16 พ.ค. 62

4 เทคนิคหมุนเงินให้คล่อง สำหรับ SME

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อ/ธุรกิจ
​​​​​​​​​​4 เทคนิคหมุนเงินให้คล่อง สำหรับ SME


​          สำหรับผู้ประกอบการ SME เงินสดถือเป็นสภาพคล่องหลักในการดำเนินธุรกิจ เปรียบเสมือนกระแสเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างมั่นคง สุขภาพของธุรกิจจะดีหรือไม่สามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ โดยดูจากปริมาณเงินสดที่หมุนเวียนเข้าออกธุรกิจในแต่ละวัน แต่ละเดือน ซึ่งพอจะบอกได้ว่าธุรกิจของเรากำลังไปได้ดี กำลังขยายใหญ่ขึ้น หรือกำลังประสบปัญหาหมุนเงินสดไม่ทันมาจ่ายเจ้าหนี้ ยิ่งทำ ยิ่งเครียด ยิ่งทำ ยิ่งต้องใช้เงินเพิ่ม ดังนั้น เรื่องการบริหารเงินสดและสภาพคล่องเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ สำหรับธุรกิจ SME ที่อาจจะส่งผลให้ธุรกิจของคุณอยู่รอด เติบโตหรือต้องหยุดชะงักและปิดตัวลง


          ธุรกิจของเราต้องมีเงินสดเป็นทุนสำรองไว้ใช้จ่ายในธุรกิจเท่าไร หลักๆ ขึ้นอยู่กับว่า
               • สต๊อกสินค้าจะขายได้เมื่อไร 
               • ลูกหนี้จะชำระเงินเมื่อไร 
               • ต้องจ่ายเงินเจ้าหนี้เมื่อไร 
          การหาคำตอบจากทั้ง 3 คำถามนี้ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้โดยไม่สะดุด คำนวณได้จากการคิดวงจรเงินสดจากปริมาณเงินสดที่ธุรกิจรับจริงจ่ายจริงในแต่ละเดือน ดังนี้

เงินหมุนเวียนในธุรกิจ (บาท) = ลูกหนี้การค้า + มูลค่าสต๊อกสินค้า – เจ้าหนี้การค้า

​          เรามาทำความเข้าใจวิธีคิดของแต่ละตัวแปรก่อนที่จะนำไปคำนวณหาจำนวนเงินหมุนเวียน เพื่อใช้สำรองในการทำธุรกิจดังนี้
                    ลูกหนี้การค้า = ยอดขายต่อเดือน X สัดส่วนการขายเชื่อ X ระยะเวลาเฉลี่ยของการเก็บหนี้ (เดือน)
                    มูลค่าสต๊อกสินค้า = ต้นทุนขายต่อเดือน X ระยะเวลาเก็บสินค้าในสต๊อก (เดือน)
                    เจ้าหนี้การค้า = ต้นทุนขายต่อเดือน X สัดส่วนการซื้อเชื่อ X ระยะเวลาเฉลี่ยของการจ่ายหนี้ (เดือน)

ขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น 

          คุณไฉไล ทำธุรกิจขายเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยยอดขายต่อเดือนอยู่ที่ 300,000 บาท มีทั้งขายเป็นเงินสดและทำโปรโมชัน เช่น ผ่อน 0% หรือนำสินค้าไปใช้ก่อน จ่ายทีหลัง โดยมีสัดส่วนการขายเป็นเงินสดและทำโปรโมชันอย่างละครึ่ง ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วระยะเวลาของการเก็บหนี้อยู่ที่ 4 เดือน คุณไฉไล ได้สั่งของจากบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนละ 200,000 บาท โดยได้รับ credit term จากบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวน 3 เดือน หรือแปลได้ง่ายๆ ว่า ซื้อก่อนจ่ายทีหลังนั่นเอง เช่น สั่งของต้นเดือนมกราคม ชำระเงินสิ้นเดือนมีนาคม เมื่อครบกำหนดถึงวันชำระหนี้ สต๊อกสินค้าจะอยู่ที่ร้านคุณไฉไล ประมาณ 2 เดือน เราลองคำนวณหาจำนวนเงินหมุนเวียนในธุรกิจของคุณไฉไล ได้ดังนี้

                                                                      ลูกหนี้การค้า = 300,000 X 50% X 4 เดือน = 600,000 บาท     
                                                                                                      (ยอดขายผ่อน) 

                                                                      มูลค่าสต๊อกสินค้า = 200,000 X 2 เดือน = 400,000 บาท

                                                                      เจ้าหนี้การค้า = 200,000 X 100% X 3 เดือน = 600,000 บาท 
                                                                                                      (ยอดซื้อผ่อน)


          ดังนั้น เงินหมุนเวียนในธุรกิจ (บาท) = 600,000 + 400,000 – 600,000 = +400,000 บาท ตัวเลขนี้หมายความว่า ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าของคุณไฉไล ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มอีก 400,000 บาท หากตัวเลขวงจรเงินสด เป็นบวกเยอะๆ แสดงถึงสุขภาพทางธุรกิจที่ไม่ดีนัก เพราะต้องสำรองเงินเยอะๆ ยิ่งยอดขายเยอะ ยิ่งต้องเติมเงินเยอะ แต่ถ้าตัวเลขติดลบ แสดงว่าธุรกิจมีสุขภาพของเงินทุนหมุนเวียนที่ดี เพราะสามารถนำเงินที่ค้างเจ้าหนี้การค้ามาหมุนได้ก่อน 

          เทคนิคสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จะช่วยเสริมเงินทุนหมุนเวียนสภาพคล่องให้ไหลลื่นและดีขึ้นมีง่ายๆ 4 ข้อดังนี้

          1. รับเงินให้ไว เก็บเงินสด
การขายถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ เงินทุนหมุนเวียนที่ไม่เพียงพอของธุรกิจมักเกิดจากการเปลี่ยนลูกค้าเป็นลูกหนี้การค้า จากที่ลูกค้าซื้อเงินสดเป็นซื้อเงินเชื่อ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการต้องสำรองเงินในส่วนนี้เพื่อใช้หมุนในธุรกิจเพิ่มเติม การขายเป็นเงินสด รับเงินทันทีทำให้สภาพคล่องของธุรกิจไม่ขาดมือ มีเงินสำรองเพียงพอเพื่อไปซื้อสต๊อกสินค้าหรือชำระเจ้าหนี้ และที่สำคัญที่สุดช่วยปิดความเสี่ยงจากการเก็บหนี้ไม่ได้ อาจเริ่มให้รับเงินไวขึ้นเพื่อให้ได้สภาพคล่องมาหมุนได้ดีขึ้น หรือจากที่ผู้ประกอบการเคยให้เครดิตลูกค้า 60 วัน อาจจะเสนอให้ลูกค้าชำระเร็วขึ้นเป็น 30 วัน เพื่อแลกกับการรับส่วนลดเพิ่มอีก 2% 

          2. จ่ายเงินให้ช้า ถ้าจ่ายสด ขอส่วนลด  
หากธุรกิจสามารถต่อรองระยะเวลาการจ่ายเงินและบริหารจัดการสภาพคล่องให้ดี ตรงนี้จะถือเป็นข้อได้เปรียบ เพราะผู้ประกอบการสามารถเอาสินค้ามาขาย แต่ยังไม่ต้องจ่ายเงิน การต่อรองกับเจ้าหนี้การค้าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการช่วยขยายเวลาที่เรามีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ยิ่งถ้าเราขอเครดิตจากเจ้าหนี้การค้าได้นานเท่าไร เปรียบเสมือนเราได้เงินจากเจ้าหนี้การค้ามาหมุนทำธุรกิจก่อน เช่น ปกติเคยจ่ายเป็นเงินสด และมีประวัติการชำระที่ดีทุกงวด ผู้ประกอบการอาจจะขอ credit term จากเจ้าหนี้การค้าเป็น 30-60 วัน เพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ ในทางกลับกัน ถ้าธุรกิจมีเงินสดเหลือ การขอส่วนลดเงินสดจากเจ้าหนี้การค้าโดยการเจรจาต่อรองว่า หากธุรกิจจ่ายเงินสดทันทีเมื่อซื้อของรอบนี้จะขอลดค่าสินค้าลงอีก 2% ได้ไหม เพื่อทำให้ต้นทุนสินค้าลดลง ส่วนเจ้าหนี้การค้าก็ได้รับเงินสดเร็วขึ้นด้วย

          3. หมุนสต๊อกให้เร็ว
ถ้าการจัดการการขาย สร้างยอดขายเป็นเบื้องหน้าที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ การบริหารสต๊อกสินค้าถือเป็นเบื้องหลังของความสำเร็จด้วยเช่นกัน การจัดการสต๊อกสินค้าให้มีประสิทธิภาพให้สินค้าอยู่กับเราสั้นที่สุด และหมุนเร็วที่สุดจะช่วยให้เงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจไม่ต้องไปจมกับสต๊อกสินค้า ทำให้มีสภาพคล่องในธุรกิจดีขึ้น ตัวอย่างการบริหารสต๊อกสินค้า เช่น 
​               • การจัดทำประมาณการการขายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน โดยดูข้อมูลย้อนหลังเมื่อปีก่อนหน้าหรือศึกษาแนวโน้มความนิยมของสินค้าที่ขายในอนาคตว่าจะไปต่อได้หรือไม่ 
               • ตรวจสอบสินค้าในคลัง/โกดังอยู่เสมอ ถ้าสินค้าชิ้นไหนเริ่มตกค้างอาจจะนำออกมาขายลดราคา เพื่อนำเงินมาใช้ในธุรกิจ 
               • จัดระบบสต๊อกสินค้าให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น สินค้าที่มีระยะเวลาการจัดเก็บ เรียงแบบมาก่อน ขายก่อน จัดพื้นที่สำหรับสินค้าหลัก สินค้าตกรุ่น ส่วนสินค้าชำรุดอาจจะคืนบริษัทเพื่อให้ได้พื้นที่เพิ่มในการจัดเก็บ

          4. เสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อ
          การขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากทางธนาคารก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการมีเงินทุนหมุนเวียนที่มากขึ้น สำหรับบางช่วงที่เงินสดขาดมือ เช่น 
               • การขอวงเงินเบิกเกินบัญชี (OD) โดยมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น บ้าน โรงงาน ที่ดิน หรือเงินฝาก เพื่อขอวงเงิน OD ชำระหนี้คู่ค้าทางธุรกิจ จ่ายเงินเจ้าหนี้การค้าให้ทันเวลา 
               • ขอตั๋วสัญญาใช้เงิน (PN) ที่มีกำหนดเวลาแน่นอน เช่น 60 วัน หรือ 90 วัน ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้น เมื่อครบกำหนดสัญญาตั๋วใช้เงิน จึงนำเงินมาชำระตามสัญญา หรือหากยังคงต้องการเงินทุนหมุนเวียนอยู่ ผู้กู้สามารถต่อตั๋วสัญญาใช้เงินต่อไปได้

          คำแนะนำในเบื้องต้นนี้ ผู้ประกอบการ SME สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ เพราะธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไม่สามารถดูได้จากยอดขายที่เติบโตเพียงอย่างเดียว ต้องดูเงินสดรับจ่ายด้วยว่ารับมากกว่าจ่าย การเก็บเงินลูกหนี้มีประสิทธิภาพ หมุนสต๊อกสินค้าให้ไวและเหลือสินค้าค้างสต๊อกให้น้อยที่สุด ธุรกิจสามารถต่อรองกับเจ้าหนี้ในการชำระหนี้ได้นาน การบริหารให้ครบทั้ง 3 ด้านเป็นกุญแจสำคัญในการทำธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จ และสุดท้ายหากธุรกิจเกิดขาดสภาพคล่อง การขอสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องกับธนาคารเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยต่อลมหายใจไม่ให้ธุรกิจสะดุด และดำเนินต่อไปได้ครับ 

บทความที่เกี่ยวข้อง
​​
​​​​

ให้คะแนนบทความ

วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จาก K-Expert

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย