รวม 8 เทคนิคการกู้เงินสร้างบ้านที่จำเป็นต้องรู้ รวม 8 เทคนิคการกู้เงินสร้างบ้านที่จำเป็นต้องรู้

รวม 8 เทคนิคการกู้เงินสร้างบ้านที่จำเป็นต้องรู้

การลงทุนเพื่อที่อยู่อาศัย คือการลงทุนครั้งใหญ่ระยะยาวสำหรับคนที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเอง สิ่งสำคัญคือการกู้เงินเพื่อสร้างบ้านจะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาทางการเงินจึงควรศึกษาและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการกู้เงินทำบ้าน จะได้ไม่หนักอกหนักใจภายหลัง บทความนี้จะพาทุกคนไปเรียนรู้ 8 เทคนิคการกู้เงินสร้างบ้านกัน

สำรวจการเงินตัวเอง

1. สำรวจการเงินตัวเอง

ธนาคารจะต้องดูภาระทางการเงินของเราประกอบการตัดสินใจให้กู้เพื่อสร้างบ้าน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องรู้สถานะทางการเงินของตัวเองก่อนว่ารายรับ รายจ่าย เงินเก็บสำรอง หนี้สิน หรือภาระทางการเงินอื่นๆ ว่าเป็นเช่นไร เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจสำหรับการติดต่อธนาคารในการขอกู้เงินสร้างบ้าน เนื่องจากต้องดูความสามารถในการกู้ ควบคู่ไปกับยอดที่จะสามารถผ่อนชำระในแต่ละงวดได้ด้วย นอกจากนี้ การสำรวจการเงินของตัวเองจะทำให้ทราบความเหมาะสมของบ้านที่จะสร้าง เช่น ต้องการบ้านขนาดเท่าไหร่ ทำเลไหน ไปจนถึงการออกแบบตกแต่งภายในที่ต้องใช้เงินเท่าไร จึงไม่ควรมองข้ามขั้นตอนแรกนี้ไป

2. สำรวจที่ดิน

ที่ดินแต่ละที่ราคาสูงต่ำไม่เท่ากัน บางที่ทำเลดี ใกล้เมือง ติดรถไฟฟ้า ใกล้ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล หรือจุดสัญจรอื่นๆ ราคาก็จะค่อนข้างสูง แต่หากเป็นที่ดินห่างออกมา ราคาก็จะลดหลั่นลงไป หรือพิจารณาร่วมกับการเดินทางไปทำงาน มีรถสาธารณะให้ใช้มากน้อยเพียงใด ก็จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจได้มากขึ้น เราต้องไม่ลืมว่าทำเลที่ดินก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญกับการสร้างบ้าน รวมไปถึงการหาผู้รับเหมาสำหรับการก่อสร้างด้วย และทุกการก่อสร้างจะต้องได้รับการอนุญาตจากเทศบาลของที่ดินนั้น หรือสำนักงานเขตก่อน เพื่อจะได้นำใบประเมินราคาไปยื่นเอกสารการขอยื่นกู้เงินเพื่อจะสร้างบ้านต่อไป

นอกจากนี้ หากที่ดินบนโฉนดนั้นเป็นของผู้กู้ การกู้เงินกับทางธนาคารเพื่อจะสร้างบ้านย่อมทำได้สะดวกมากกว่าการที่ชื่อในโฉนดเป็นชื่อผู้อื่น เพราะจะต้องมีการกู้ร่วมกันเกิดขึ้นด้วย

วางแผนการเงินให้ดี

3. วางแผนการเงินให้ดี

ต้องพึงคิดว่า เรากำลังจะใช้เงินก้อนใหญ่ซึ่งอาจเป็นหนี้ระยะยาว จะทำอย่างไรที่จะไม่ทำให้หนี้ก้อนนั้นส่งผลลำบากแก่ตัวเอง หลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือนแล้ว ให้ลองออมเงินส่วนที่จะต้องใช้ผ่อนบ้าน ปกติแล้วจำนวนเงินที่จะใช้ผ่อนบ้านนั้นไม่ควรเกิน 30–50 % ของรายได้ต่อเดือนหลังหักค่าใช้จ่าย เช่น ลองเก็บเงินเดือนละ 9,000 บาทเอาไว้ในระยะหนึ่งเป็นค่าผ่อนบ้าน เพื่อประเมินดูว่าภายหลังจากที่มีภาระทางการเงินก้อนนี้เข้ามามันส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายอื่นๆ ของเราหรือไม่ หากเกิดการติดขัดหมุนเงินไม่ทัน ก็อาจเป็นผลเสียได้ในอนาคต ดังนั้นการวางแผนทางการเงินจึงสำคัญมากสำหรับการกู้เงินสร้างบ้าน จึงควรศึกษาให้ถี่ถ้วนหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้คำนวณค่าใช้จ่าย ดอกเบี้ยต่างๆ ได้เหมาะสมมากขึ้น

