Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ความเสี่ยงภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ขับเคลื่อนตลาดโลก

ความเสี่ยงภูมิศาสตร์การเมืองโลก (Geopolitics) ขับเคลื่อนตลาดโลก

​​​เชื่อว่านักลงทุนที่เสพสื่อเป็นประจำเจอแต่ข่าวที่ซ้ำซากในระยะนี้ เบื่อหน่ายกับข่าวเดิมที่ยืดเยื้อเป็นเวลาหลายเดือนหรือนานร่วมปี ข่าวนั้นคงหนีไม่พ้น ข้อพิพาทการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ นำโดยปธน.ทรัมป์ที่ทวีตข้อความจู่โจมประเทศจีนเป็นระลอกๆ หรือ ประเด็น Brexit ที่ล่าสุดแม้ว่าแนวโน้มลดน้อยลงที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง (No-deal Brexit) หรือเหตุการณ์จลาจลที่ร้อนระอุในฮ่องกง ภูมิศาสตร์การเมืองโลกเหล่านี้ เป็นความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้และกดดันเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยทิศทางที่ไม่แน่นอนการประเมินผลกระทบต่อตลาดเงินจึงเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาตร์ยากจะคาดเดา สิ่งที่นักลงทุนควรทำในระยะนี้ คือ อดทน และจัดสัดส่วนพอร์ตการลงทุนระยะยาว โดยมองข้ามความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ไป พร้อมทั้งกระจายความเสี่ยงลงทุนในหลายสินทรัพย์เพื่อผ่อนแรงกระทบขาลง 


ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจความหมายที่แท้จริงของความเสี่ยงด้านภูมิศาสตร์ หรือ “Geopolitical risk” ก่อน ความเสี่ยงนี้อ้างอิงถึงความขัดแย้งในหลากหลายมิติ เช่น ปัญหาสงครามที่มีการสู้รบที่เกิดขึ้นจริง ภาวะโลกร้อน หรือกรณี Brexit ก็ตาม หากพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ความเสี่ยงใดที่เกิดขึ้นและส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสั่นคลอน ไม่ว่าจะในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ หรือ ความมั่นคงของชาติ ความเสี่ยงเหล่านี้สร้างความผันผวนต่อตลาดสูง ส่งผลให้นักวิเคราะห์หลายสำนักไม่กล้าฟันธงมุมมองหรือกลยุทธ์แบบเด็ดขาดเพราะประเด็นต่างๆสามารถปรับเปลี่ยนได้ทุกนาที การลงทุนจึงเป็นไปแบบกล้าๆกลัว ไม่ใช่เพียงตลาดทุนเท่านั้นที่ถูกผลกระทบ แต่ภาพรวมเศรษฐกิจก็อาจชะงักลง จากการที่บริษัทต่างๆชะลอการลงทุนหรือการรับพนักงานเพิ่ม ผู้บริโภคเลื่อนการซื้อสิ้นค้าชิ้นใหญ่อย่างบ้าน หรือรถออกไป เพื่อเฝ้าจับตาดูผลกระทบก่อนตัดสินใจอะไรๆสำคัญ

หากย้อนไปดูเหตุการณ์ภูมิศาสตร์การเมืองโลกใหญ่ในอดีต  เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย วินาศกรรม 9/11 และ สงครามอิรัก เพื่อให้เห็นภาพว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นสินทรัพย์ใดสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้บ้าง อ้างอิงจากสถิติ ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ในขณะที่หุ้นสหรัฐฯและหุ้นโลกวัดโดยดัชนี S&P500 และ MSCI World ตามลำดับ ให้ผลตอบแทนติดลบ สะท้อนว่านักลงทุนมักวิ่งหาสินทรัพย์ที่ “ปลอดภัย” เมื่อความกลัวมาเยือน


สิ่งที่น่าสังเกต คือ ทองคำมักปรับตัวขึ้นเร็วกว่าพันธบัตรรัฐบาล นักลงทุนมือใหม่อาจมองการลงทุนในทองคำน่าดึงดูดใจกว่าพันธบัตรรัฐบาลในข่วงตลาดหุ้นขาลง แต่อย่าลืมว่าความผันผวนของ 2 สินทรัพย์นี้แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว พันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความแน่นอนในแง่ของกระแสเงินสดที่ได้ มีความผันผวนโดยเฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปีที่ 4.6% ขณะที่การลงทุนในทองคำจะไม่สร้างกระแสเงินสดอะไรเลย หวังแต่การเก็งกำไรจากราคาที่ปรับขึ้นล้วนๆ ความไม่แน่นอนของกระแสเงินสดจึงต่ำ ความผันผวนโดยเฉลี่ยย้อนหลัง 20 ปีจึงสูงกว่ามากที่ระดับ 14.7%

หันกลับมาดูภาพปัจจุบันที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงขับเคลื่อนตลาดโลกอย่างชัดเจน เห็นได้จากทิศทางของตลาดทุนในปัจจุบันมีความอ่อนไหวต่อข่าวรายวันมากกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้การลงทุนในปัจจุบันทำได้ค่อนข้างยาก คำแนะนำท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากต่อการคาดเดา คือ การหยุดนิ่ง และกระจายความเสี่ยงนั่นเอง มองไปข้างหน้าความผันผวนก็คงจะไม่หายไปง่ายๆ จึงควรเริ่มด้วย 1) ลดสัดส่วนของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นลง ในช่วงที่ตลาดยังไร้ทิศทาง 2) เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล เพื่อลดแรงต้านทานจากตลาดหุ้นที่ปรับฐานรุนแรงท่ามกลางข่าวร้ายที่โหมกระหน่ำรายวัน และ 3) เพิ่มการลงทุนในทองคำให้เป็นสัดส่วนหนึ่งในพอร์ต (ประมาณ 5% ของเงินลงทุนทั้งหมด) เพื่อเป็นตัวกระจายความเสี่ยงหากเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น

ประจำวันที่ 13 กันยายน 2562

กลับ
PRIVATE BANKING