24 เม.ย. 60

รู้ได้อย่างไรว่าแบกหนี้เยอะแล้ว

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​​รู้ได้อย่างไรว่าแบกหนี้เยอะแล้ว


“การเป็นหนี้ไม่ได้เป็นเรื่องผิด หากเรามีเหตุผลที่ดีในการก่อหนี้
หากรู้จักใช้หนี้ หนี้จะช่วยทำให้เราถึงฝันได้เร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม อย่าก่อหนี้จนทำให้ภาระหนี้มากดทับการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขของเรา”
- K-Expert -


          ช่วงที่ผ่านมา หากใครได้ติดตามข่าว อาจได้ยินข่าวว่า บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมารายงานว่า หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยลดลงในรอบ 11 ปี จาก 81.2% มาอยู่ที่ 79.9% ลดลงไป 1.3%  สาเหตุเกิดจากอัตราการขยายตัวหนี้ครัวเรือนนั้นต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพี หรือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดูแล้วก็เป็นข่าวดีนะครับ กว่าทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ตัวเลขหนี้ลดลง ก็ไม่ได้หมายความว่า แบบนี้เราสามารถก่อหนี้เพิ่มได้น่ะสิ นั่นเป็นเพราะว่า เราไม่สามารถเอามาตรฐานเศรษฐกิจมหภาคหรือระดับประเทศ มาคิดด้วยมาตรฐานบุคคลได้


          แล้วเอาเข้าจริงๆ ในฐานะคน 1 คน เราจะรู้ได้ยังไงว่า ตอนนี้ภาระหนี้ที่เรามีอยู่มันเยอะเกินไปหรือเปล่า งั้นเรากลับมาคิดในมุมการเงินส่วนบุคคลกันบ้างดีกว่าว่า จริงๆ แล้ว เราสามารถแบกหนี้ได้สูงสุดสักเท่าไร


          โดยมาตรฐานในการขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน หรือเช่าซื้อรถ สถาบันการเงิน​​มักใช้เกณฑ์ภาระหนี้ไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน (เว้นแต่ว่าบุคคลนั้นจะมีรายได้อยู่ในระดับที่สูง ธนาคารอาจจะมีการให้สินเชื่อที่สูงกว่า 40% ของรายได้)​


          แต่จริงๆ แล้ว เกณฑ์ภาระหนี้ต่อเดือนที่ K-Expert มองว่าเหมาะสม คือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือนครับ เหตุผลที่ K-Expert แนะนำแบบนี้ เพราะอย่าลืมว่า ถ้าเรากู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ไม่ใช่แค่ค่าผ่อนรายเดือนที่ตามมาเท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ตามมาจากการซื้อบ้าน หรือซื้อรถด้วย อย่างบ้านเองก็จะมีค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าประกัน ค่าส่วนกลาง หรือรถ คงหนีไม่พ้นค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าประกัน ค่าซ่อมรถ รวมค่าใช้จ่ายเหล่านี้กับค่าผ่อนแต่ละเดือนเข้าด้วยกันแล้วก็ไม่น่าจะน้อยกว่า 40% ของรายได้ต่อเดือนแล้วล่ะครับ


          เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่า ถ้าสถาบันการเงินกำหนดเกณฑ์ภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนของคนๆ หนึ่งเอาไว้ แบบนี้ คนทุกคนก็จะไม่มีหนี้เกินเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนดน่ะสิ จริงหรือไม่ มาดูกันดีกว่าครับ


          สิ่งที่เราๆ ท่านๆ นั้น มักลืมคิดไปนั่นก็คือ เราทุกคนมีสิทธิที่จะมีภาระหนี้เกินเกณฑ์มาตรฐานกันได้ทั้งนั้น นั่นเป็นเพราะว่า เรามีสินเชื่อพร้อมใช้ที่เรียกกันติดปากว่า “บัตรเครดิต” นั่นเอง ปกติแล้วบัตรเครดิตก็จะให้วงเงินที่เกินเงินเดือนของเราอยู่แล้ว ยิ่งถ้าใครถือหลายใบนี่เท่ากับว่ามีสินเชื่อพร้อมใช้สูงกว่าความสามารถในการจ่ายคืนไปไม่รู้กี่เท่าตัว

