ในวิกฤต มีโอกาส : ในโอกาส มีกองทัพคู่แข่ง
ทุกครั้งที่มีวิกฤต ย่อมต้องมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ เช่นเดียวกับในวิกฤต COVID-19 ที่มีโอกาสของธุรกิจสุขภาพเติบโตอย่างมหาศาล จากที่ผู้คนให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพอยู่แล้ว แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดอย่างหนัก ยิ่งกระตุ้นให้ผู้บริโภคดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้นไปอีก
จึงไม่แปลกใจที่ “เทรนด์สุขภาพและความปลอดภัย” จะติดอันดับเทรนด์แรงประจำปี
ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ทั้งในเชิงการป้องกันและการรักษา กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจดาวเด่นของปี 2564 ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัย และการแพทย์ เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมของคนที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น
สะท้อนได้จากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 68 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 114 ราย ในปี 2563, ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์
ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 945 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 1,158 ราย ในปี 2563 เป็นต้น
เดินเกมธุรกิจสุขภาพอย่างไร? ในภาวะการแข่งขันสูง
เพราะใครๆ ก็เห็นโอกาส ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่กระโดดเข้าสู่ตลาดสุขภาพเป็นจำนวนมาก เมื่อผู้เล่นเพิ่มขึ้น การแข่งขันก็สูงเป็นเงาตามตัว ฉะนั้น ถ้าใครอยากคว้าโอกาสในตลาดที่กำลังร้อนแรงสุดๆ ในเวลานี้ มีคำแนะนำมาฝากกัน
- คุณภาพสินค้า ต้องมาที่หนึ่ง
ไม่ว่าจะผู้เล่นหน้าใหม่ หรือรายเก่า ถ้าจะทำธุรกิจสุขภาพ เรื่องของคุณภาพสินค้า ต้องนำหน้ามาก่อนเสมอ หลายครั้งในตลาดที่กำลังเติบโต หรือมีความต้องการของผู้บริโภคมาก มักจะมีการแข่งขันตัดราคาเพื่อช่วงชิงลูกค้าให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ซึ่งผลของการตัดราคาเพื่อให้ได้ถูกที่สุด มักจะมาพร้อมกับการลดคุณภาพสินค้าลง ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงสงครามราคา แต่ให้คงไว้ซึ่งคุณภาพ ในราคาที่สมเหตุสมผล
- ชัดเจน ถูกต้อง โปร่งใส
ในสถานการณ์ที่คนตื่นกลัวโรคระบาดและมีข่าวสารออกมามากมายในเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งมีทั้งข้อมูลจริงและเท็จ ดังนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจสุขภาพต้องใส่ใจในเรื่องนี้อย่างมาก ด้วยการให้ข้อมูลที่ชัดเจน
ถูกต้อง และโปร่งใส
ผลิตภัณฑ์ : การให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีวิธีการใช้งานหรือบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสมอย่างไร โดยที่ตัวสินค้าสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรงได้ จะช่วยให้ผู้บริโภคได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด
การตลาด :
การสื่อสารไปถึงผู้บริโภคก็เช่นกัน ต้องทำอย่างถูกต้อง โปร่งใส ไม่โฆษณาเกินจริง หรือหลอกลวงผู้บริโภค โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารและยาที่ต้องมีการบริโภคเข้าปาก ต้องมีใบขออนุญาตโฆษณาอาหาร (ฆอ.) ซึ่งเป็นใบรับรองว่าผลิตภัณฑ์ที่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ
นั้น ไม่ได้มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงแต่อย่างใด สามารถเชื่อถือข้อความนั้นๆ ได้ โดยผู้บริโภคสามารถสังเกตข้อความ “ฆอ. …./….” ซึ่งจะต้องปรากฏอยู่ในชิ้นงานโฆษณา หากผู้ประกอบการไม่ได้ดำเนินการขอ ฆอ.ให้ถูกต้อง จะมีความผิดถึงขั้นจำคุกได้
- ส่งตรงออนไลน์ถึงบ้านลูกค้า
การจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพผ่านออนไลน์ ถือเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายในยุคที่ลูกค้าต้องอยู่บ้านเป็นหลัก ไม่สามารถเดินทางได้สะดวก แต่ผู้ประกอบการต้องรู้ด้วยว่า ไม่ใช่สินค้าเพื่อสุขภาพทุกอย่างจะขายผ่านออนไลน์ได้
หากเป็นสินค้าสุขภาพทั่วไป รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้ประกอบการสามารถขายผ่านออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ อย่าง Shopee, Lazada ได้ แต่ถ้าเป็นสินค้าประเภทยา จะไม่สามารถจำหน่ายได้ ยกเว้นกรณี เป็นการสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ที่เป็น Official
ของบริษัทโดยตรง และต้องมีใบอนุญาตขายยา เป็นการจำหน่ายตรงจากบริษัทถึงลูกค้า
- การตลาดปากต่อปาก คือดีที่สุด
การถือสินค้ารีวิวจาก Influencer หรือคนในสังคมออนไลน์ ในอดีตอาจเคยเป็นรูปแบบการตลาดที่ได้ผลดีสำหรับกลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพ แต่ปัจจุบันวิธีการตลาดดังกล่าว เริ่มไม่เห็นผลเท่าที่ควร
เพราะผู้บริโภคไม่เชื่อมั่นและรู้ว่าเป็นการว่าจ้างเพื่อช่วยในการโปรโมตสินค้า เรียกได้ว่า การตลาดที่เวิร์กสุดในยุคนี้ คือการตลาดแบบเบสิก อย่างการบอกต่อปากต่อปากของผู้บริโภคด้วยกันเอง โดยที่มีคุณภาพของตัวสินค้าเป็นหัวใจสำคัญ
ถึงตอนนี้ธุรกิจสุขภาพจะมาแรงแซงหน้าทุกธุรกิจ แต่อย่ามองแค่ผลกำไร เพราะธุรกิจนี้จะอยู่รอดได้ ต้อง “จริงใจ” กับลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงเท่านี้ เทรนด์สุขภาพยังไปได้อีกไกล แม้ COVID-19 จะจบ แต่แนวโน้มการดูแลสุขภาพของคนทั่วโลกมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เพราะนี่คือ เมกะเทรนด์ระดับโลกที่จะอยู่ไปตลอด และกลายเป็นโอกาสระยะยาวของธุรกิจสุขภาพ