Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

กระจายความเสี่ยงยังใช้ได้กับการลงทุนหรือไม่

กระจายความเสี่ยงยังใช้ได้กับการลงทุนหรือไม่


ปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งปีที่ยากสำหรับนักลงทุน เพราะราคาทุกสินทรัพย์หลักๆ ของโลกพร้อมใจปักหัวลงสร้างภาระขาดทุนทั่วหน้า ต่างจากปีอื่นๆ ที่ยังพอมีสินทรัพย์บางประเภทเป็นหลุมหลบภัยได้บ้าง ปรากฏการร์นี้นับว่าขัดกับแนวคิดการลงทุนที่แนะนำกันไปทั่วโลก
 
ปกติ เมื่อเศรษฐกิจอยู่ในช่วงฟื้นตัวหรือเติบโต ตลาดหุ้นมักจะให้กำไรดี สวนทางกับพันธบัตรที่ราคาอาจลดลงจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงชะลอตัวหรือถดถอย ตลาดหุ้นมักจะปรับตัวลง แต่ราคาสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรหรือทองคำควรจะปรับตัวขึ้น ภาพผลตอบแทนที่สวนทางกันนี้เรียกว่า Negative Correlation ซึ่งเป็นพื้นฐานสนับสนุนการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงที่ได้ผลดีเสมอมา แต่ในปี 2018 ทั้งหุ้น พันธบัตร หรือแม้แต่ทองคำกลับให้ผลตอบแทนติดลบที่ -9%, -1% และ -2% ตามลำดับ ซึ่งผิดปกติอย่างมาก จากสถิติย้อนหลัง 30 ปี พบว่า มีเพียง 2 ปี คือ ปี 2015 และ 2018 ที่ทั้งหุ้นโลกและพันธบัตรรัฐบาล ติดลบพร้อมกัน
 
พิจารณาความเคลื่อนไหวของตลาดทุนทั้งปี 2018 จะพบว่าความสัมพันธ์ที่สวนทางกันระหว่างหุ้นและพันธบัตรเกิดขึ้นเพียง 2 ช่วงหลักๆ เท่านั้น คือ เดือนมกราคม (ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากปี 2017 ขณะที่พันธบัตรปรับตัวลง) และกลางเดือนตุลาคมถึงสิ้นปี (ตลาดหุ้นปรับลงแรงจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ขณะที่ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้น) แปลว่าในปี 2018 มีระยะเวลาเกือบ 9 เดือน ที่การกระจายความเสี่ยงโดยการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์ใช้ไม่ได้ผล เนื่องจากทุกตลาดเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันคือปรับตัวลง หรือ Sideways นั่นเอง คำถามคือเกิดอะไรขึ้นในช่วง 9 เดือนนั้น 

คำตอบคือแนวโน้มเศรษฐกิจที่สวนทางกันระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ โดยสหรัฐฯ ที่ขยายตัวดีต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีจากนโยบายลดภาษีนิติบุคคลของ ปธน.ทรัมป์ รวมถึงการเปิดสงครามการค้ากับจีนก็น่าจะส่งผลประโยชน์กับสหรัฐฯ มากขึ้น ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ และหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสวนทางกับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเกิดใหม่ ไม่รวมถึงประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป และญี่ปุ่นด้วย ดังนั้น หากพิจารณาเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ และพันธบัตรรัฐบาลโลกยังจะพบว่าความสัมพันธ์แบบสวนทางกันบ้าง

คำถามที่สำคัญกว่านั้น คือการมองไปข้างหน้าว่า ลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงกับปี 2019 มีแนวโน้มเช่นไร เหตุการณ์ในช่วงปลายปี 2018 สืบเนื่องมาจนถึงเดือนมกราคม 2019 น่าจะสะท้อนว่า ปัจจุบันตลาดพุ่งเป้าไปที่ความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจและสภาพคล่องทางการเงินของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะถดถอยลงในอนาคตอันใกล้ มุมมองต่อตลาดหุ้นดูซบเซาลง ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจกดดันให้ FED เปลี่ยนแนวทางนโยบายการเงินจากเข้มงวดเข้าสู่โหมดผ่อนคลายขึ้น เพื่อลดการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไม่ให้เร็วและแรงเกินไป จากเมื่อเร็วๆ นี้ตลาดกลัวว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยมากไป กลายเป็นว่า ปัจจุบันตลาดมองโอกาสที่ FED อาจไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ รวมทั้งพูดกันถึงความเป็นไปได้ที่ FED อาจจะลดดอกเบี้ยในปี 2020 อย่างหนาหูขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้ Yield พันธบัตรสหรัฐฯ 10 ปีลดลงมาที่ 2.2-2.4% จากปัจจุบันที่ 2.7% ได้ เปิดทางให้ราคาพันธบัตรปรับตัวขึ้นสวนทางกับตลาดหุ้นที่ซบเซา นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ยังมี ทำให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรและทองคำสูงขึ้นอีกด้วย

ในทางกลับกัน หากตลาดคลายความกังวลอย่างรวดเร็ว เพราะ FED มีท่าทีชัดเจนว่าที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณชะลอตัว บวกกับข้อพิพาทการค้าจีน – สหรัฐฯ ที่อาจจะบรรลุข้อตกลงระยะยาวได้ ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสรีบาวน์แรง สัดส่วนการลงทุนในหุ้นก็จะกลายเป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวก

โดยสรุป เศรษฐกิจโลกในปี 2019 คาดว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันมากขึ้น แตกต่างกับปี 2018 ที่สหรัฐฯโดดเด่นอยู่ประเทศเดียว เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มเห็นแนวโน้มการอ่อนแรงจากผลของการขึ้นดอกเบี้ยมากว่า 9 ครั้งในรอบ 4 ปี โดยเฉพาะปีล่าสุดที่ขึ้นถึง 4 ครั้ง และความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวของผลตอบแทนในแต่ละสินทรัพย์น่าจะกลับมาเป็นปกติ ซึ่งหมายถึงโอกาสของผลตอบแทนสม่ำเสมอจากการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในหลายสินทรัพย์จะกลับมา

มีเพียง 2 ปีในรอบ 30 ปี ที่ทั้งหุ้นโลกและพันธบัตรรัฐบาลโลกให้ผลตอบแทนติดลบ 




ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562



กลับ
PRIVATE BANKING