10 ก.ย. 64

ติดโควิด-แม้ไม่นอนโรงพยาบาลก็เบิกได้

คะแนนเฉลี่ย

ประกัน

​ติดโควิด-แม้ไม่นอนโรงพยาบาลก็เบิกได้​


          จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในบ้านเราที่มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอกับความต้องการในการรักษา จึงมีการนำแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่บ้านหรือในชุมชนมาใช้ แนวทางการรักษาที่ว่านี้คืออะไร หากเราติดโควิด-19 แล้วต้องรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน ประกันสุขภาพที่มีอยู่จะเบิกค่ารักษาที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ แบบไหนถึงเรียกว่าเข้าเงื่อนไข มาเช็กรายละเอียดไปพร้อมกัน



การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แบบ Home Isolation และ Community Isolation คืออะไร
  การดูแลรักษาแบบ Home Isolation หมายถึง การให้บริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ กรณีที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการพิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้ผู้ป่วยรายนั้นสามารถแยกกักตัวในที่พักได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย โดยได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและเจ้าของสถานที่ รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยรักษาในหน่วยบริการ และกลับมาแยกกักตัวในที่พักต่อจนครบกำหนด ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 

          การดูแลรักษาแบบ Community Isolation ความหมายคล้ายกับการดูแลรักษาแบบ Home Isolation แต่เป็นการแยกกักตัวในชุมชน เช่น ในโรงงาน ในวัด ทั้งผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล หรือกลับมาดูแลรักษาต่อจากโรงพยาบาลจนครบกำหนด โดยจัดให้มีพื้นที่เอกเทศในชุมชนสำหรับแยกกักตัวผู้ติดเชื้อ ซึ่งได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและเจ้าของสถานที่ในการจัดเตรียมสถานที่เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด


ประกันสุขภาพให้ความคุ้มครองการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation หรือไม่​
          สำหรับคนที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้ว หากติดโควิด-19 แล้วต้องรักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษา เพราะทางเมืองไทยประกันชีวิต ได้ขยายความคุ้มครองสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 และมีการดูแลรักษาแบบ Home Isolation และแบบ Community Isolation ทั้งในส่วนของสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพรายบุคคลและประกันสุขภาพรายกลุ่ม โดยให้ความคุ้มครองจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 เรียกว่า แม้ติดโควิด แต่ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลก็สามารถเบิกค่ารักษาจากประกันสุขภาพได้เช่นกัน


แบบไหนถึงได้รับความคุ้มครองเมื่อเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation 
          1. เป็นผู้ป่วยลงทะเบียน Home Isolation หรือ Community Isolation ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
          2. มีสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพรายบุคคล หรือประกันสุขภาพรายกลุ่ม แบบผู้ป่วยใน (IPD) หรือผู้ป่วยนอก (OPD) หรือแบบค่าชดเชยรายวัน (HB) ที่มีผลบังคับตามเงื่อนไขของกรมธรรม์กับบริษัทฯ


เงื่อนไขความคุ้มครองการรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation เป็นอย่างไร
          ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยนอก (OPD)
               ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย

          ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD)
               อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย ได้แก่
                    • ค่าแพทย์ตรวจรักษา (ค่าแพทย์ Telemedicine)
                    • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์)

          ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลแบบผู้ป่วยใน (IPD) และมีผลประโยชน์ผู้ป่วยนอก (OPD)
               อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย โดยให้ความคุ้มครองในส่วนของผลประโยชน์ OPD ก่อน และถ้ามีส่วนเกินจากผลประโยชน์ OPD บริษัทจะจ่ายต่อในผลประโยชน์ IPD ได้แก่
                    • ค่าแพทย์ตรวจรักษา (ค่าแพทย์ Telemedicine)
                    • ค่ารักษาพยาบาลทั่วไป (ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ทางการแพทย์)

          ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน (HB)
               จ่ายค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน ตามความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์แนวทางที่สาธารณสุขกำหนด แต่ไม่สามารถหาเตียงหรือไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยจ่ายไม่เกิน 14 วัน


เอกสารที่ใช้ในการเรียกร้องผลประโยชน์มีอะไรบ้าง
          1. ใบรายงานผลตรวจ RT-PCR หรือ ใบรายงานผลตรวจ Antigen Test Kit จากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่ตรวจเชื้อโควิด-19
          2. ใบเสร็จรับเงินฉบับจริงที่แสดงค่าใช้จ่ายจากสถานพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐ
          3. ใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยสถานพยาบาลที่ให้บริการ Home Isolation หรือ Community Isolation แก่ผู้เอาประกันภัยที่ระบุรายละเอียดโรคและการรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19


          สำหรับคนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ ในสถานการณ์เช่นนี้อยากให้ลองมองหาประกันสุขภาพสักฉบับไว้เพื่อความอุ่นใจ แต่หากยังไม่พร้อมทำประกันสุขภาพตอนนี้ก็ไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี เช่น สิทธิประกันสังคมเบิกจ่ายกับสำนักงานประกันสังคม สิทธิข้าราชการเบิกจ่ายจากกรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกจ่ายกับ สปสช. รวมถึงจ่ายค่าอุปกรณ์สำหรับการรักษาตัวแบบ Home Isolation หรือ Community Isolation อีกด้วย

คำเตือน: โปรดศึกษารายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไขและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทำประกันภัยทุกครั้ง 

ที่มา:
ขอบคุณข้อมูลเรื่อง “ไขข้อข้องใจ Home & Community Isolation แบบไหนเข้าเงื่อนไขบ้าง” จากเมืองไทยประกันชีวิต


บทความที่เกี่ยวข้อง :

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง :



ให้คะแนนบทความ

สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย