งยืน ได้แก่ Forest Stewardship Council (FSC), Program for the Endorsement of Forest Certification Scheme (PEFC), Sustainable Forest Management System : Specification Document (SFM) (ISO 14061), มาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Forest Management Standard : FM) (มอก. 14061) , มาตรฐานห่วงโซ่การควบคุมผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ (Chain of Custody: CoC) (มอก. 2861)
- พลังงานทดแทน ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน อาทิ ปาล์ม มันสำปะหลัง ที่ปฏิบัติตามมาตรฐานความยั่งยืนสำหรับพลังงานทดแทน Global Bioenergy Partnership (GBEP)
- วัสดุชีวภาพ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัสดุชีวภาพที่ผ่านการรับรองกระบวนการผลิตที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติเพื่อความยั่งยืน Roundtable on Sustainable Biomaterials (RSB)
- ธุรกิจเกษตร ได้แก่ สินค้าพืช สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าประมง ที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP, Global GAP, กรอบการประเมินความยั่งยืน Sustainability Assessment of Food and Agriculture Systems (SAFA)
อุตสาหกรรมเคมี ฟอกหนัง ฟอกย้อม
และการผลิตอื่นๆ
ธนาคารสนับสนุนธุรกิจที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยควรผ่านมาตรฐานระบบจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) และมีมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัยและชีวอนามัย โดยควรผ่านมาตรฐานระบบจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) ตลอดจนมีมาตรการด้านแรงงานขั้นต่ำตามที่กฎหมายระบุ
ธนาคารไม่สนับสนุนธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจผลิตอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Mass Destructive Weapons) เนื่องจากส่งผลกระทบทางสังคมและก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม
- ธุรกิจผลิตเครื่องสำอางที่มีการทดลองกับสัตว์ เนื่องจากเป็นการทรมานสัตว์
- ธุรกิจที่ใช้สารทำความเย็นประเภท CFC (R11 และ R12) (Chlorofluorocarbon)
- ธุรกิจที่ใช้สารทำความเย็นประเภท HCFC (R22) (Hydro Chlorofluorocarbon) เว้นแต่มีแผนในการลดการใช้
ธนาคารสนับสนุนธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- มีการจัดการสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว โดยมีการจัดการเศษโลหะอย่างยั่งยืนและนำกลับมาผลิตในรูปแบบใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
- มีการจัดการมลพิษทางอากาศจากกระบวนการผลิต อาทิ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงมลพิษอื่นๆ เช่น ความร้อน เสียง การสั่นสะเทือน เป็นต้น
- มีแผนที่จะดำเนินการหรือได้รับการรับรองตามมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) ระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001) มาตรฐานแรงงานว่าด้วยความรับผิดชอบทางสังคม (SA 8000)
อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์
- ธนาคารส่งเสริมการก่อสร้าง การปรับปรุงอาคาร ให้ได้มาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น LEED TREES เป็นต้น
- สำหรับโครงการบ้านแนวราบ ธนาคารเน้นสนับสนุนโครงการบ้านประหยัดพลังงานที่มีการออกแบบและ แนวทางการใช้วัสดุและระบบโครงสร้างของบ้านตามหลักการของบ้านอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน หรือพัฒนาโครงการบ้านเบอร์ 5 ตามหลักการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน
- หากโครงการที่ขอสินเชื่อเป็นอาคาร 9 ประเภท ได้แก่ สถานศึกษา สำนักงานหรือที่ทำการ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า สถานบริหาร โรงมหรสพ อาคารชุมนุมคน สถานพยาบาล โรงแรม และอาคารชุด ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องทำตามเงื่อนไขของประกาศกระทรวงพลังงาน 2 ฉบับ หรือที่เรียกว่า BUILDING ENERGY CODE 2020 (BEC)
อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง
ธนาคารไม่สนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- การสร้างโรงงานใหม่ที่กระบวนการผลิตใช้ถ่านหินชนิดเชื้อเพลิงให้ความร้อนใหม่ (Thermal Coal) เป็นพลังงานหลัก
- การสร้างโรงเหล็กที่ใช้กระบวนการผลิต IF (Induction Furnace Process) ใช้วัตถุดิบที่มาจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ใช้วัตถุดิบที่มาจากทำลายป่าไม้ หรือใช้วัตถุดิบที่มาจากทำเหมืองที่มีการระเบิดภูเขา (Mountaintop Removal) เป็นต้น
- กระบวนการผลิตหรือที่ตั้งของสถานการผลิตส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน
ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจที่มีลักษณะ ดังนี้
- ได้รับมาตรฐานระบบการจัดการพลังงานตามมาตรฐานสากล (ISO 50001) มาตรฐานอุตสาหกรรมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาตรฐานระบบการจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (TIS 18001 หรือ มอก. 18001) รวมทั้งมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคารของกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.) 1101 ถึง 1106 เป็นมาตรฐานว่าด้วยการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ (Specifications) ของวัสดุหลักที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคารประเภทต่างๆ
- มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากการใช้พลังงานหลักจากถ่านหิน มาเป็นการใช้พลังงานสะอาดทดแทน และมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมทั้งลดการใช้พลังงาน