4. ศึกษากฎหมายลดหย่อนภาษี

ดอกเบี้ยที่ใช้กู้เงินเพื่อสร้างบ้านนั้น สามารถนำมาขอลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์การลดหย่อนภาษีนี้กับบ้านกี่หลังในครอบครองก็ได้ (แต่รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท) ดังนั้นการเก็บเอกสารสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการยื่นกู้นำเงินมาสร้างบ้านเอาไว้ก็จะได้ใช้ยื่นเพื่อขอลดหย่อนภาษีได้อีกทาง แต่ทั้งนี้ หากในโฉนดที่ดินมีชื่อผู้อื่นในการกู้เงินมาทำบ้านด้วย ก็จะต้องเฉลี่ยสิทธิ์ลดหย่อนภาษีตามจำนวนของคนที่กู้ร่วมด้วยเช่นกัน

เลือกแบบบ้าน

5. เลือกแบบบ้าน

ไม่ว่าใครก็ย่อมอยากได้บ้านที่สวย ถูกใจ อยู่แล้วมีความสุข ซึ่งขั้นตอนของการเลือกแบบบ้านนั้นก็จำเป็นที่จะต้องดูอย่างละเอียดถี่ถ้วน อาจพิจารณาจากความชอบของผู้อยู่อาศัย ความเหมาะสม และเลือกแบบบ้านให้เหมาะกับจำนวนผู้อยู่อาศัย โดยแบบบ้านก็ยังมีความสำคัญตรงที่ให้ทางธนาคารใช้ประเมินราคาสำหรับการปล่อยกู้เงินในการสร้างบ้านตามแบบเบื้องต้นอีกด้วย สามารถเลือกแบบบ้านได้ทั้งแบบบ้านฟรีจากเว็บไซต์ของกรมโยธาธิการและผังเมือง แบบบ้านสำเร็จรูปจากโครงการบ้านต่างๆ หรือจะให้ผู้เชี่ยวชาญออกแบบบ้านให้ใหม่ก็ได้

ขออนุญาตสำหรับสร้างบ้าน และเลือกผู้รับเหมา

6. ขออนุญาตสำหรับสร้างบ้าน และเลือกผู้รับเหมา

ไม่ใช่ว่ากู้เงินสร้างบ้านผ่าน ผู้รับเหมาพร้อมเริ่มงานแล้วจะสามารถสร้างได้เลย ขั้นตอนที่ขาดไปไม่ได้คือการยื่นขออนุญาตสร้างบ้านที่หลายคนอาจยังไม่รู้ โดยต้องไปยื่นคำร้องขออนุญาตสร้างบ้านที่สำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่นั้น เพื่อให้ทางการได้ตรวจสอบแบบแปลนบ้านที่เราต้องการจะสร้าง หากมีจุดใดต้องแก้ไขก็ต้องยื่นแก้และยื่นขออนุญาตใหม่ เมื่อทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยจึงพร้อมที่จะเริ่มงานได้ โดยจะต้องไม่ลืมว่า เอกสารทุกใบที่ใช้จะต้องเก็บไว้กับตัวเองและทีมงานที่เกี่ยวข้อง อย่างผู้รับเหมา วิศวกร หรือสถาปนิก นอกจากนี้ ต้องพึงระวังว่าหากมีปัญหาระหว่างการก่อสร้าง เช่น เสียงดังรบกวน ก่อสร้างยามวิกาล ทางหน่วยงานรัฐอาจออกคำสั่งหยุดก่อสร้างชั่วคราวเพื่อดูทางกฎหมายก่อนว่าจะสามารถสร้างต่อได้หรือต้องยุติไปเลย จึงควรจัดการอย่างรอบคอบ

การเลือกผู้รับเหมาก็มองข้ามไม่ได้ หลายคนประสบปัญหาผู้รับเหมาเทงาน ทำให้งานไม่เสร็จตามเวลา หรือต้องแก้ไขหลายจุดทำให้งบประมาณบานปลาย ดังนั้นควรเลือกผู้รับเหมาดีๆ เปรียบเทียบหลายบริษัท ดูรีวิวให้เยอะ ตระหนักเสมอว่าของถูกอาจมีปัญหาจุกจิกตามมา แต่ของแพงอาจแลกด้วยประสบการณ์ของผู้รับเหมา เมื่อต้องกู้ธนาคารเพื่อสร้างบ้านแล้วก็ควรพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุด เทคนิคอีกอย่างของการเลือกผู้รับเหมาคือให้เซ็นสัญญาจ่ายเงินเป็นงวดๆ ไป เพื่อป้องกันการเทงาน หรือทำให้เงินจำนวนมากของเราถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า

เตรียมเอกสารสำคัญ

7. เตรียมเอกสารสำคัญ

เอกสารสำคัญที่ควรเตรียมเอาไว้สำหรับการกู้สร้างบ้าน มีดังนี้

กดและเลื่อนเพื่อดูข้อมูลภายในตาราง
ประเภทเอกสาร เอกสารที่ต้องเตรียม
เอกสารส่วนบุคคล
  • บัตรประจำตัวประชาชน / บัตรข้าราชการ / บัตรรัฐวิสาหกิจ
  • สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
  • สำเนาทะเบียนสมรส / ใบหย่า / ใบมรณะบัตร (ถ้ามี)
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของคู่สมรส (ถ้ามี)
เอกสารข้อมูลรายได้

กรณีเป็นพนักงานประจำ หรือผู้มีรายได้ประจำ

  • ใบรับรองเงินเดือน
  • หลักฐานการรับเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน (สลิปเงินเดือน)
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
  • ข้าราชการต้องใช้หนังสือรับเงินเดือนแบบใช้สวัสดิการของหน่วยงาน

เจ้าของกิจการ

  • หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท หรือสำเนาทะเบียนการค้า
  • รายชื่อผู้ถือหุ้น
  • สำเนาบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี
  • หลักฐานการเสียภาษี เช่น ภ.พ.30
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 12 เดือน
  • รูปถ่ายกิจการของตนเอง พร้อมแผนที่ตั้ง

ผู้ประกอบอาชีพอิสระ

  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
  • สำเนาบัญชีเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือน
เอกสารรูปแบบบ้าน
  • แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดรูปแบบของบ้าน วัสดุที่จะใช้
  • แบบแสดงโครงสร้างของบ้านทั้งหมด
  • แบบแสดงรายละเอียดงานท่อต่างๆ ภายในบ้าน
  • แบบแสดงรายละเอียดระบบไฟฟ้าภายในบ้าน
  • อื่นๆ เช่น แบบตกแต่งภายใน
  • เอกสารที่แสดงการคำนวณซึ่งผ่านโดยวิศวกรโครงสร้าง เพื่อยืนยันความปลอดภัยและได้มาตรฐาน
สัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้าง
  • หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง
โฉนดที่ดิน
  • โฉนดที่ดินแสดงสิทธิการเป็นเจ้าของที่ดินนั้น
  • หากไม่ใช่ที่ดินของตนเอง (เช่า) ต้องมีเอกสารแสดงสิทธิได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างจากเจ้าของที่ดิน และสำเนาทะเบียนบ้านผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน
ใบอนุญาตการสร้างบ้าน
  • ใบอนุญาตการสร้างบ้านจากสำนักงานเขตท้องถิ่น
  • ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ของวิศวกรผู้ควบคุมงาน

8. เลือกสถาบันการเงินสำหรับกู้สร้างบ้าน

การกู้ธนาคารเพื่อจะสร้างบ้านนั้นควรหาข้อมูลของแต่ละที่เพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อจะได้เลือกธนาคารที่ตรงความต้องการมากสุด อาจพิจารณาดูจากอัตราดอกเบี้ยกู้สร้างบ้าน หรือวงเงินที่จะได้รับ เพราะมีข้อดีคือทำให้เราวางงบประมาณได้ชัดเจนมากขึ้น และจะได้วางแผนการจ่ายเงินให้พอดี ไม่ให้เกิดหนี้ตามมาระยะยาว หากใครที่ต้องการกู้สร้างบ้าน ทางธนาคารกสิกรไทยมี สินเชื่อบ้านสำหรับกู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินตนเอง (ปลอดภาระ) ดูรายละเอียด

ก่อนจะกู้เงินเพื่อสร้างบ้านควรมีการเตรียมตัวให้ดี ศึกษาข้อมูลต่างๆ ของธนาคารที่จะยื่นกู้สร้างบ้าน ผู้รับเหมา แบบบ้านที่ต้องการ เตรียมเอกสารให้พร้อม ยื่นขอใบอนุญาตการก่อสร้าง และต้องวางแผนทางการเงินให้ดีเพราะการกู้สร้างบ้านนั้นต้องใช้เงินก้อนใหญ่ อาจก่อให้เกิดหนี้ระยะยาวหากจัดสรรเงินผิดพลาด และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือการคำนวณดอกเบี้ย MRR ที่ใช้ในการกู้สร้างบ้านโดยชำระงวดเท่าเดิม แต่ดอกเบี้ยน้อยลง ใช้กับเงินกู้ทุกประเภทที่มีระยะเวลาในการผ่อนชำระแน่นอน เพื่อจะได้ทำให้เราใช้จ่ายในการสร้างบ้านอย่างคุ้มค่า ไม่เกิดหนี้ตามมาให้กวนใจ

อ่านบทความสินเชื่อบ้านและเรื่องบ้านเพิ่มเติม

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top