ลดโอกาสเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก” ด้วยการตรวจคัดกรอง
ถ้าพูดถึงโรคร้ายของผู้หญิง มะเร็งปากมดลูกคงเป็นโรคที่หลายคนนึกถึงลำดับต้น ๆ เพราะเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกกว่า 4,500 รายต่อปี อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูก สามารถตรวจคัดกรองพบเพื่อป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ด้วยการตรวจมะเร็งปากมดลูก
ความสำคัญของการตรวจมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกเป็นภัยเงียบใกล้ตัวผู้หญิงทุกคน ความน่ากลัวคืออาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูกมักไม่แสดงชัดเจน ทำให้ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าตนเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง กว่าจะรู้ตัวอาการมะเร็งปากมดลูกก็อยู่ในระยะลุกลามที่ยากต่อการรักษา การตรวจมะเร็งปากมดลูกจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากอะไร?
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus (HPV) กลุ่มสายพันธุ์ที่มีก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด 15 สายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 70% ซึ่งเชื้อไวรัส HPV มักติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การมีคู่นอนหลายคน หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่มีคู่นอนหลายคน โดยเชื้อ HPV จะทำให้เซลล์ที่ปากมดลูกเกิดความผิดปกติและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด
ผู้ที่มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปากมดลูก
เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ ดังนั้นผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้มีความเสี่ยงจะเป็นมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน เช่น
- การสูบบุหรี่บ่อย
- การตั้งครรภ์หรือมีบุตรหลายคน
- การรับประทานยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน
- ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- ไม่เคยตรวจภายในเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ควรตรวจมะเร็งปากมดลูกเมื่อไหร่?
ผู้หญิงทุกคนสามารถเริ่มตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่อายุ 21 ปีขึ้นไป หรือ 3 ปี หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หลังจากนั้นตรวจซ้ำอย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าตรวจเจอรอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง ก็สามารถรักษาให้หายขาดก่อนจะพัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็งได้ ในขณะเดียวกันหากตรวจเจอมะเร็งระยะแรก การดูแลรักษาจะง่ายกว่ามะเร็งระยะลุกลาม ทำให้มีโอกาสหายสูง โดยวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่แพทย์นิยมใช้ คือ การตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) ควบคู่ไปกับการตรวจภายใน
อาการเริ่มแรกมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการแสดงใด ๆ ส่วนใหญ่จะตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แต่หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ควรรีบพบแพทย์ทันที เพราะเป็นสัญญาณเตือนโรคมะเร็งปากมดลูก
- ตกขาวผิดปกติ เช่น ปริมาณมากผิดปกติ มีเลือดปน มีกลิ่น
- เลือดออกขณะมีเพศสัมพันธ์
- เลือดออกหลังจากหมดประจำเดือน
- ประจำเดือนมานานขึ้น หรือมีปริมาณมากกว่าที่เคยเป็นมาก่อน
- ปวดหน่วงท้องน้อยโดยไม่ทราบสาเหตุ
- มีอาการเจ็บหลังจากมีเพศสัมพันธ์
มะเร็งปากมดลูกรักษาหายไหม?
มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ โดยการรักษาตามระยะของมะเร็ง แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
- ระยะก่อนมะเร็ง: รักษาโดยการผ่าตัดเล็กเพื่อตรวจและติดตามอาการ ระยะนี้สามารถรักษาหายได้ 100%
- มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1: เซลล์มะเร็งยังอยู่บริเวณปากมดลูกเท่านั้น รักษาโดยการผ่าตัดใหญ่ โดยผ่าตัดมดลูก เลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน มีโอกาสรักษาหาย 80-90%
- มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2: เซลล์มะเร็งกระจายออกนอกมดลูก แต่ยังไม่ถึงผนังอุ้งเชิงกรานหรือช่องคลอดส่วนล่าง ไม่สามารถผ่าตัดมดลูกได้ ต้องรักษาโดยการฉายรังสีและการให้เคมีบำบัด มีโอกาสรักษาหาย 50-60%
- มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3: เซลล์มะเร็งกระจายชิดเชิงกราน รักษาโดยการฉายรังสีฝังแร่และเคมีบำบัด มีโอกาสรักษาหาย 20%
- มะเร็งปากมดลูกระยะที่ 4: เซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ใหญ่ หรืออวัยวะอื่นที่เลยกระดูกเชิงกรานไป รักษาโดยเคมีบำบัด โอกาสรักษาหายค่อนข้างน้อย เป็นการประคองอาการให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้นานขึ้น
แม้มะเร็งปากมดลูกจะเป็นภัยร้ายของผู้หญิง แต่ก็เป็นโรคมะเร็งที่สามารถรักษาให้หายได้ หากมีการตรวจมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ รวมทั้งสามารถป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV จะช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูกและป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นอย่าลืมตรวจเช็กความผิดปกติของร่างกาย และอย่ากลัวหรืออายที่จะไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพราะหากละเลย มะเร็งปากมดลูกอาจกลายเป็นโรคร้ายที่ทำลายชีวิต
ช่วยค้นหาประกันที่ใช่
ดูแล คุ้มครองได้ตรงใจคุณ
เพียงเลือกสิ่งที่คุณสนใจ และให้เราเลือกประกัน
ที่เหมาะที่สุดสำหรับคุณ