          หากเราใช้และจ่ายเต็มทุกยอดที่เรียกเก็บ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่เมื่อใดเรารูดซื้อของ แล้วไม่สามารถจ่ายยอดเต็มได้ ยอดคงค้างนั้นคือ “หนี้” ทันที ซึ่งหนี้บัตรเครดิตไม่มีตารางผ่อนแน่นอนแบบการผ่อนบ้านหรือผ่อนรถ แถมบางคนชะล่าใจ จ่ายขั้นต่ำไปเรื่อยๆ ปล่อยให้หนี้ค่อยๆ พอกพูน เพราะเมื่อจ่ายขั้นต่ำ บัตรเครดิตไม่ได้ให้จ่ายแค่เงินต้นเท่านั้น แต่จะคิดดอกเบี้ยเข้ามาด้วย ซึ่งหนี้ก้อนนี้แหละครับที่จะส่งผลให้เรามีภาระหนี้เกินเกณฑ์ มาตรฐาน และอาจนำไปสู่หนี้ท่วมหัวได้​


          K-Expert จึงขอแนะนำวิธีคิดภาระหนี้เพื่อทุกท่านจะได้นำไปคิดคำนวณ status หนี้ของตัวเอง ณ วันนี้ได้ สิ่งที่ต้องทำคือ รวบรวมภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยของเราออกมา เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งหนี้พวกนี้ เราจะรู้ภาระผ่อนต่อเดือนที่แน่นอน สำหรับหนี้บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด ไม่ได้มีกำหนดผ่อนต่อเดือนที่แน่นอน ดังนั้น ถ้าเราไม่ได้จ่ายยอดเต็ม แต่จ่ายขั้นต่ำ หรือจ่ายเพียงบางส่วนในแต่ละเดือน ก็ให้คิดคำนวณออกมาว่า เราตั้งใจจะผ่อนจ่ายเดือนละเท่าไร​


          หลังจากนั้นให้นำยอดภาระผ่อนต่อเดือนของหนี้ทั้งหมดของเรา หารด้วยรายได้ต่อเดือน เพื่อคำนวณเปอร์เซ็นต์ภาระหนี้ต่อรายได้ของเรา โดยสามารถเขียนเป็นสมการได้ดังนี้​





          เช่น ตอนนี้ผ่อนบ้านอยู่เดือนละ 10,000 บาท แล้วเราเกิดไปรูดบัตรเครดิตซื้อของไป 30,000 บาท เมื่อถึงกำหนดชำระ ไม่สามารถจ่ายยอดเต็ม โดยจะผ่อนเดือนละ 3,000 บาท เท่ากับว่าเรามีภาระผ่อนต่อเดือน 13,000 บาท หากเงินเดือนของเราอยู่ที่ 25,000 บาท แสดงว่า เรามีภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนคิดเป็น 52% ของรายได้ต่อเดือน


          วิธีนี้จะทำให้เรารู้ทันทีว่า ตอนนี้เราแบกหนี้เยอะเกินไปหรือเปล่า


          เหตุที่เราไม่ควรก่อหนี้ให้มากเกินไป เพราะเราต่างก็ไม่รู้อนาคตว่า เราจะมีเหตุฉุกเฉินที่จะต้องทำให้ก่อหนี้เพิ่มหรือไม่ หากเรามีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่เกิดขึ้นจริงๆ (แนะนำว่า ควรมีเงินสำรองไว้สัก 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน) เรายังมีโอกาสขอสินเชื่อมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ไม่อย่างนั้น เราอาจมีปัญหาเรื่องการขอสินเชื่อเพิ่มเติมยามฉุกเฉิน หรือแย่ไปกว่านั้นอาจจะต้องไปใช้หนี้นอกระบบซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าจะยิ่งสร้างปัญหาหนี้ให้มีความอิรุงตุงนังเพิ่มขึ้นไปอีก


          เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมคอยตรวจสอบภาระหนี้อย่างสม่ำเสมอ และ “ตั้งสติ” ก่อนสร้างหนี้ เท่านี้เราก็จะห่างไกลสภาวะหนี้ท่วมหัวแล้วครับ​



ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย