สินเชื่อ/ธุรกิจ
เริ่มต้นธุรกิจ.. เตรียมตัวอย่างไรให้กู้ผ่าน
เวลายื่นขอกู้เงินไม่ว่าจะเพื่อทำธุรกิจหรือวัตถุประสงค์อะไร ผู้กู้มักคาดหวังให้แบงก์อนุมัติกันทั้งนั้น จะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการสมัครงานซึ่งผู้สมัครก็ลุ้นอยากได้งานทำ ส่วนผู้รับสมัครก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อคัดเลือกคนที่คิดว่าใช่เข้ามาร่วมงานด้วย ดังนั้น จึงมีทั้งคนที่ได้รับอนุมัติและถูกปฏิเสธ
การอนุมัติสินเชื่อช่วยให้เจ้าของกิจการโล่งอกเพราะได้เงินทุนไปดำเนินธุรกิจต่อ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจเพราะแปลว่ากำลังมีภาระการเงินที่ต้องรับผิดชอบ ส่วนผู้ที่ได้รับการปฏิเสธนั้นก็ไม่ต้องเสียใจ อยากให้มองว่าการที่แบงก์ไม่ปล่อยกู้ให้นั้นถือเป็นคำแนะนำอย่างหนึ่ง กล่าวคือเป็นการบอกว่าเรายังไม่พร้อมที่จะเป็นผู้กู้ หากแบงก์ฝืนยอมให้ไปแล้วแบงก์เองก็จะขาดทุน ส่วนผู้กู้เองก็จะกลายเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้การขอสินเชื่อในอนาคตได้ยากขึ้น และยังเกิดปัญหาความเครียดเนื่องจากต้องหาเงินมาจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูง
ปัจจัยที่แบงก์ใช้พิจารณาว่าจะให้กู้หรือไม่นั้นมีอยู่หลายประการ บทความนี้หยิบบางส่วนเพื่อเป็นข้อแนะนำให้กับผู้ประกอบการมือใหม่หรือ Start-Ups ฟังเป็นหลัก สำหรับกลุ่มนี้แบงก์จะให้ความสำคัญกับ ความสามารถในการทำธุรกิจ เพราะจากสถิติในไทยและต่างประเทศเองก็มีตัวเลขใกล้เคียงกัน คือมือใหม่ราวร้อยละ 80 จะปิดกิจการลงภายในปีแรก ส่วนที่เหลือร้อยละ 20 นั้นก็มีเพียงครึ่งหนึ่งที่จะอยู่รอดในอีกสองปีถัดไป สรุปคือผ่านไปสองสามปีจะมีคนเหลือรอดทำธุรกิจต่อได้แค่หนึ่งในสิบเท่านั้น
ที่เป็นเช่นนี้เพราะโมเดลธุรกิจมักยังไม่เข้าที่เข้าทางในช่วงปีแรกๆ กล่าวคือกิจการต้องใช้เงินทุนไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การจ้างพนักงาน หรืออุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ขณะเดียวกันฐานลูกค้ามีจำนวนน้อยหรือเป็นลูกค้าขนาดเล็กทำให้สร้างรายได้ไม่มากนัก บางรายหันลดราคาทำให้ได้ยอดขายแต่สุดท้ายแทบไม่มีกำไร บางรายยอมให้เครดิตเทอมกับลูกค้าซึ่งอาจเกิดปัญหาเงินหมุนเวียนขาดมือ บางรายสั่งซื้อของมาตุนเยอะๆ เพื่อให้ต้นทุนต่ำลงแต่ขายออกไม่หมดทำให้เกิดปัญหาเงินทุนจม เป็นต้น
ดังนั้น เกณฑ์ที่แบงก์กำหนดโดยทั่วไปคือ กิจการที่จะขอกู้ได้ต้องมีประสบการณ์ในธุรกิจนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี อย่างไรก็ดี เงื่อนไขประสบการณ์นี้พอยกเว้นได้หากจะกู้เพื่อไปซื้อแฟรนไชส์ เพราะแบงก์มองว่าความเสี่ยงอยู่ที่โมเดลธุรกิจของผู้ขายแฟรนไชส์ (Franchisor) มากกว่าผู้กู้ นอกจากนี้ ผู้ขายแฟรนไชส์ที่ดีจะมีกระบวนการคัดเลือกที่เข้มงวด ทั้งการพิจารณาทำเลที่ตั้ง การสอบถามทัศนคติและความพร้อมด้านเวลา รวมทั้งกำหนดให้เข้าคอร์สอบรมเป็นเวลาหลายเดือน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ซื้อจะไม่ทำแบรนด์แฟรนไชส์ของตนเองเสียหาย แบงก์เองจะกำหนดรายชื่อผู้ขายแฟรนไชส์ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมไว้ โดยหากกิจการแฟรนไชส์นั้นอยู่ในลิสต์แล้วแม้ผู้ขอกู้จะไม่มีประสบการณ์ก็ยังกู้ได้
อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่อง ความสามารถในการชำระหนี้ โดยทั่วไปมักกำหนดว่าต้องมีกำไรแต่ละเดือนควรมากกว่าภาระการผ่อนจำนวน 1.2 เท่า เช่น หากต้องผ่อนหนี้เดือนละ 10,000 บาท ธุรกิจนั้นๆ ควรมีกำไรอย่างน้อยเดือนละ 12,000 บาทต่อเดือนจึงมีโอกาสกู้ผ่าน ประเด็นที่มือใหม่มักเข้าใจผิดคือคิดว่าแบงก์จะดูที่งบการเงินว่ามีกำไรเท่าใด ซึ่งก็ถูกแต่ไม่หมด แบงก์จะขอดูรายการในสมุดบัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์หรือกระแสรายวัน (Bank Statement) ด้วยว่ามีเงินเข้าออกเท่าใด หากมีเงินเข้าอย่างสม่ำเสมอและเงินเข้ามากกว่าออกก็พอจะบอกเป็นนัยได้ว่าทำธุรกิจได้ดีมีเงินใช้
ผู้ขอกู้มือใหม่มักพลาดในจุดนี้ คือเมื่อขายของแล้วได้เงินมาก็ไม่นำไปเข้าบัญชีหรือเข้าบ้างไม่เข้าบ้าง ทำให้แบงก์ไม่อาจมั่นใจได้ว่าธุรกิจนี้มียอดขายสม่ำเสมอหรือไม่ สุดท้ายจึงปฏิเสธการให้สินเชื่อเพราะเกรงจะเป็นกลุ่มเก้าในสิบ เรื่องนี้จึงกลายเป็นข้อเตือนใจสำหรับผู้ประกอบการ คือต้องนำเงินเข้าบัญชีอย่างสม่ำเสมอหลังจากขายสินค้า ถ้าไม่มีเวลาไปธนาคารทุกวันก็ขอเป็นทุกสุดสัปดาห์ก็จะดีมาก
สิ่งที่จะกล่าวถึงประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของ นโยบายการให้สินเชื่อของธนาคาร แม้กิจการจะมีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ งบการเงินดี ผู้บริหารมีประสบการณ์ แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าจะกู้ผ่านเสมอไป เนื่องจากแบงก์แต่ละแห่งจะกำหนดนโยบายเป็นการภายในว่าจะปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมใดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไปตามภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม และแม้เป็นอุตสาหกรรมที่ดีแต่แบงก์นั้นๆ ปล่อยกู้ไปมากแล้วก็อาจไม่พิจารณาปล่อยกู้เพิ่มแต่อย่างใด ทำให้กิจการที่ดีถูกปฏิเสธสินเชื่อ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่แบงก์ไม่ต้องการให้กู้เพิ่ม ดังนั้น ถ้าจะเพิ่มโอกาสกู้ผ่านก็ต้องลองยื่นกู้กับแบงก์อย่างน้อยสองแห่ง
ดังนั้น การจะขอสินเชื่อให้ผ่านนั้นก็ต้องแสดงให้แบงก์เห็นว่าเรามีประสบการณ์ และมีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะหากตัวเราในฐานะคนทำธุรกิจเองยังไม่มั่นใจว่าจะไปรอดหรือไม่ จะไปหวังให้แบงก์มั่นใจด้วยคงเป็นเรื่องยาก