เตรียมความพร้อมก่อนการยื่นภาษี 2567

รวมทุกเรื่องที่ต้องรู้ก่อนยื่นภาษี 2567 การเตรียมเอกสาร วิธีคำนวณ เคล็ดลับลดหย่อน ไปจนถึงการขอคืนภาษี พร้อมอัปเดตข้อมูลล่าสุด ช่วยให้คุณยื่นภาษีได้ถูกต้องและได้สิทธิประโยชน์เต็มที่

• ใกล้ปลายปี 2567 มีใครแอบดูสลิปเงินเดือนของตนเองแล้วบ้างว่าถูกหักภาษีไปเท่าไร หลายคนอาจตกใจที่เห็นภาษีที่ถูกหักเป็นจำนวนเงินมากกว่าที่คิด เริ่มรู้สึกกังวลอยากหาวิธีลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษีและจัดการการเงินของตนเอง


• K WEALTH ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการยื่นภาษี พร้อมวิธีคำนวณและเคล็ดลับการประหยัดภาษีที่คุณต้องรู้มาให้แล้วในบทความนี้




การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นหน้าที่สำคัญสำหรับเราทุกคนที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย การเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการยื่นภาษีจึงจำเป็น ที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถจัดการภาษีได้รัดกุมเป็นระบบและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายได้อย่างถูกต้องรวมถึงการจัดการด้านการเงินของเราเองอย่างคุ้มค่า



รายได้เท่าไรถึงต้องยื่นภาษี

เกณฑ์เงินได้พึงประเมินที่ผู้มีเงินได้ในรอบปีภาษี (1 มกราคม - 31 ธันวาคม) “ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี” แบ่งเป็นสำหรับคนโสดและคนที่สมรสแล้ว และ ต้องทราบประเภทของเงินได้ก่อนยื่นภาษีด้วย


ประเภทของเงินได้พึงประเมินแบ่งเป็น 8 ประเภท ดังนี้ 40(1) เงินเดือน โบนัส ค่าล่วงเวลา 40(2) รับจ้างทำงาน ค่านายหน้า 40(3) ค่าลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร 40(4) ดอกเบี้ย เงินปันผล 40(5) ค่าเช่าบ้าน/คอนโด หรือทรัพย์สินอื่น 40(6) วิชาชีพอิสระที่กำหนดไว้ เช่น แพทย์ นักบัญชี นักกฎหมาย วิศวกร ฯลฯ 40(7) รับเหมาก่อสร้าง และ 40(8) รายได้อื่นๆ นอกจาก 1-7 อ้างอิงตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น ขายของออนไลน์ ดารานักแสดง ฯลฯ



เกณฑ์เงินได้พึงประเมินที่ต้องยื่นภาษี


คนโสด
ประเภทเงินได้
รายได้เฉลี่ยต่อเดือน
รายได้ทั้งปี
มีเฉพาะ 40(1) เช่น เงินเดือน โบนัส
10,000 บาทขึ้นไป
120,000 บาทขึ้นไป
มีเงินได้ประเภทอื่นด้วย
5,000 บาทขึ้นไป
60,000 บาทขึ้นไป
คนที่สมรสแล้ว
ประเภทเงินได้
รายได้เฉลี่ยต่อเดือน
รายได้ทั้งปี
มีเฉพาะ 40(1) เช่น เงินเดือน โบนัส
รวมกัน 18,333 บาทขึ้นไป
รวมกัน 220,000 บาทขึ้นไป
มีเงินได้ประเภทอื่นด้วย
รวมกัน 10,000 บาทขึ้นไป
รวมกัน 120,000 บาทขึ้นไป

จากตารางจะเห็นว่า บางคนแม้รายได้ยังไม่ถึงเกณ์ฑเสียภาษี แต่ก็ยังมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีทุกปี ในช่วง ม.ค.-มี.ค. ของปีถัดไป



รายได้เท่าไหร่ที่เข้าเกณฑ์ต้องเสียภาษี ใช้อะไรลดหย่อนได้บ้าง

บุคคลที่มีเงินได้สุทธิต่อปีมากกว่า 150,000 บาท ต้องเสียภาษี หรือสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ที่มีจ่ายเงินประกันสังคม คือ คนที่มีรายได้ทั้งปีมากกว่า 319,000 บาท หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 26,583 บาท ต้องเสียภาษี โดยมีรายละเอียดดังนี้


เงินได้สุทธิ = เงินได้ทั้งปี - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน


• รายได้รวม 319,000 บาท

• หัก ค่าใช้จ่ายตามกฎหมายสำหรับเงินได้ 40(1) (100,000) บาท

• หัก ค่าลดหย่อนส่วนตัว (60,000) บาท

• หัก เงินสะสมประกันสังคม (9,000) บาท

• เหลือ เงินได้สุทธิ 150,000 บาท


ค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่นำมาหักจากเงินได้ทั้งปีเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพากรกำหนดในปีนั้นๆ โดยอาจมีมาตรการพิเศษ เช่น โครงการที่ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น


• Easy e-Receipt สามารถลดหย่อนได้สูงสุด 50,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง สำหรับค่าซื้อสินค้าและบริการที่มีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 2567


• เที่ยวเมืองรอง 2567 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท สำหรับ 55 จังหวัดเมืองรอง (ที่มีการประกาศ)ประกอบด้วยค่าบริการท่องเที่ยวมัคคุเทศก์ ค่าแพ็คเกจทัวร์ ค่าที่พักในโรงแรม รีสอร์ท หรือโฮมสเตย์ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 30 พฤศจิกายน 2567

• สำหรับรายละเอียดรายการลดหย่อน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความของ K WEALTH “รวมรายการสิทธิค่าหักลดหย่อนภาษี ปี 2567 ที่คุณต้องรู้




สำหรับคนที่มีรายได้มากกว่า 319,000 บาท เมื่อคำนวณเงินได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่มีแล้ว สามารถคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายได้ โดยนำ “เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี” ที่เป็นอัตราภาษีก้าวหน้า ตามตารางอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา



อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2567


แบ่งตามฐานภาษี ดังนี้


เงินได้สุทธิ (บาท)
อัตราภาษี (%)
0-150,000
ได้รับยกเว้น
150,001-300,000
5
300,001-500,000
10
500,001-750,000
15
750,001-1,000,000
20
1,000,001-2,000,000
25
2,000,001-5,000,000
30
5,000,001 ขึ้นไป
35


เช่น เงินได้สุทธิ 600,000 บาท ภาษีเงินได้ = [(300,000 – 150,000) x 5%] + [(500,000 – 300,000) x 10%] + [(600,000 – 500,000) x 15%] = 37,500 บาท


หากคำนวณภาษีของตนเองแล้วพบว่าต้องเสียภาษีในจำนวนที่สูงกว่าที่คาดไว้ และอยากหาวิธีลดหย่อนเพื่อประหยัดภาษีพร้อมวางแผนการจัดการการเงินไปด้วยเพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด K WEALTH ขอแนะนำ 3 กลุ่มทางเลือกลดหย่อนภาษี ดังนี้


1. เลือกประกันชีวิต

a. คนโสด ใช้เป็นความคุ้มครองดูแลค่ารักษาพยาบาลของตัวเอง ด้วยเบี้ยประกันสุขภาพ 25,000 บาท และแนบคู่กับประกันชีวิตแบบตลอดชีพเพื่อความคุ้มครองสุขภาพที่ต่อเนื่อง 75,000 บาท

b. คนมีห่วง เลือกสร้างแผนมรดกให้คนข้างหลัง ด้วยประกันชีวิตแบบตลอดชีพ 100,000 บาท

c. ใช้ประกันชีวิตวางแผนออมเงินเป้าหมายเพื่อการเกษียณ 100,000 บาท


2. เลือกกองทุนลดหย่อนภาษี/ประกันบำนาญ

a. กองทุน SSF สูงสุด 30% ของเงินได้ที่เสียภาษี ไม่เกิน 200,000 บาท (ถือครอง 10 ปี นับวันชนวัน)

b. กองทุน RMF สูงสุด 30% ของเงินได้ที่เสียภาษี ไม่เกิน 500,000 บาท (ซื้อลงทุนต่อเนื่องถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และอย่างน้อย 5 ปี จึงจะมีสิทธิขาย)

c. ประกันแบบบำนาญ (ระบุว่า บำนาญลดหย่อนภาษีได้) สูงสุด 15% ของเงินได้ที่เสียภาษี ไม่เกิน 200,000 บาท โดย SSF + RMF + ประกันบำนาญ + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ รวมกันต้องไม่เกิน 500,000 บาท


