เทคโนโลยี + ชีวภาพ: การผสมผสานที่ร้อนแรงแต่กลมกล่อม

แนะนำธุรกิจ Biotech แบบครบวงจร ตั้งแต่ตัวธุรกิจ ขนาดตลาด แนวโน้มการเติบโตในอนาคต บริษัทที่เป็นผู้นำในตลาด ไปจนถึงคำแนะนำหากนักลงทุนสนใจลงทุนในกลุ่ม Biotechnology

• อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หนุนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดโรคร้ายแรงซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น การพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวกระโดดสอดรับกับอุปสงค์การรักษาโรคที่เพิ่มขึ้น และการควบรวมกิจการที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในแง่ของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ และการขยายตลาด


• บริษัทในกลุ่ม Biotechnology ที่ทาง K WEALTH หยิบยกมาเล่าในบทความนี้คือ Amgen Inc. และ Zealand Pharma A/S ทั้งสองบริษัท ล้วนประสบความสำเร็จด้วยปัจจัยเหล่านี้ทั้งสิ้น


• สำหรับคนที่สนใจลงทุนหุ้นในกลุ่ม Biotechnology ทาง K WEALTH ขอแนะนำกองทุน TBIOTECH ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่ม Biotechnology ที่หลากหลาย และบริหารด้วยผู้จัดการกองทุนมากประสบการณ์ พิสูจน์ด้วยผลตอบแทนในอดีตซึ่งเป็นเครื่องยืนยันความสามารถของผู้จัดการกองทุนได้เป็นอย่างดี เพื่อให้นักลงทุนมั่นใจ คว้าโอกาสเติบโตไปกับกลุ่ม Biotechnology ในระยะยาว




ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) เป็นธุรกิจที่เป็นที่ถูกจับตามองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตที่ก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนหลายคนที่อาจจะไม่ได้หัน radar มาดูกลุ่มนี้มากนักอาจจะสงสัยว่าธุรกิจนี้แท้จริงแล้วมีที่มาที่ไปอย่างไร และเติบโตสูงได้อย่างไรทั้งที่เป็นกลุ่ม Healthcare ซึ่งโดยปกติจะเป็นกลุ่ม Defensive ที่การเติบโตไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับหุ้นเติบโต วันนี้ทาง K WEALTH ขอนำผู้อ่านทุกคนมาทำความรู้จักธุรกิจนี้กันอย่างลึกซึ้งมากขึ้นผ่านบทความนี้



ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) คืออะไร แบ่งออกเป็นกี่ประเภท

ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) คือการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี และความรู้ด้านต่างๆ ของวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต (Bio) ในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ชิ้นส่วนร่างกาย หรือผลผลิตของสิ่งมีชีวิต เพื่อสร้างประโยชน์ต่อมนุษย์ในหลากหลายแง่มุม เช่นเอามาช่วยในภาคการผลิต หรือกระบวนการพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อนำมาใช้ประโยชน์เฉพาะส่วนตามต้องการ


ณ ปี 2566 อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ มีมูลค่ากว่า 1.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีคาดการณ์ว่าจะเติบโตที่อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 11.5% สำหรับช่วงปี 2567-2577 หนุนจากอุปสงค์การใช้บริการด้านสุขภาพที่สูงต่อเนื่อง ทำให้เกิดการแข่งขันในอุตสาหกรรมของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะในด้านของการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) พอมีการวิจัยและพัฒนาเยอะ ผลิตภัณฑ์ยาที่ขอรับการอนุมัติจึงมีมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะมากขึ้นอีก ทำให้ตลาด Biotechnology เติบโตอย่างรวดเร็ว


ที่มา: Precedence Research


หากแบ่งกลุ่ม Biotechnology ตามประเภทการใช้งาน เทคโนโลยีชีวเภสัชกรรม (Biopharmacy) กินส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพในปี 2566 ด้วยสัดส่วนราว 42% ทิ้งห่างอันดับ 2-3 คือกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ (Bio-Industries ที่ 24%) และเทคโนโลยีชิวภาพเพื่อการเกษตร(ราว 20%) เกือบครึ่ง (แผนภาพที่ 2) อีก 2 กลุ่มที่เหลือที่มีส่วนแบ่งเล็ก ๆ ในอุตสาหกรรมนี้คือกลุ่มบริการ (ราว 7%) และกลุ่มชีวสารสนเทศ (Bio-Informatics; Bio + Computer)



ที่มา: Precedence Research



ความน่าสนใจของกลุ่ม Biotechnology

อ้างอิงจากส่วนแบ่งการตลาดของกลุ่ม Biotechnology ในหัวข้อที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดคือกลุ่มเทคโนโลยีชีวเภสัชกรรม หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกลุ่ม Healthcare วันนี้ทาง K WEALTH จึงขอพาทุกคนมาเจาะลึกว่าอะไร คือเหตุผลเบื้องหลังในภาพใหญ่ที่ทำให้ Biotechnology ในทางการแพทย์ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และจะไม่ใช่เหตุผลทั่วไปอย่างสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมการแพทย์เติบโต เพราะเชื่อว่าหลายคนคงทราบกันดีอยู่แล้ว


1) การใช้จ่ายเรื่องสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด: อัตราการเกิดโรคต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ด้วยสาเหตุว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ขอเริ่มต้นด้วยผลก่อน ซึ่งก็คือโรคร้ายแรงต่าง ๆ อาทิเช่นโรคมะเร็ง หรือเบาหวาน หากอ้างอิงข้อมูลจาก International Agency for Research on Cancer จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งทั่วโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่ามาอยู่ที่ระดับ 27 ล้านคน ในปีค.ศ. 2040 จากเพียง 10 ล้านคนในปีค.ศ. 2000 แม้ว่าในปัจจุบันจะมีวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้ามากกว่าในอดีตก็ตาม โรคเบาหวานก็เช่นเดียวกัน อ้างอิงข้อมูลจาก The Lancet จำนวนประชากรโลกที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานคาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวในปีค.ศ. 2050 หรือในอีก 30 ปีข้างหน้า มาอยู่ที่ระดับ 1.3 พันล้านคน ซึ่งโรคทั้งสองเป็นโรคร้ายแรงที่เกิดจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของมนุษย์ เช่นบริโภคอาหาร Fast Food หรือออกกำลังกายน้อยลง ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบ และใช้เวลาไปกับ Smartphone มากขึ้นกว่าในอดีต โดยโรคร้ายแรงเหล่านี้หากเป็นแล้วต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง การที่อัตราการเกิดโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้นและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้นำมาสู่ผลก็คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แผนภาพด้านล่างเป็นตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเชิงเศรษฐกิจอย่างสหรัฐฯ ค่าใช้จ่ายสุขภาพต่อ GDP มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด



ที่มา: Centers for Medicare and Medicaid Services, National Health Expenditure Data, as of December 2023


2) พัฒนาการของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวกระโดด: การพัฒนาของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อวงการ AI หรือ Smart Devices ต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญต่อการใช้ชีวิตเพียงอย่างเดียว เพราะมันส่งผลบวกต่อการรักษาชีวิตคนด้วย เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยี ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ในวงการการแพทย์และสุขภาพ ไล่ตั้งแต่วัคซีนโรคหัดที่เกิดขึ้นเมื่อปี 1963 ที่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตต่อปีได้อย่างมีนัยยะ ยาต้านไวรัส HIV ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 1988 ที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อสำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อภายใน 72 ชั่วโมงได้ และล่าสุดคือวัคซีน mRNA ไม่ว่าจะเป็น Pfizer หรือ Moderna ที่พัฒนาชึ้นมาได้อย่างรวดเร็วเพื่อบรรเทาสถานการณ์โควิด-19 ที่เป็นโรคระบาดระดับโลก พัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี ส่งผลทำให้อุตสาหกรรม Biotechnology มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนยาที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับบริษัทในกลุ่ม Biotech จากที่ไม่มีจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เลยในปีค.ศ. 1950 ปัจจุบันมีมากกว่า 600 บริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และบริษัทเหล่านี้ก็ได้รับผลตอบรับเชิงบวกจากสังคมและผู้ถือหุ้น เราหยิบเอาดัชนีของกลุ่ม Biotechnology มาเทียบกับตลาด S&P 500 และกลุ่ม Healthcare ตามกราฟด้านล่าง เพื่อดูว่าผลตอบแทนหากลงทุน 20 ปีเป็นอย่างไร จะเห็นว่ามูลค่าของบริษัทในกลุ่ม Biotechnology (สีน้ำเงิน) ในกลุ่มนี้ที่เติบโตโดดเด่นกว่าตลาด S&P 500 ของสหรัฐฯ (สีเขียวแก่) และกลุ่ม Healthcare (สีชมพู) ด้วยกัน




ที่มา: YahooFinance!


จำนวนการควบรวมกิจการที่ก้าวกระโดด: อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บริษัทในกลุ่ม Biotechnology เติบโตได้อย่างรวดเร็วคือการควบรวมกิจการ ซึ่งคือการที่บริษัทหนึ่งไปซื้ออีกบริษัทหนึ่งเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ความสามารถของบุคลากร ผลิตภัณฑ์ยาใหม่ๆ ที่ไม่สามารถพัฒนาได้เอง และ Synergy ระหว่าง 2 บริษัท อธิบายอย่างง่ายคือสองหัวดีกว่าหัวเดียว หากอ้างอิงข้อมูลสถิติของ Statista จะเห็นได้ชัดเจนว่ามูลค่าของการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะในช่วง 10 ปีหลังสุดเมื่อเทียบกับในอดีต แม้ว่าในปี 2565-66 ปริมาณจะปรับลดลงบ้างเนื่องจากภาวะดอกเบี้ยที่สูง แต่คาดว่าดอกเบี้ยกำลังจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วและอาจจะเป็นปัจจัยหนุนให้การควบรวมกิจการของกลุ่ม Biotech กลับมาคึกคักอีกครั้ง




ที่มา: Statista



ยกตัวอย่างบริษัทในกลุ่ม Biotechnology

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะมีคำถามในใจว่า บริษัทอะไรที่เป็นผู้นำการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของหุ้นในกลุ่ม Biotech วันนี้ทาง K WEALTH จะขอเล่าในมุมของธุรกิจของซัก 1-2 บริษัทผู้นำตลาด Biotechnology ว่ามีประวัติความเป็นมายังไง ผลิตภัณฑ์หลักคืออะไร และประสบความสำเร็จได้อย่างไร


1) Amgen Inc. บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำของโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1980 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Thousand Oaks, California ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทนี้มีชื่อเสียงในด้านการค้นคว้า พัฒนา ผลิต และจำหน่ายยาและวิธีการรักษาทางชีวภาพ (biotechnology-based therapies) สำหรับโรคที่มีความซับซ้อนและร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคกระดูกพรุน และโรคไตเรื้อรัง

- ผลิตภัณฑ์เด่น: Epogen ซึ่งเป็นรักษาภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคไตเรื้อรังและผู้ป่วยที่โลหิตจางจากการรักษาด้วยเคมีบำบัด ยา Enbrel เป็นยาใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน และโรคข้ออักเสบชนิดอื่นๆ โดยเป็นยาที่ลดการอักเสบและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และยา Prolia ซึ่งเป็นยาใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุนในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนและในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแตกหักของกระดูก เป็นต้น

- เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทนี้เกิดจากการคิดค้นยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเฉพาะทาง มีการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องรวมถึงการควบรวมกิจการ เช่นการเข้าไปซื้อบริษัท Onyx Pharmaceuticals ในปีพ.ศ. 2556 เพื่อให้ได้มาซึ่งความเชี่ยวชาญในการพัฒนายามะเร็ง เป็นต้น อัพเดทล่าสุด ณ ต้นเดือนกันยายน 2567 บริษัทมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 60.7% ในระยะเวลา 5 ปี


2) Zealand Pharma A/S บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากประเทศเดนมาร์ก ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก บริษัทนี้เชี่ยวชาญในการวิจัย พัฒนา และจำหน่ายยาเปปไทด์ (peptide-based medicines) สำหรับรักษาโรคที่มีความซับซ้อนทางการแพทย์ เช่น โรคเบาหวาน และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น มี

- ผลิตภัณฑ์เด่น: ยา V-Go® ซึ่งเป็นอุปกรณ์พกพาสำหรับการฉีดอินซูลินที่ใช้งานง่าย โดยช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างต่อเนื่องตลอดวัน (ได้มาจากการซื้อกิจการของ Valeritas Holdings Inc. ในปี 2563) หรือยา Zegalogue® ซึ่งก็เป็นยาฉีดที่ใช้สำหรับรักษาภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเฉียบพลัน (Severe Hypoglycemia) ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ประเภทที่ 1

- เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทนี้เกิดจากความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเปปไทด์เพื่อใช้เป็นยารักษาโรค การวิจัยและพัฒนายาใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดสม่ำเสมอ การมีพันธมิตรทางธุรกิจอย่าง Sanofi และ Boehringer Ingelheim ซึ่งก็เป็นบริษัทยาชั้นนำ ช่วยในการขยายตลาดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ รวมถึงการควบรวมกิจการที่มีการกล่าวถึงก่อนหน้านี้ อัพเดทล่าสุด ณ ต้นเดือนกันยายน 2567 บริษัทมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นกว่า 451.6% ในระยะเวลาเพียง 5 ปี



คำแนะนำหากสนใจลงทุนในกลุ่ม Biotechnology

หากว่าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วสนใจลงทุนแต่ไม่รู้เริ่มต้นอย่างไรดี หรือไม่มีเวลาในการไปศึกษารายละเอียดหุ้นในกลุ่ม Biotechnology ซึ่งมีความซับซ้อนสูง เราแนะนำให้ลงทุนในกองทุน TBIOTECH ซึ่งเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหลักชื่อ Polar Capital Funds plc -Biotechnology ชนิดหน่วยลงทุน I USD ซึ่งกองทุนหลักมีนโยบายลงทุนอย่างน้อย 51% ของมูลค่าทรัพย์สินในตราสารทุนของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) การวินิจฉัยโรค (Diagnostics) และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต (Life Sciences Tools) ทั่วโลก โดยกองทุนนี้มีความน่าสนใจดังนี้


1) ลงทุนในกลุ่มบริษัทที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้วิทยาการทางการแพทย์มาพัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะทาง ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Amgen Inc หรือบริษัท Zealand Pharma A/C ที่เราได้ยกตัวอย่างไป กองทุนนี้มีสัดส่วนการลงทุนใน 2 บริษัทนี้ค่อนข้างมาก ที่ 7.05% และ 5.43% ของมูลค่าพอร์ตทั้งหมด ตามลำดับ ณ วันที่ 2 ก.ย. 67


2) กองทุนมีการกระจายความเสี่ยงการลงทุนเป็นอย่างดี เพราะกองทุนไม่มีสัดส่วนการลงทุนในบริษัทใดเกิน 10% ของพอร์ต และ


3) บริหารโดยผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ลงทุนในอุตสาหกรรม Biotechnology และ Healthcare มาเป็นเวลานาน ซึ่งสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานย้อนหลัง 1 ปีโตเด่นที่ 23.2% ดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 6.25% เป็นอย่างมาก ผลตอบแทน 3 ปีย้อนหลังก็ดีกว่ากลุ่ม (TBIOTECH 0.5% vs ค่าเฉลี่ยกลุ่มที่ -6.9%)


อย่างไรก็ดี กองทุนนี้เป็นกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงที่ระดับ 7 ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงสูงมาก จึงเหมาะกับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงมากเท่านั้น เพราะนอกจากจะมีความเสี่ยงที่ราคาหน่วยลงทุนจะผันผวนได้มากกว่ากองทุนประเภทอื่นแล้ว กองทุนนี้ยังมีความเสี่ยงด้านค่าเงินและไม่จ่ายปันผลอีกด้วย ดังนั้นหากนักลงทุนสนใจลงทุนในกองทุนนี้เราแนะนำให้ลงทุนในสัดส่วนที่ไม่มากนัก ที่ 5-10% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพื่อคว้าโอกาสเติบโตพอร์ตไปกับหุ้นกลุ่ม Biotechnology ที่ถือเป็นคลื่นลูกใหญ่ของวงการ Healthcare


ขอขอบคุณข้อมูลจาก:

https://www.precedenceresearch.com/biotechnology-market

https://www.healthsystemtracker.org/chart-collection/u-s-spending-healthcare-changed-time/#Total%20national%20health%20expenditures,%20US%20$%20per%20capita,%201970-2022

https://www.statista.com/chart/20706/new-cancer-cases-per-year/

https://medicalxpress.com/news/2023-07-global-diabetes-cases-pace-soar.html#google_vignette

https://www.wealthmagik.com/funds/TBIOTECH/profile

https://markets.ft.com/data/funds/tearsheet/holdings?s=IE00B42Z4531:USD

https://www.pgpf.org/blog/2024/01/why-are-americans-paying-more-for-healthcare

https://www.healthsystemtracker.org/chart-collection/u-s-spending-healthcare-changed-time/#Total%20national%20health%20expenditures%20as%20a%20percent%20of%20Gross%20Domestic%20Product,%201970-2022



คำเตือน


ผู้เขียน

K WEALTH จิรพัฒน์ จิรนิรันดร์กุล CFA
Back to top