สิทธิประโยชน์ประกันลดหย่อนภาษีที่ต้องรู้อัปเดต 2566
หลายคนทราบกันดีว่าการทำประกัน
นอกจากจะได้รับความคุ้มครองแล้วยังได้สิทธิในการลดหย่อนภาษีอีกด้วย
แต่พอใกล้เวลาที่ต้องยื่นภาษี
หลายคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่า
ประกันลดหย่อนภาษี ได้เท่าไร?
มีเงื่อนไขอะไรบ้าง? เราจึงสรุปข้อมูลดี ๆ
เกี่ยวกับประกันลดหย่อนภาษี
เพื่อให้เลือกซื้อประกันที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด
ทำประกันลดหย่อนภาษีได้จริงหรือไม่?
ทำประกันลดหย่อนภาษีได้จริง โดยเงื่อนไขต้องเป็นไปตามสรรพากรกำหนด ซึ่งประกันก็มีให้เลือกหลายรูปแบบ แต่ละรูปแบบก็มีเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีที่ต่างกัน
ทำประกันลดหย่อนภาษีได้เท่าไร?
ประกันชีวิตที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประกันชีวิตแบบทั่วไป และแบบบำนาญ
1. ประกันชีวิตทั่วไป
ประกันชีวิตทั่วไป คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองชีวิตแก่ผู้เอาประกัน โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งตามสัญญาแก่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญา หากผู้เอาประกันเสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งประกันชีวิตแบบทั่วไปที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้มี ดังนี้
-
ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ (Whole Life)
ประกันชีวิตที่เน้นคุ้มครองชีวิตระยะยาว
ค่าเบี้ยประกันไม่สูง
และจ่ายเบี้ยเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น
โดยบริษัทประกัน
จะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์ เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต หรือมีชีวิตอยู่ครบตามสัญญา -
ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา (Term)
ประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิตระยะเวลาสั้น ๆ
ค่าเบี้ยประกันไม่สูง
โดยบริษัทประกันจะจ่ายเงินให้กับผู้รับประโยชน์
เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิตเท่านั้น หากครบกำหนดแล้วผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ จะไม่ได้รับทุนประกันคืน - ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ (Endowment) ประกันชีวิตที่มาในรูปแบบของการเก็บออมเงินควบคู่ไปกับการคุ้มครอง มีเงินคืนระหว่างทาง โดยเน้นการได้รับเงินคืนมากกว่าความคุ้มครองที่จะได้รับ
- ประกันชีวิตควบการลงทุน (Investment Linked Life Insurance) ประกันชีวิตที่ควบรวมการลงทุนในกองทุนรวม โดยจะได้รับความคุ้มครองชีวิตไปพร้อมกันโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุน
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตทั่วไป
มาตอบคำถาม ทำประกันลดหย่อนภาษีได้เท่าไร? สำหรับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตทั่วไปนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา และแบบสะสมทรัพย์ สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง หากมีประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000 บาท
- ประกันชีวิตควบการลงทุน ค่าเบี้ยประกันจะถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. ค่าการประกันภัย 2. ค่าใช้จ่ายหลักอื่น ๆ ของกรมธรรม์ 3. ส่วนของการลงทุน โดยค่าเบี้ยประกันในส่วนที่ 1 และ 2 เมื่อนำมารวมกับประกันชีวิตแบบทั่วไป สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 100,000 บาท ส่วนที่นำไปลงทุนไม่สามารถนำมารวมเพื่อลดหย่อนภาษีได้
เงื่อนไขลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตทั่วไป
- ต้องเป็นประกันชีวิตโดยบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
- ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
- กรณีที่มีการจ่ายเงินคืนทุกปีระหว่างทาง เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยรายปี
- กรณีที่มีการจ่ายเงินคืนตามช่วงเวลา เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสมของแต่ละช่วงเวลา
- หากมีการเลิกสัญญา หรือเวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบ 10 ปี จะไม่สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ และต้องจ่ายคืนภาษีย้อนหลังที่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนไป พร้อมดอกเบี้ย 1.5% ต่อเดือน ของยอดภาษีที่จ่าย อ้างอิงข้อมูล Rabbitcare
2. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองในรูปแบบรายได้หลังเกษียณ โดยบริษัทประกันจะเริ่มจ่ายเงินให้ผู้เอาประกันเมื่อเกษียณ และจ่ายไปจนถึงอายุที่กำหนดในสัญญา
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตแบบบำนาญ
ประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ถ้าทำประกันแบบบำนาญร่วมกับประกันชีวิตทั่วไป สามารถแบ่งเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญไปรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปให้ครบสิทธิ์ 100,000 บาทได้ กล่าวคือ ประกันชีวิตแบบบำนาญลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท หากไม่ได้ใช้สิทธิ์ลดหย่อนสำหรับประกันชีวิตทั่วไปนั่นเอง
เงื่อนไขลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตแบบบำนาญ
- ต้องเป็นประกันชีวิตโดยบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
- ประกันชีวิตต้องมีระยะเวลาคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
- มีการจ่ายผลประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ โดยกำหนดช่วงอายุการจ่ายผลประโยชน์เป็น 55-85 ปี และต้องจ่ายเบี้ยประกันครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ
ทำประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้หรือไม่?
ไม่เพียงแต่ประกันชีวิตเท่านั้น ประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน โดยประกันสุขภาพที่นำมาลดหย่อนได้ มีดังนี้
- ประกันสุขภาพ ประกันที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ
-
ประกันภัยอุบัติเหตุ
ประกันที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลเมื่อผู้เอาประกันประสบอุบัติเหตุ
ได้รับความบาดเจ็บทางร่างกาย รวมถึงการสูญเสียอวัยวะ
ทุพพลภาพ การแตกหักของกระดูก - ประกันภัยโรคร้ายแรง ประกันที่ให้ความคุ้มครองเมื่อตรวจเจอโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง
- ประกันภัยการดูแลระยะยาว ประกันที่ให้ความคุ้มครองกรณีที่ผู้เอาประกันไม่สามารถทำกิจกรรมอย่างน้อย 3 ใน 5 อย่างนี้ได้ด้วยตนเอง ประกอบไปด้วย การเปลี่ยนจากนอนไปนั่ง การเดิน การแต่งกาย การอาบน้ำชำระร่างกาย การรับประทานอาหาร โดยต้องเป็นต่อเนื่องติดต่อกันไม่น้อยกว่า 180 วัน
ทำประกันสุขภาพลดหย่อนภาษีได้เท่าไร?
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันสุขภาพ
สิทธิ์ลดหย่อนภาษีของประกันสุขภาพ แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
- ประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 25,000 บาท เมื่อรวมค่าลดหย่อนกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 15,000 บาท แล้วถ้าแบ่งจ่ายเบี้ยประกันร่วมกับพี่น้อง ใครจะได้สิทธิลดหย่อนภาษี? คำตอบคือ พี่น้องทุกคนสามารถยื่นลดหย่อนภาษีได้ โดยจะต้องหารเฉลี่ยค่าเบี้ยประกันเท่ากัน ๆ กัน ยกตัวอย่าง เราและน้อง จ่ายเบี้ยประกันไป 15,000 บาท จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้คนละ 7,500 บาท นอกจากนี้ยังสามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่คู่สมรสไปลดหย่อนภาษีได้ แต่เฉพาะในกรณีที่คู่สมรสไม่มีรายได้เท่านั้น
เงื่อนไขลดหย่อนภาษีของประกันสุขภาพ
- ต้องเป็นประกันสุขภาพโดยบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
- สำหรับประกันสุขภาพพ่อแม่ ตัวเรา/คู่สมรส ต้องเป็นลูกแท้ ๆ ตามกฎหมายของพ่อแม่
- พ่อแม่ต้องมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
- เราหรือพ่อแม่คนใดคนหนึ่งอยู่ในประเทศไทยครบ 180 วันในปีนั้น ๆ
อ่านมาถึงตรงนี้
จะเห็นได้ว่าสิทธิ์ประกันลดหย่อนภาษีของประกันแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน
รวมทั้งยังมีเงื่อนไขในการลดหย่อนด้วย
ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจ
ค่าลดหย่อนประกันแต่ละประเภทอย่างถี่ถ้วน
เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนถูกต้องตามที่ควรจะได้รับ
รวมทั้งป้องกันการใช้สิทธิ์ลดหย่อนผิดพลาด
อย่างไรก็ตามก่อนตัดสินใจว่าจะทำประกันลดหย่อนภาษีที่ไหนดี
อย่าลืมตรวจสอบความคุ้มครองของแผนประกันเป็นหลัก
เพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเพียงผลประโยชน์เพิ่มเติมเท่านั้น
ช่วยค้นหาประกันที่ใช่
ดูแล คุ้มครองได้ตรงใจคุณ
เพียงเลือกสิ่งที่คุณสนใจ และให้เราเลือกประกัน
ที่เหมาะที่สุดสำหรับคุณ