บริการปรึกษา

ให้คำปรึกษาทุกเรื่องการเงินช่วยให้ฝันเป็นไปได้ ด้วยข้อมูลที่เข้าใจง่าย และทำได้จริง

คำถามที่พบบ่อย

อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง จะกู้เงินมาทำดีมั้ยนะ

แนะนำว่า ทำธุรกิจควรเริ่มจากเงินทุนส่วนตัวก่อนอย่ารีบร้อนใช้เงินกู้ เพราะการทำธุรกิจในช่วงแรกรายได้มักไม่มั่นคง บางเดือนขายได้มาก บางเดือนขายได้น้อย

ขณะที่การกู้เงินมีดอกเบี้ยและการผ่อนชำระแน่นอน แม้ว่าการใช้เงินทุนส่วนตัวในการทำธุรกิจในช่วงแรก อาจทำให้ธุรกิจเติบโตช้า แต่ก็เป็นการจำกัดและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากธุรกิจล้มเหลว เพราะอย่างน้อยเราก็สูญเสียเฉพาะเงินของตัวเอง โดยไม่มีภาระหนี้สินตามมา

แต่ถ้าต้องการกู้เงินจริงๆ โดยเฉพาะการกู้เงินระยะสั้น จะต้องดูว่าดอกเบี้ยจ่ายคุ้มกับกำไรที่ได้จากการขายในช่วงสั้นๆ นั้นมั้ย และอย่าลืมดูเรื่องความเสี่ยงที่อาจขายสินค้าไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ถ้าธุรกิจเติบโต เราก็สามารถกู้เงินเพื่อลงทุนเพิ่มในธุรกิจ แต่ไม่ใช่ว่าจะกู้ก็กู้ได้เลย เพราะธนาคารจะมีการประเมินศักยภาพของธุรกิจ และความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ของเรา ดังนั้น เราควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ เพื่อช่วยให้การขอสินเชื่อง่ายขึ้น ด้วยการทำบัญชีรับจ่ายของธุรกิจ เดินบัญชีธนาคารอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญ แยกบัญชีและเงินของธุรกิจออกจากส่วนตัว

ถ้าหลังเกษียณต้องอยู่เป็นโสดคนเดียว ควรวางแผนเตรียมตัวยังไงดี

ถ้าวางแผนว่าหลังเกษียณจะอยู่เป็นโสด นอกจากจะต้องเก็บออมเงินให้เพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณแล้ว ก็ยังมีเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมในการดูแลตัวเองต่อไปนี้ครับ

1. ดูแลสุขภาพ

ด้วยการทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดโอกาสในการเจ็บป่วย และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล การทำประกันสุขภาพ ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

2. เตรียมเงินสำหรับท่องเที่ยว

เพราะหลังเกษียณอาจต้องการไปเที่ยวพักผ่อน สังสรรค์กับเพื่อนๆ ซึ่งการเข้าสังคมพบปะเพื่อนฝูง จะช่วยให้ชีวิตไม่รู้สึกเหงาได้ครับ

3. เลือกที่อยู่หลังเกษียณ

ถ้าเกษียณที่บ้านของตัวเอง อาจต้องจ้างคนมาดูแล เพื่อคอยช่วยเหลือให้การดำเนินชีวิตประจำวันสะดวกสบายมากขึ้น หรือการอยู่บ้านพักผู้สูงอายุ ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ก็จะต้องเตรียมเงินเป็นค่าแรกเข้า และค่าบำรุงรายเดือน โดยบ้านพักผู้สูงอายุที่ขอแนะนำ เช่น สวางคนิเวศ ของสภากาชาดไทย วาสนะเวศม์ ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

ลองวางแผนดูนะครับ จะได้เตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข

เงินเดือน 40,000 บาท จะกู้บ้านได้เท่าไร แล้วมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง จะได้เตรียมเงินไว้ให้พอ

เงินเดือน 40,000 บาท จะกู้ได้วงเงินประมาณ 2.7 ล้านบาท และโดยทั่วไปธนาคารจะให้วงเงินกู้สูงสุด 80% ของราคาบ้าน ดังนั้น ถ้ากู้ซื้อบ้านก็ต้องเตรียมเงินสำหรับดาวน์บ้านอย่างน้อย 20% ของราคาบ้าน เช่น ซื้อบ้าน ราคา 3 ล้านบาท ต้องเตรียมเงินก้อนเพื่อดาวน์บ้านประมาณ 6 แสนบาท

ในการกู้บ้าน สิ่งที่ตามมาก็คือ ค่าผ่อนบ้านในแต่ละงวด โดยทั่วไปภาระผ่อนหนี้ทั้งหมดไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน เพื่อป้องกันปัญหาการเงินที่อาจตามมาในอนาคต

นอกจากเงินดาวน์บ้านที่ต้องเตรียมแล้ว อย่าลืมเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าจดจำนองกับกรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ ค่าโอน 2% ของราคาประเมิน (ค่าโอนขึ้นอยู่กับผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกัน) ค่าประเมินหลักประกันที่จ่ายให้ธนาคารประมาณ 2,700 บาท ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน และยังมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน เหมือนค่าผ่อนบ้าน เช่น ค่าส่วนกลาง มิเตอร์น้ำ/ไฟ (ค่าส่วนกลางขึ้นอยู่กับแต่ละโครงการ)

K-Expert แนะนำว่า การเป็นเจ้าของบ้านสักหลังไม่ใช่เรื่องยาก ขอเพียงเตรียมเงินให้พร้อมสำหรับค่าผ่อนบ้าน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมา

จะนำบัตรเครดิตไปใช้ต่างประเทศต้องทำอย่างไรบ้าง?

บัตรเครดิตที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะใช้ได้ทั่วโลกอยู่แล้ว ถ้ามีสัญลักษณ์ Visa หรือ Master แม้กระทั่งบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ์ Visa ก็นำไปใช้ต่างประเทศได้

คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่จะเดินทางต่างประเทศ

1.ถ้าแลกเงินที่เคาน์เตอร์ธนาคารสามารถใช้บัตรเครดิตได้ ไม่มีค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น ถึงรอบเรียกเก็บก็ชำระตามปกติพร้อมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็ไม่เกิดดอกเบี้ย

2.ตรวจสอบโปรโมชั่นบัตรเครดิตที่มีอยู่ก่อนที่จะซื้อตั๋วเครื่องบิน เพื่อสะสมคะแนนหรือแลกของรางวัลเพราะเป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

3.อย่าลืมซื้อประกันสำหรับการเดินทางต่างประเทศ ค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับ 14 วัน เพียง 865 บาท ความคุ้มครองที่ได้รับ เช่น

• อุบัติเหตุส่วนบุคคล

• ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ

• การบอกเลิกการเดินทาง

• การล่าช้าของการเดินทาง

• การสูญเสียหรือเสียหายของกระเป๋าเดินทาง

• การล่าช้าของกระเป๋าเดินทาง เป็นต้น

ขอคำแนะนำหลักการออมเงิน

1. วางแผนรายจ่ายแต่ละเดือนว่าจะใช้ประมาณเท่าไหร่? เมื่อเงินเดือนออกให้เหลือเงินไว้ในบัญชีตามจำนวนรายจ่ายที่ได้วางแผนไว้ ส่วนที่เกินให้กันออกไปเป็นเงินออม (อย่างน้อย 15% ของรายได้) ใช้หลักการออมก่อนใช้

2. จัดสรรเงินออมไปลงทุนในสินทรัพย์ 3 ประเภท คือ สินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง / สินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง / สินทรัพย์ความเสี่ยงสูง

• เงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นจำนวน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน นำไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ สภาพคล่องสูง ได้แก่ กองทุนตลาดเงิน และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยลงทุนในกองทุนตลาดเงินเป็นจำนวน 5 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน และฝากในบัญชีออมทรัพย์ 1 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน

• สินทรัพย์ความเสี่ยงปานกลาง เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ จะมีกำหนด Term เช่น 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน หรือ จะเป็นกองทุนเปิดโดยทั่วไป จะให้ผลตอบแทนประมาณ 2.50 – 5.00% ต่อปี

• สินทรัพย์ความเสี่ยงสูง เช่น กองทุนรวมหุ้น แต่จะลงทุนในตราสารหนี้เท่าไหร่ กองทุนรวมหุ้นเท่าไหร่ ขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แต่ถ้าใครไม่สะดวกที่จะไปจัดสรรเองก็สามารถลงทุนในกองทุนผสม โดยกองทุนเดียวจะผสมตราสารหนี้ และหุ้นมาให้เลย มีให้เลือกตามช่วงอายุ เช่น ใครที่อายุน้อยๆ หรือ รับความเสี่ยงได้สูง อาจจะลงทุนใน K-Lifestyle 2530 ซึ่งเป็นกองทุนผสมสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง เพราะจะลงทุนในหุ้นไม่เกิน 50% ส่วนที่เหลือจะลงทุนในตราสารหนี้

• การเลือกว่าจะลงทุนกองทุนกองใดนั้น แนะนำให้ดูรายละเอียดของแต่ละกองทุนด้วย ว่าลงทุนในหุ้นตัวใดบ้าง เราชอบหรือเหมาะกับเราหรือไม่ เพราะบางกองทุนอาจจะลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ บางกองทุนลงทุนในหุ้นขนาดเล็ก บางกองทุนลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เป็นต้น

• หลักการสำคัญอีกข้อคือ ให้ทยอยลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อย่าลงทุนครั้งเดียว จะได้กระจายความเสี่ยงด้านราคาด้วย แต่ถ้ามีเงินลงทุนเป็นเงินก้อนอยู่แล้ว ให้เริ่มต้นโดยการนำเงินที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงไปลงทุนในกองทุนตลาดเงินก่อน หลังจากนั้นทยอยสับเปลี่ยนไปกองทุนรวมหุ้นสัปดาห์ละ 5-10% จนครบตามจำนวนที่วางแผนไว้

• คอยติดตามพอร์ตการลงทุนของตัวเองทุกๆ 6 เดือน เพื่อทำการปรับสัดส่วนของสินทรัพย์แต่ละประเภทให้เหมาะสม สมมติว่าตั้งเป้าหมายที่จะลงทุนในกองทุนหุ้น 50% เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือน สัดส่วนของกองทุนหุ้นเป็น 55% จะต้องทำการย้ายเงินลงทุนส่วนของกองทุนหุ้น 5% ที่เพิ่มขึ้นมานั้น ไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้แทน หรือในทางกลับกัน ถ้าสัดส่วนของกองทุนหุ้นลดลงเหลือ 45% ก็ให้ย้ายเงินลงทุนจากกองทุนตราสารหนี้ 5% มาเพิ่มเป็นกองทุนหุ้น เพื่อให้สัดส่วนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เป็นไปตามที่วางแผนไว้