Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ทำความรู้จักหุ้น NASDAQ ของจีน

ทำความรู้จักหุ้น NASDAQ ของจีน

​​ในวันจันทร์ที่ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นวันแรกในการเปิดให้ซื้อขายกระดานหุ้นวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี (STAR Market) ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ โดย STAR Market จะมีลักษณะคล้ายดัชนี Nasdaq ที่รวมหุ้น IT ของสหรัฐฯ โดยจะประกอบด้วยหุ้นบริษัทด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และบริษัท Start-up เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศยุคใหม่ อุปกรณ์นวัตกรรมใหม่ ไปจนถึงชีวการแพทย์ ซึ่งเปิดตลาดอย่างสดใสด้วยการปรับตัวขึ้น 140% ในวันซื้อขายวันแรก ทั้งนี้ ดัชนียังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ โดยคาดว่าจะประกาศวันซื้อขายหรือวันทำการที่ 11 ซึ่งคาดว่าเป็นวันจันทร์ที่จะถึงนี้ โดยจะรวบรวมหุ้น 30 ตัวแรกที่ทำการซื้อขายจริงในขั้นแรก ก่อนที่จะค่อยๆเพิ่มขึ้นให้ครบ 50 ตัว ภายใต้ดัชนี SSE STAR 50 ซึ่งจะใช้เกณฑ์คำนวณดัชนีโดยพิจารณาจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดและสภาพคล่องของหลักทรัพย์ (Free float-adjusted market capitalization) และมีกำหนดว่าหุ้นรายตัวใดๆห้ามเกินสัดส่วน 15% เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวตามหุ้นรายตัว


ทั้งนี้ STAR Market ถูกจัดทำขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้บริษัท IT จีนออกไปจดทะเบียนที่ตลาดต่างประเทศ เช่น Alibaba หรือ Tencent เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความล่าช้า และกฎเกณฑ์ควบคุมที่เยอะของตลาดทุนจีน สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้ STAR Market ไม่จำเป็นต้องมีกำไรสุทธิเป็นบวก 3 ปีติดต่อกันตามกฎเกณฑ์เดิม เนื่องจากบริษัท Start up ทาง IT ส่วนมากยังไม่กำไร แต่มีศักยภาพในอนาคตที่สูง นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้บริษัทที่มีโครงสร้างแบบหุ้นสองประเภทหรือ Dual-Class Shares ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงไม่เท่ากัน เหมือนกรณี Alibaba และบริษัทที่ระดมทุนจากต่างชาติด้วยโครงสร้าง VIE Arrangement เพื่อหลบหลีกข้อจำกัดของสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติ โดยมีจำนวนบริษัทที่ตอบรับอย่างล้นหลาม โดย ณ วันที่ 18 กรกฎาคมมีบริษัทที่ส่งความจำนงจะซื้อขายผ่านกระดานหุ้น STAR Market มากกว่า 140 บริษัท และประเมินว่าหุ้น 30 ตัวแรกจะสามารถระดมเงินทุนได้สูงถึง 3 หมื่นล้านหยวนเลยทีเดียว 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่านักลงทุนทุกคนจะสามารถลงทุนได้ใน STAR Market เนื่องจากความผันผวนที่สูง นักลงทุนที่ผ่านเกณฑ์จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ในบัญชีการซื้อขายหุ้นโดยเฉลี่ยต่อวันที่อย่างน้อย 5 แสนหยวน ในช่วง 20 วันก่อนหน้าการดำเนินเรื่องเปิดบัญชีซื้อขายกระดานหุ้น STAR Market และยังต้องมีประสบการณ์ซื้อขายหุ้นไม่ต่ำกว่า 24 เดือน

ทั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนต้องการสร้างดัชนีที่คล้ายๆ Nasdaq เนื่องจากในปี 2010 มีการซื้อขายดัชนี ChiNext ภายใต้ตลาดหุ้นจีนเซื่นเจิ้นซึ่งมีการเก็งกำไรกันอย่างหนักในปี 2015 และซื้อขายกันที่ราคาแพงมาก (ปัจจุบันซื้อขายที่ P/E ปัจจุบันอยู่ที่ 60 เท่า เทียบกับจุดสูงสุดที่ 122 เท่าในปี 2015) ซี่งระดับดัชนีปัจจุบันซื้อขายต่ำกว่าราคาสูงสุดกว่า 60% เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นจึงไม่ได้มีกำหนดให้มีราคาพื้น และเพดานในช่วงซื้อขาย 5 วันแรก แต่จะมีการหยุดซื้อขาย 10 นาทีหากหุ้นตัวใดปรับตัวขึ้นหรือลงมากกว่า 30% และหยุดอีก 10 นาทีเมื่อราคาเหวี่ยงในกรอบที่กว้างถึง +/-60% จากราคาเปิดในวันนั้นๆ สำหรับพฤติกรรมการซื้อขายของนักลงทุน STAR Market ในช่วง 2 อาทิตย์แรกมีแนวโน้มซื้อขายที่รวดเร็วสะท้อนราคาซื้อขายที่แพง และยังเห็นได้จากหุ้นกว่า 22 ตัวจาก 25 ตัวที่ถูกหยุดซื้อขาย 10 นาที ทั้งนี้ หากพิจารณาจากการประเมินของ Bloomberg ถึงระดับ P/E ปัจจุบันของกระดานหุ้นใหม่ที่รวมหุ้น 25 ตัวแรกสูงถึง 53 เท่า เทียบกับระดับ 33 เท่าซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยหุ้นจีนที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน และจะยิ่งดูแพงขึ้นหากเปรียบเทียบกับ P/E ของดัชนี NASDAQ ที่ 32 เท่า

บทสรุปของ STAR Market อาจต้องดูในระยะยาวกว่านี้ แต่ในระยะสั้นนี้เรายังไม่แนะนำให้ลงทุนเนื่องด้วยความผันผวนที่สูงมาก และมูลค่าซื้อขายที่แพงสอดคล้องกับมุมมองของผู้จัดการกองทุน K-CHINA* ซึ่งบริหารโดย Fidelity และผู้จัดการกองทุน K-CCTV** ซึ่งบริหารโดย UBS และ Schroders ที่ยังไม่สนใจลงทุนใน STAR Market เพราะมีนโยบายการลงทุนโดยเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีเสถียรภาพ และความผันผวนต่ำกว่า รวมถึงมีมูลค่าซื้อขายที่เหมาะสมมากกว่านั่นเอง

*K-CHINA ระดับความเสี่ยงกองทุน : ระดับ 6
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน : ป้องกันบางส่วน
**K-CCTV ระดับความเสี่ยงกองทุน : ระดับ 6
ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน : ป้องกันบางส่วน​
หมายเหตุ
• โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า/เงื่อนไขผลตอบแทน/ความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
• ผู้ลงทุนควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจ ก่อนตัดสินใจลงทุน

ประจำวันที่ 2 สิงหาคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING