12/10/2560

พร้อมก่อนประหยัดกว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

​​       ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการปฏิรูปกฎหมายภาษีจำนวนมาก รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะมาใช้แทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน คาดการณ์ว่า กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะสามารถบังคับใช้ได้ในวันที่  1 มกราคม 2562 ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีภาระด้านภาษีที่ต้องชำระเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลและยื่นภาษีอย่างถูกต้องนั้น สามารถนำภาษีมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ ซึ่งจะช่วยบรรเทารายจ่ายภาษีลง สำหรับผลกระทบจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะมีต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสรุปได้ดังนี้

       1. ผู้ประกอบการที่ใช้ที่อยู่อาศัยมาทำธุรกิจ คือ ใช้อาคารเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและเป็นสำนักงานหรือค้าขาย เช่น ร้านขายอาหาร ร้านค้าปลีก ร้านเสริมความงาม ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้างจะมีการจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนการใช้ประโยชน์ แยกกันระหว่างส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยและส่วนที่ใช้เพื่อการพาณิชย์

       2. ผู้ประกอบการที่มีการสะสมหรือครอบครองที่ดินเป็นจำนวนมาก โดยผู้ประกอบการที่มีที่ดินรกร้างว่างเปล่าจำนวนมาก ซึ่งเป็นที่ดินที่ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ใดๆ จะโดนเรียกเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าที่ดินประเภทอื่น นอกจากนี้ยังมีการกำหนดภาษีในรูปแบบขั้นบันไดตามจำนวนปีที่ปล่อยที่ดินให้รกร้างหรือไม่ทำประโยชน์ โดยเริ่มจากอัตราร้อยละ 1.2 ในช่วง 1-3 ปีแรก และหากยังไม่มีการใช้ประโยชน์จากที่ดินก็จะปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในทุกๆ 3 ปี

       3. การเช่าสำนักงานหรืออาคารในการประกอบกิจการ เจ้าของที่ดินหรืออาคารอาจจะให้ผู้เช่าเป็นคนจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือในกรณีเจ้าของที่ดินหรืออาคารเป็นคนจ่ายภาษีเอง ก็อาจจะมีการผลักภาระภาษีไปให้ผู้เช่าด้วยการปรับขึ้นราคาค่าเช่าได้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เช่าอาคารหรือสำนักงานในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ เช่น สุขุมวิท สีลม หรือรัชดาภิเษก จะมีภาระภาษีที่ต้องจ่ายสูงขึ้นเนื่องจากที่ดินในทำเลดังกล่าวมีมูลค่าสูง ทำให้มูลค่าทุนทรัพย์ที่นำมาคำนวณเป็นอัตราภาษีที่ต้องชำระสูงขึ้น 

       4. บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ คือ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะมีภาระรายจ่ายในภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น เนื่องจากการชำระภาษีในรูปแบบบุคคลธรรมดา ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายด้านภาษีมาหักลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายได้ ต่างจากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลที่สามารถนำค่าใช้จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาหักเป็นรายจ่ายของบริษัท ดังนั้นหากผู้ประกอบการต้องการเปลี่ยนมาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายในปีนี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับธุรกรรมการโอนอสังหาริมทรัพย์และธุรกรรมการโอนห้องชุดของผู้ถือหุ้นเพื่อชำระค่าหุ้น จากร้อยละ 2 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ เป็นร้อยละ 0.01 ให้แก่นิติบุคคลที่จัดตั้งใหม่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560

       ดังนั้นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดของ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 พร้อมกับเริ่มต้นสำรวจทรัพย์สินของตนเอง เพื่อวางแผนลดภาระภาษีได้อย่างทันท่วงที เพราะการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องนับเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดของธุรกิจ


สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง :
สินเชื่อและบริการยอดฮิต​