ท่ามกลางความสดใสของผลตอบแทนทั้งในตลาดหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลกอันเป็นอานิสงค์จากท่าทีที่ผ่อนคลายลงของเฟด รวมทั้งข่าวความคืบหน้าของการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทำให้ดูเหมือนความกังวลเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เคยเป็นสาเหตุสำคัญในการร่วงลงอย่างหนักของราคาสินทรัพย์เสี่ยงเมื่อไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยลง ประกอบกับสัญญาณในรายงานภาคการผลิตที่ออกมาล่าสุดเหมือนจะกระเตื้องขึ้น ตอกย้ำความคาดหวังต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและราคาสินทรัพย์ในระยะต่อไป
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต หรือ Purchasing Manager Index (PMI) ซึ่งจัดทำโดยการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการในภาคเอกชนซึ่งเป็นต้นน้ำของกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ จึงนับได้ว่าเป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) ตัวหนึ่ง ที่นักลงทุนทั่วโลกใช้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต โดยเกณฑ์การอ่านดัชนี PMI คือ หากได้ตัวเลขที่สูงกว่า 50 จะหมายถึง สภาวะที่กิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ จะขยายตัว ขณะที่หากตัวเลขออกมาต่ำกว่า 50 หมายถึงการหดตัว ทั้งนี้ รายงานล่าสุดประจำเดือนมีนาคม PMI ส่งสัญญาณกลับตัวชัดเจนในหลายๆ ประเทศ โดยภาคการผลิตของจีนที่พลิกกลับมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวอีกครั้ง ทั้งจากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ระดับ 50.5 สูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 49.6 และเดือนก่อนหน้าที่ 49.2 รวมถึง PMI จากรายงานของ Caixin ก็ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 50.8 สูงกว่าตลาดคาดและเดือนก่อนหน้าที่ 50.0 และ 49.9 ตามลำดับ โดยมีแรงหนุนมาจากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ ปริมาณการซื้อ และสินค้าคงค้างที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทขนาดกลางและเล็กล้วนส่งสัญญาณฟื้นตัว สะท้อนว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนเริ่มที่จะเห็นผลเป็นรูปเป็นร่าง และตลาดหุ้นโลก นำโดยหุ้นจีนปรับสูงขึ้นทันทีจากข่าวดีนี้ นอกจากจีนแล้ว อังกฤษก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตัวเลข PMI พลิกกลับอย่างชัดเจน โดยอยู่ที่ระดับ 55.1 สูงกว่าตลาดคาดที่ 51.2 และสูงกว่ารายงานในเดือนก่อนหน้าที่ 52.1 ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่มยูโรโซนกลับตกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ลง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตของเยอรมนี และฝรั่งเศสปรับตัวลงมาอยู่ในเกณฑ์หดตัวในเดือนมีนาคมที่ 49.7 และ 44.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคการผลิตของอิตาลีร่วงลงแตะจุดต่ำสุดในรอบ 70 เดือนที่ 47.4 ตอกย้ำภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าระดับการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศรอบนี้เริ่มมีเครื่องมือจำกัด รวมถึงเครื่องมือที่ใช้อยู่ก็มีประสิทธิภาพลดลง เช่น จีน ที่ดูแล้วรอบนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าปี 2015 มาก เห็นได้ทั้งจากความต้องการควบคุมระดับหนี้ โดยการรักษาสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ที่ระดับเดิม ซึ่งหมายถึง หนี้ที่จะโตขึ้นถูกจำกัดในสัดส่วนต่ออัตราการเติบโตของ GDP ขณะที่ไม่มีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเคยเป็นแรงหนุนหลักของ GDP จีน ในปี 2015-2016 ข้ามมาที่ฝั่งญี่ปุ่น และยูโรโซนที่ปัจจุบันยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ ซึ่งถือว่าเป็นระดับดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ดูไปดูมาแล้วดูจะไม่มีช่องว่างสำหรับการลดดอกเบี้ยมากไปกว่านี้เท่าใดนัก การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลตามมาตรการ QE เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบก็ดำเนินมายาวนานจนปริมาณพันธบัตรในงบดุลของ BOJ มีสัดส่วนสูงถึง 50% ของปริมาณพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งหมด ขณะที่ ECB ถือพันธบัตรของแต่ละประเทศในยูโรโซนตั้งแต่ 17-22% ของปริมาณพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมดในแต่ละประเทศเช่นกัน นอกจากนี้ ข้อพิพาททางการค้ายังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่กดดันภาคการผลิต ไม่ใช่เพราะภาษีนำเข้าที่แพงขึ้น แต่เป็นเพราะความไม่แน่นอนของทิศทางและผลการเจรจาทำให้ผู้ประกอบการกลัวที่จะผลิตสินค้าออกมาจำนวนมาก ทั้งนี้ หากในที่สุดสหรัฐฯ และจีนหาข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้ โดยที่สหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องยกเลิกภาษีนำเข้าที่เคยบังคับใช้ไปแล้ว บรรยากาศการผลิตและการลงทุนก็จะกลับมาดูดีขึ้น
เรายังเห็นหลายปัจจัยกดดัน จึงอาจเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าภาคการผลิตได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และจะกลับมาขยายตัวดีต่อจากนี้ ยังต้องจับตาดูกันต่อไปในระยะยาวๆ
ดัชนี PMI ภาคการผลิตทั่วโลกตั้งแต่ปี 2018
ประจำวันที่ 12 เมษายน 2562