- ธุรกิจผลิตเหล็กที่ต้องการเปลี่ยนผ่านกระบวนการผลิตจาก IF เป็น Electric Arc Furnace (EAF) และธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ที่ต้องการเปลี่ยนเป็นปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก
- ใช้วัตถุดิบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการจัดหาวัตถุดิบภายใต้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) รวมทั้งวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนช่วยในการประหยัดพลังงาน
- คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดปริมาณการใช้น้ำ หรือสามารถนำน้ำมาหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ มีการจัดการของเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ ลดการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานหมุนเวียน
- ผลิตภัณฑ์ได้รับฉลากเขียว (Green Label) จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
- ธนาคารเน้นให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่ธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า (Electric Vehicles) รถยนต์ไฟฟ้า กิจการพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ จักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ สามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่
- ธนาคารระมัดระวังการสนับสนุนสินเชื่อในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนในระบบส่งกำลัง (Powertrain) และเครื่องยนต์ (Engine) เนื่องจากมีความเสี่ยงที่การผลิตรถแบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) จะถูกแทนที่ด้วยยานยนต์ไฟฟ้าระยะยาวในอนาคต และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศ โดยผู้ประกอบการต้องผ่านมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น Green Industry (GI), ISO 9001, ISO 45001 เป็นต้น รวมทั้งมีแผนที่มุ่งสู่การพัฒนาผ่านมาตรฐานการปล่อยมลพิษ EURO5 ได้แก่ มอก.3016-2563 และ มอก.3018-2563 ที่จะมีการบังคับใช้ในปี 2567 เป็นต้นไป
อุตสาหกรรมขนส่ง
ขนส่งทางทะเล
ธนาคารจะสนับสนุนสินเชื่อให้กับธุรกิจการเดินเรือที่มีลักษณะ ดังนี้
- ได้มาตรฐานระดับนานาชาติของ IMO ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (Safety of Life at Sea : SOLAS) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ (Maritime Regulations for Prevention of Pollution : MARPOL)
- เรือพาณิชย์ทุกลำในการค้าระหว่างประเทศ ต้องมีใบรับรองแรงงานทางทะเลที่ออกโดย International Labor Organization (ILO) และ International Maritime Organization (IMO) โดยอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล (Maritime Labor Convention: MLC) ได้กำหนดมาตรฐานสำหรับเงื่อนไขการจ้างงานและที่พักบนเรือ ตลอดจนข้อกำหนดการจ้างงานขั้นต่ำ การรักษาพยาบาล และอื่นๆ
- เรือพาณิชย์ของผู้ประกอบการ ต้องผ่านการตรวจสอบจาก IACS (The International Association of Classification Societies) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับรองว่ามาตรฐานสำหรับการก่อสร้าง การปฏิบัติงาน และการบำรุงรักษาเรือที่เป็นไปตามอนุสัญญา IMO ทั้งนี้ ธนาคารสามารถตรวจสอบว่าเรือได้รับมาตรฐานต่างๆ ภายใต้อนุสัญญา IMO และได้รับการตรวจสอบจาก IACS
ทั้งนี้ ธุรกิจควรมีการตั้งเป้าหมายและแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากภาคการขนส่งทางเรือมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์หรือกำมะถันเข้าสู่ระบบนิเวศ
ขนส่งทางอากาศ
- ธนาคารจะสนับสนุนธุรกิจที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานที่แต่ละประเทศกำหนดได้เป็นอย่างน้อย
- ธุรกิจการบินสามารถปฏิบัติตามมาตรการที่โครงการ CORSIA กำหนดขึ้นในแต่ละประเทศ รวมถึงมีการกำหนดเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ International Civil Aviation Organization (ICAO)
- ธุรกิจควรมีแผนการเพิ่มสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดวัฏจักรชีวิตของเชื้อเพลิงเมื่อเทียบกับน้ำมันเจ็ทแบบดั้งเดิม
ขนส่งทางถนน
- ธนาคารเน้นสนับสนุนธุรกิจที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน Q Mark จากกรมการขนส่งทางบกหรือสามารถปฏิบัติตามข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามในมาตรฐาน Q Mark และมีแผนปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพการดำเนินการตามข้อแนะนำในมาตรฐาน
อุตสาหกรรมบริการ
ธนาคารไม่สนับสนุนธุรกิจ ดังนี้
- ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ สถานบันเทิงเริงรมย์ ธุรกิจที่ขัดแย้งกับศีลธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม เช่น สถานบริการอาบอบนวด โรงแรมม่านรูด โคโยตี้ ผับ บาร์ ไนต์คลับ เป็นต้น
- ธุรกิจคาสิโนหรือบ่อนการพนัน และสนามม้า เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสังคม
- ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ที่มีการบุกรุกพื้นที่ป่า ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวน ทั้งนี้ หากเข้าข่าย ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) ธนาคารสนับสนุนเฉพาะโครงการที่ผ่านการอนุมัติ EIA เท่านั้น
- ธุรกิจบริการที่ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส แรงงานเด็ก หรือไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยและ อาชีวอนามัยให้กับแรงงาน