ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distance) เพื่อลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกลงอย่างรุนแรง การจำกัดการเดินทางรวมทั้งการรณรงค์ให้อยู่บ้านส่งผลโดยตรงต่อหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เดินทาง และการบิน ที่ต้องยุติการให้บริการอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อมแต่หนักหน่วงไม่แพ้กันก็เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมน้ำมันด้วย เพราะปกติ ธุรกิจท่องเที่ยว เดินทาง และการบิน ต้องพึ่งพาน้ำมันในปริมาณมหาศาล เมื่อบวกกับจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดที่มาจากจีน อันเป็นที่ทราบกันดีว่า จีนคือผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 1 ของโลก แน่นอนว่าพิษ COVID-19 ได้ทำลายความต้องการใช้น้ำมันของโลกให้ลดฮวบลงโดยไม่มีใครมีโอกาสได้ตั้งตัว จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะหายไปมากกว่า 20 ล้านบาร์เรลต่อวัน กันเลยทีเดียว
ไม่เพียงความต้องการใช้น้ำมันเท่านั้น แต่มีสัญญาณส่อแววว่าพิษ COVID-19 จะดันอุปทานหรือกำลังการผลิตน้ำมันให้ล้นตลาดด้วย สืบเนื่องมาจากการแตกหักกันระหว่างซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นแกนนำฝั่งกลุ่มประเทศ OPEC กับรัสเซีย ซึ่งเป็นแกนนำฝั่งกลุ่ม Non OPEC ที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้เกี่ยวกับปริมาณการผลิตที่เคยมีร่วมกันมานานถึง 3 ปี สงครามราคาน้ำมันจึงปะทุขึ้นหลังซาอุฯ ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตจาก 9.7 เป็นมากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็น 10% ของอุปทานน้ำมันทั้งหมดของโลก พร้อมๆ กับการประกาศลดราคาน้ำมันดิบลงถึง 20% เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ทำให้ราคาน้ำมันถูกกดให้ตกต่ำลงมากถึง 54% ในเดือนมีนาคมเพียงเดือนเดียว โดยราคาน้ำมันดิบ WTI แตะจุดต่ำสุดในรอบ 18 ปี ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา
ล่าสุด ปธน.ทรัมป์ พยายามจะช่วยซาอุฯ และรัสเซียหาข้อตกลงเรื่องการตรึงปริมาณการผลิต เพราะในสงครามราคาน้ำมัน หนึ่งในผู้เสียหายสูงสุดไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากสหรัฐฯ ที่มีกำลังการผลิตมากที่สุดในโลกและกำลังเผชิญกับต้นทุนการผลิต Shale Oil ที่สูงกว่ากลุ่มประเทศ OPEC ความคาดหวังต่อการเจรจานี้ผลักราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่แล้วให้รีบาวด์กลับขึ้นมากว่า 29% ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน (ข้อมูล ณ 7 เมษายน 2020)
หากพิจารณาผลกระทบเป็นลูกโซ่ของราคาน้ำมันที่ปรับลงอย่างรุนแรง แน่นอนว่าจะไปลดผลประกอบการของบริษัทน้ำมันทั่วโลก รวมถึงกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ที่มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมัน เช่น กลุ่มประเทศละตินอเมริกา แม้อาจจะส่งผลดีต่อบริษัทในกลุ่มคมนาคมและกลุ่มประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน เช่น ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชีย ก็ตาม สุทธิแล้ว ดูเหมือนว่าความเสียหายและโอกาสทางเศรษฐกิจจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้กลบผลเชิงบวกไปเสียหมด คงเหลือเพียงในด้านการดำเนินนโยบายภาครัฐฯ ที่ราคาน้ำมันต่ำจะลดแนวโน้มเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยได้ง่ายและมากขึ้น
เมื่อก้าวผ่านสถานการณ์ COVID-19 ไปแล้ว ทิศทางราคาน้ำมันจะยังผันผวนอยู่มาก ในฝั่งหนึ่ง ราคาอาจปรับขึ้นได้จากอุปทานไม่เพียงพอ (Supply Shock) หลังจากสถานการณ์ต่างๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าที่อย่างรวดเร็วตอบสนองต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลทั่วโลกทุ่มกันสุดตัว แต่ความต้องการใช้น้ำมันที่คืนกลับมา ไม่ได้แปลว่าอุปทานจากการลดกำลังการผลิตจะสามารถกลับคืนมาได้รวดเร็วเท่า เพราะการผลิตน้ำมันดิบมีปัจจัยเฉพาะตัวหลากหลาย เช่น การปิดหลุมเจาะชั่วคราวแบบความดันปิดอาจทำให้ท่อส่งผ่านน้ำมันอุดตันหรือหลุมเจาะและแหล่งกักเก็บเสียหายถาวรได้ ในอีกฝั่งหนึ่ง แนวโน้มการบริโภคน้ำมันในอนาคตจะน้อยลงเพราะการณรงค์ให้ทุกฝ่ายหันมาใช้พลังงานแห่งอนาคตจากลมและแสงอาทิตย์หรือพลังงานทางเลือกอื่นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
สำหรับการให้คำแนะนำการลงทุน นักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนน้ำมัน เพราะนอกจากน้ำมันจะเป็นสินทรัพย์ทางการเมืองที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว แนวโน้มการเลิกใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมัน จะเป็นเทรนด์ระยะยาวและมีผลต่อผลตอบแทนในอนาคต เพราะการผลิตน้ำมันเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศและเป็นที่มาของภาวะโลกร้อนที่คุกคามอนาคตของมนุษยชาติ แนวโน้มนี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มขึ้น หากสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาที่สะท้อนในการเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมัน (โดยใช้ราคา WTI อ้างอิง) ที่ให้ลดลง (ขาดทุน) เฉลี่ย 9.5% ต่อปี ตั้งแต่ปี 2010 ถึงปัจจุบัน
ประจำวันที่ 10 เมษายน 2563