สินเชื่อ/ธุรกิจ
เมื่อครอบครัวใหญ่ขึ้น อยากได้บ้านหลังใหม่ แต่ยังผ่อนบ้านเดิมอยู่ จะทำอย่างไร
“การอนุมัติสินเชื่อบ้าน จะพิจารณารายได้ หักภาระหนี้สิน
ดูว่ามีความสามารถที่จะผ่อนได้ต่อเดือนเท่าไร แล้วพิจารณาวงเงินสินเชื่อบ้าน”
- K-Expert -
เมื่อคุณพ่อคุณแม่มีเจ้าตัวน้อยมาเติมเต็มครอบครัว จากเดิมที่อยู่กันเพียงสองคนสามีภรรยา ทำให้บ้านที่อยู่ปัจจุบันอาจเล็กไปสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้น คุณพ่อคุณแม่หลายท่านจึงมองหาบ้านหลังใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่การซื้อบ้านหลังใหม่จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับคุณพ่อคุณแม่เลย ถ้าบ้านหลังที่อยู่ตอนนี้ไม่ได้ติดภาระผ่อน ที่อาจทำให้กู้ซื้อบ้านหลังใหม่ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรได้บ้างนั้น K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก
ในการขอสินเชื่อบ้าน ธนาคารจะประเมินความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ โดยทั่วไปไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน ดังนั้น ถ้ารายได้ 50,000 บาทต่อเดือน ภาระผ่อนหนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือสินเชื่อส่วนบุคคลรวมกันแล้วไม่ควรเกิน 40% x 50,000 = 20,000 บาท ถ้าปัจจุบันผ่อนบ้านอยู่ที่เดือนละ 15,000 บาท ถ้าไม่ได้มีภาระหนี้อย่างอื่น ก็เท่ากับว่าจะเหลือความสามารถในการผ่อนชำระหนี้อีกเพียง 5,000 บาท จะเห็นได้ว่า ถ้ามีภาระผ่อนหนี้อยู่ก็จะทำให้การขอสินเชื่อใหม่เป็นไปได้ยาก ซึ่งถ้าสามารถขายบ้านหลังนี้ได้ จะทำให้สามารถผ่อนชำระหนี้ได้เพิ่มขึ้น แถมมีเงินก้อนจากการขายบ้านมาเป็นเงินดาวน์บ้านหลังใหม่ได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริง การขายบ้านสักหลังอาจขายไม่ได้ในทันที ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจรอให้มีผู้มาซื้อบ้านก่อน จึงค่อยกู้ซื้อบ้านหลังใหม่ แต่ถ้ามีความต้องการซื้อบ้านหลังใหม่เลยทันที เพราะอยากให้ลูกมีพื้นที่วิ่งเล่นมากขึ้น หรือมีจำนวนห้องในบ้านมากขึ้น เพื่อให้ลูกมีห้องส่วนตัว ก็มีคำแนะนำมาฝากคุณพ่อคุณแม่ ดังนี้
หาผู้กู้ร่วม
ถ้ากู้บ้านคนเดียวอาจไม่ผ่าน หรือได้วงเงินที่ไม่สูงนัก การกู้ร่วมก็เป็นทางออกหนึ่งที่ทำให้การขอสินเชื่อมีโอกาสผ่านสูงขึ้น และได้วงเงินกู้เพิ่มขึ้น แต่การกู้ร่วม ไม่ใช่ว่าจะเลือกใครมาเป็นผู้กู้ร่วม หรือกู้ร่วมกี่คนก็ได้ โดยทั่วไปธนาคารจะกำหนดจำนวนผู้กู้ร่วมไว้ เช่น กู้ร่วมได้ไม่เกิน 2 คน รวมถึงผู้กู้ร่วมต้องมีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ เช่น สามีภรรยา พี่น้อง พ่อ/แม่กับลูก หรือเป็นญาติกันโดยมีนามสกุลเดียวกัน หรือสามีภรรยาที่สมรสไม่จดทะเบียนก็กู้ร่วมได้โดยแสดงหลักฐาน เช่น ภาพถ่ายงานแต่ง การ์ดแต่ง หรือการมีลูกร่วมกัน ทั้งนี้ การกู้ร่วมช่วยให้การขอสินเชื่อบ้านผ่านง่ายขึ้น แต่ต้องคำนึงด้วยว่า ถ้าเป็นการกู้ร่วมที่คุณพ่อหรือคุณแม่ผ่อนบ้านเพียงฝ่ายเดียว จะรับภาระผ่อนไหวหรือไม่
รีไฟแนนซ์เพื่อลดดอกเบี้ย
การรีไฟแนนซ์เป็นการย้ายสินเชื่อไปอีกสถาบันการเงินหนึ่ง หรือขอปรับลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินที่เราผ่อนบ้านอยู่ โดยทั่วไปการรีไฟแนนซ์จะทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง และยอดผ่อนต่อเดือนลดลง เมื่อภาระผ่อนหนี้ที่มีอยู่ลดลง จะทำให้มีโอกาสขอสินเชื่อได้วงเงินที่สูงขึ้น เช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท ถ้าเดิมผ่อนบ้านที่อัตราดอกเบี้ย 7% ต่อปี จะผ่อนเดือนละประมาณ 7,800 บาท แต่ถ้ารีไฟแนนซ์โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่อยู่ที่ 5% ต่อปี จะผ่อนบ้านเดือนละประมาณ 6,600 บาท ซึ่งค่าผ่อนบ้านต่อเดือนที่ลดลง จะทำให้ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของเราเพิ่มขึ้น และมีโอกาสได้วงเงินสินเชื่อใหม่ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การรีไฟแนนซ์โดยการย้ายสถาบันการเงิน จะต้องเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ กับค่าใช้จ่ายที่ตามมาจากการรีไฟแนนซ์ ซึ่งได้แก่
1. ค่าธรรมเนียมในการจำนอง จ่ายให้กรมที่ดิน 1% ของวงเงินกู้ใหม่
2. ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่
3. ค่าประเมินหลักประกัน 2,700 บาท (ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร)
ยกตัวอย่างเช่น วงเงินกู้ 1 ล้านบาท จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 + 500 + 2,700 = 13,200 บาท และโดยทั่วไปเราสามารถรีไฟแนนซ์ได้โดยไม่เสียค่าปรับเมื่อผ่อนบ้านไปแล้วอย่างน้อย 3 ปีนับตั้งแต่วันที่เริ่มกู้ ดังนั้น ควรดูเงื่อนไขในสัญญาให้ดีก่อนรีไฟแนนซ์
หาเงินก้อนมาปิดหนี้บ้าน
ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเงินเก็บซึ่งเพียงพอจะปิดยอดหนี้บ้านที่คงเหลืออยู่ จะทำให้ภาระหนี้ที่มีหมดไป การกู้ซื้อบ้านหลังใหม่ก็จะทำได้ไม่ยาก แต่การนำเงินเก็บมาปิดหนี้บ้าน ต้องพิจารณาถึงเงินสภาพคล่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรเก็บสำรองไว้ด้วย โดยถ้านำเงินไปปิดหนี้บ้านแล้ว ก็ควรมีเงินเก็บเป็นเงินสำรองไว้ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครอบครัว เพราะถ้าเกิดเหตุต้องใช้เงินเร่งด่วน เช่น ลูกป่วยไม่สบาย หกล้มได้รับอุบัติเหตุ ต้องใช้เงินเป็นค่ารักษาพยาบาล จะได้นำเงินสำรองที่เก็บไว้ออกมาใช้จ่ายได้ทันที
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สามารถกู้บ้านหลังใหม่ได้แล้ว ระหว่างนี้ก็ประกาศขายบ้านหลังเดิม เมื่อขายได้ก็แนะนำให้นำเงินมาโปะหนี้บ้านเพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้น และช่วยให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือ ประกาศหาผู้เช่าบ้าน ซึ่งรายได้จากการปล่อยเช่าสามารถนำมาช่วยผ่อนบ้านหลังใหม่ได้
ก่อนจะซื้อบ้านหลังใหม่มีหลายเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคำนึงถึงไม่ว่าจะเป็นประกาศขายหรือปล่อยเช่าบ้านหลังเดิม แบ่งเงินในแต่ละเดือนสำหรับผ่อนบ้านหลังใหม่ รวมถึงต้องมีเงินก้อนสำหรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมในการจดจำนอง ค่าโอน ค่าส่วนกลาง ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน โดยต้องวางแผนให้รอบคอบ เพื่อชีวิตครอบครัวที่มีความสุข
ติดตามบทความเกี่ยวข้องกับ “เมื่อครอบครัวใหญ่ขึ้น อยากได้บ้านหลังใหม่ แต่ยังผ่อนบ้านเดิมอยู่ จะทำอย่างไร” ได้ที่ www.askKBank.com/K-Expert และหากมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาวางแผนเพิ่มเติม สามารถปรึกษากับที่ปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย ได้ที่ K-Expert@kasikornbank.com