3. เลือกกองทุน Thai ESG

• กองทุน Thai ESG สูงสุด 30% ของเงินได้ที่เสียภาษี ไม่เกิน 300,000 บาท (ถือครอง 5 ปี นับวันชนวัน)


วิธีการนี้จะช่วยให้เราประหยัดภาษีไปพร้อมๆกับการบริหารความเสี่ยงและการสร้างเงินออมไว้ใช้ในอนาคต ศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความของ K WEALTH “ลดหย่อนภาษีเต็ม Max เลือกอย่างไรให้คุ้มค่า ” หรือหากยังไม่มั่นใจว่าจะเลือกกองทุนลดหย่อนภาษีแบบไหนดี แนะนำศึกษาข้อมูลเพิ่มได้จากบทความของ K WEALTH “รวบตึงสิ่งต้องรู้ก่อนซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี 2567 พร้อมโพยกองทุน



การขอคืนภาษี

หากคำนวณแล้วพบว่าถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินกว่าฐานภาษีของตนเอง ก็อาจสามารถขอคืนภาษีได้ เช่น คนฐานภาษี 5%-10% สามารถขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของดอกเบี้ยที่ถูกหัก 15% ได้ทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดย

• ยื่นแบบแสดงรายการภาษีพร้อมเอกสารประกอบ

• นำรายได้จากดอกเบี้ยยื่นเป็นรายได้ส่วนเพิ่มจากรายได้อื่น พร้อมระบุภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไป

• เลือกวิธีรับเงินคืนผ่านโอนเข้าบัญชีหรือเช็ค

• ติดตามสถานะการขอคืนภาษีผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร



เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการยื่นภาษี

รูปแบบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอยู่ 2 แบบ คือ ภ.ง.ด.90 (สำหรับผู้มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือน) และ ภ.ง.ด.91 (สำหรับผู้มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริมอื่น) โดยต้องเตรียมเอกสารดังนี้

• หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย (ใบ 50 ทวิ) ทั้งจากรายได้เงินเดือน ดอกเบี้ย เงินปันผล ฯลฯ

• รายการลดหย่อนภาษีที่รวบรวมทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา เงินลงทุนกองทุน SSF/RMF/ThaiESG เบี้ยประกัน เงินบริจาค

• เอกสารอื่นๆ ประกอบการลดหย่อนภาษี เพื่อกรอกแบบฟอร์มการยื่นจ่ายภาษี



สถานที่สำหรับการยื่นภาษี

• ยื่นภาษีออนไลน์ผ่านระบบ E-Filing ของ กรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

• ยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชัน RD Smart Tax โดยต้องทำการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรก่อน จึงจะสามารถยื่นผ่านแอปพลิเคชันได้

• หรือหากไม่สะดวกยื่นออนไลน์ ก็สามารถยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากร หรือสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา


ทั้งนี้ ในช่วงก่อนสิ้นปีเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่เราจะรวบรวมเอกสารสำคัญและตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร รวมถึงหากพบว่ามีค่าลดหย่อนใดที่ยังไม่เต็มสิทธิก็ยังมีเวลาให้ใช้สิทธิเพิ่มได้ทันภายในสิ้นปี เพื่อเตรียมพร้อมยื่นภาษีก่อนไปเคาน์ดาวน์ ซึ่งโดยปกติทางกรมสรรพากรจะมีการเปิดระบบให้สามารถยื่นภาษีได้ในช่วงประมาณเดือน ม.ค. - มี.ค. ของปีหน้า หากเรายื่นภาษีเร็ว ก็จะได้รับเงินคืนจากภาษีที่หักไว้เกินได้เร็ว เพราะหากยื่นภาษีใกล้ๆ วันก่อนปิดระบบ ก็อาจจะต้องรอคิวในการขอคืนภาษีนานหน่อย รวมทั้งมีโอกาสอาจหลงลืม ยื่นภาษีไม่ทันตามที่กำหนด เสี่ยงต่อการถูกเรียกเก็บเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากกรมสรรพากรได้