Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

10 คำทำนายทิศทางตลาดต้นปี 2019

10 คำทำนายทิศทางตลาดต้นปี 2019


เริ่มต้นปีด้วยความสดใสเพราะตลาดหุ้นพร้อมใจเปิดบวกเป็นของขวัญปีใหม่ให้นักลงทุน จากกระแสข่าวดีที่ออกมาเป็นระยะทั้งความคืบหน้าการเจรจาการค้าจีน-สหรัฐฯ และท่าทีผ่อนคลายขึ้นของ FED แต่ความผันผวนยังสูง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของ Brexit และเพดานหนี้สหรัฐฯ ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนตกที่นั่งลำบากต่อคำถามว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยปี 2018 ที่เปิดอย่างสวยงามแต่ปิดลงอย่างรั้งไม่อยู่หรือไม่ วันนี้เรามีมุมมองของ Lombard Odier มาแบ่งปัน ดังนี้

1. ความผันผวนในตลาดการเงินโลก...จะยังอยู่ และสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น ที่สัมพันธ์กับตัวเลขเศรษฐกิจและประเด็นการเมืองสูง หากความกังวลทั้ง 2 เรื่องยังปลกคลุมตลาด ความเสี่ยงการลงทุนจะอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ราคาน่าสนใจและพื้นฐานยังแข็งแกร่ง
2. ถือสินทรัพย์สภาพคล่องสูง...รอจังหวะลงทุนได้ เตรียมสภาพคล่องอย่างเงินฝากหรือและกองทุนรวมตลาดเงิน รอพลิกวิกฤตจากความผันผวนของเศรษฐกิจและความรุนแรงทางการเมืองให้เป็นโอกาสการลงทุนดีๆ เพราะหากมีแรงเทขาย นักลงทุนจะได้ซื้อสินทรัพย์ที่ชอบในราคาถูกลง
3. หุ้นเดินหน้าต่อ…สร้างผลตอบแทนสูงกว่าตราสารหนี้ พันธบัตรหรือหุ้นกู้อ่อนไหวง่ายกับการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ย แม้ FED ส่งสัญญาณจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วไป ตอกย้ำว่าสภาพคล่องในตลาดยังมี ดังนั้น สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นยังคงตอบโจทย์การลงทุนที่ดี
4. หุ้นเทคโนโลยีและธนาคารยังแรง โดยเฉพาะธนาคารสหรัฐฯ และยุโรป ที่ระดับราคาน่าลงทุน จากแรงเทขายก่อนหน้า อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของยุโรปคงไม่พ้นธนาคารอิตาลี แต่การจัดหาเงินทุนระยะยาวรอบที่ 3 น่าจะผ่านไปได้ ด้านหุ้นเทคโนโลยี แม้กำไรก้าวกระโดดต่อเนื่อง แต่ราคาหุ้นแผ่วลงจากข่าวคราวในแต่ละวัน Lombard Odier ยังคงมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มนี้
5. โอกาสดีสำหรับตลาดเกิดใหม่ ท่านอาจคุ้นกับ “Looser ปีทีแล้ว จะเป็น Winner ปีนี้” ปี 2018 เป็นปีแย่สำหรับตลาดเกิดใหม่ แต่ด้วยเศรษฐกิจที่เติบโต นำโดยจีน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่สุดและจะขับเคลื่อนโดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการคลังอาจพลิกสถานการณ์ แม้บทสรุปข้อพิพาทการค้ายังคลุมเครือ  
6. สหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงท้ายของวัฎจักรเศรษฐกิจ ปี 2019 คือปีสุดท้ายแห่งการขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังจาก FED ทยอยปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2015 ถึงวันนี้ ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ช่วงท้ายของวัฎจักร และจะเผชิญกับอัตราการเติบโตที่จำกัดลง ดังนั้น ควรลดผลกระทบของพอร์ตลงทุนจากสินทรัพย์ในสหรัฐฯ ลง
7. เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลัก แรงส่งในภาคเศรษฐกิจจากนโยบายกระตุ้นภาคการคลังแผ่วลง ส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เทียบกับประเทศอื่นแคบลงจากการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของ FED ขณะที่ประเทศอื่นอาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่า เพิ่มโอกาสให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และส่งผลซ้ำให้ภาวะขาดดุลแฝด (การค้าและงบประมาณ) แย่ลง 
8. หาสกุลเงินทีมีเสถียรภาพเมื่อเกิดความกังวล พันธบัตรเป็นทางเลือกแรกๆ ที่นักลงทุนเข้าหาเมื่อเกิดความกังวล ปัจจุบันการลงทุนในสกุลเงินนับเป็นกลยุทธ์เพิ่มเติม ค่าเงินที่มีเสถียรภาพอย่างเงินเยนได้รับความนิยมมากขึ้น และเงินตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนค่าแรงในปีที่แล้วมีแนวโน้มแข็งขึ้น สวนทางกับดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน
9. เงินปอนด์น่าสนใจ…จาก Brexit เป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรี เทเรซ่า เมย์ จะปรับข้อตกลง Brexit เพื่อหลีกเลี่ยง Hard Brexit การคาดการณ์นี้สะท้อนในค่าเงินปอนด์ที่แข็งขึ้นเล็กน้อย หลังสภาอังกฤษคว่ำข้อตกลง Brexit ในวันพุธที่ผ่านมา แต่ไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร ความรุนแรงของการที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปไม่น่าจะทำให้ตลาดสั่นคลอนอย่างมีนัยสำคัญ
10. สินค้าโภคภัณฑ์ใช้กระจายความเสี่ยง โภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ ที่นับเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ดึงดูดนักลงทุน โดยเฉพาะช่วงที่ข้อพิพาทการค้าจีน-สหรัฐฯ ยังคาราคาซัง หรือแม้แต่สถานการณ์ในตะวันออกกลางที่ร้อนระอุ อาจหนุนราคาน้ำมันอีกครั้ง

แนวโน้มข้างต้นสรุปได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่หลายคนกังวลหรือฟันธงไปว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ไม่น่าเกิดในปีนี้ เพราะเศรษฐกิจโลกยังขยายตัวทั่วถึง แม้ในบางภูมิภาคอาจแผ่วลงบ้าง นักลงทุนไม่ควรตระหนกกับผลตอบแทนที่เกิดขึ้นในปี 2018 ตราบเท่าที่เราจัดพอร์ตแบบยึดมั่นในเป้าหมาย กระจายการลงทุนอย่างเหมาะสม มีสภาพคล่องเพียงพอ และปรับพอร์ตให้เหมาะกับสภาวะ


ประจำวันที่ 18 มกราคม 2562



กลับ
PRIVATE BANKING