Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ทำไมปู่ SET ถึง underperform ตลาดหุ้นโลกในปีนี้

ทำไมปู่ SET ถึง underperform ตลาดหุ้นโลกในปีนี้

เดินทางใกล้สู่สิ้นปี 2019 เข้าเต็มที แน่นอนว่าคำถามของนักลงทุน คือ ผลตอบแทนของการลงทุนปีที่ผ่านมาว่าทำได้ดีตรงตามเป้าหมายหรือไม่ หากมองย้อนกลับไปปีที่แล้วที่การลงทุนดูจะยากลำบากท่ามกลางความผันผวนที่สูง ทุกสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนติดลบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ปีนี้ผลตอบแทนของหลายๆสินทรัพย์กลับสวนทางปรับตัวขึ้นกันต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นทั่วโลก อ้างอิงจากดัชนี MSCI All-country World ที่ให้ผลตอบแทนรวมปันผลสูงถึง 26% (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2019) แต่หากท่านนักลงทุนท่านใดสามารถอ่านตลาดปีที่ผ่านมาอย่างทะลุปรุโปร่งแล้วเลือกลงทุนในหุ้นบางภูมิภาคที่เป็น Winner อย่างเช่น หุ้นจีน A-Share อย่างดัชนี CSI 300 ท่านก็อาจได้รับผลตอบแทนรวมสูงถึง 37% เลยทีเดียว ทางด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรปก็ไม่น้อยหน้าต่างให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจถึง 30% และ 27% ตามลำดับ เรียกได้ว่าสำหรับท่านนักลงทุนไทยท่านใดที่กระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศบ้างในปีนี้จะแฮปปี้กันไปตามๆกัน

อย่างไรก็ดี นักลงทุนชาวไทยท่านใดที่โฟกัสเงินลงทุนทั้งหมดในหุ้นไทยอาจมีความรู้สึกแตกต่างออกไป เพราะ หากย้อนกลับไปต้นปี เราเริ่มต้นปี 2019 ดูปู่ SET ที่ระดับ 1,563.88 จุด เทียบกับราคาล่าสุดที่ 1,563.74 จุด (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2019) จะพบว่าตลาดหุ้นบ้านเราแทบไม่ขยับไปไหนเลย แม้แต่ผลตอบแทนรวมปันผลของดัชนี SET ก็บวกเพียง 3% เท่านั้น ดู Underperform อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นโลกสมฉายาปู่ที่จะขยับเขยื้อนอะไรก็ลำบากและเชื่องช้า คำถาม คือ อะไรคือปัจจัยกดดันหุ้นไทยในปีนี้ โดยเราคาดว่าปัจจัยหลักๆมี 6 ปัจจัย ดังนี้

  1. ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์ รวมถึงถูกปรับลดคาดการณ์อย่างต่อเนื่อง เห็นได้จาก Earning Surprise ที่วัดตัวเลขผลประกอบการจริงเทียบกับคาดการณ์พบว่าในไตรมาส 2 และ 3 ปีนี้บริษัทจดทะเบียนใน SET ทำผลประกอบการได้แย่กว่าคาดการณ์คิดเป็น -8% และ -1% ตามลำดับ
  2. GDP ปี 2019 ก็ถูกปรับลดคาดการณ์ต่อเนื่องเช่นกัน อย่างคาดการณ์ของ BOT เองที่ล่าสุดมอง GDP ไทยปีนี้ขยายตัวเพียง 2.5% ลดลงจาก 3.8%, 3.3% และ 2.8% ในการประเมินเดือนมีนาคม มิถุนายน และกันยายนตามลำดับ
  3. ภาคการส่งออกซึ่งนับเป็น 68.2% ของ GDP ไทยในปี 2017 หดตัวจากผลกระทบสงครามการค้าจีน สหรัฐฯ โดยหดตัวทั้งด้านปริมาณ และราคา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชน
  4. หุ้นกลุ่มใหญ่ในดัชนี SET ที่มีสัดส่วนกว่า 40% ของดัชนีปรับตัวลงเป็นผลลบต่อดัชนี SET 4% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่มีสัดส่วนเป็น 11% ของดัชนีปรับลงกว่า 15% จากการที่งบการเงินธนาคารยังคงได้รับผลกระทบจากเรื่องค่าธรรมเนียมทำให้รายได้มีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงหุ้นกลุ่มอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับการชะลอตัวเศรษฐกิจโลก เช่น ปิโตรเคมี และ วัสดุก่อสร้าง
  5. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่ชัดเจน และไม่ส่งผลเท่าที่ควร
  6. ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญของไทยชะลอตัวในปีที่ผ่านมา ตามแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเกือบทุกสัญชาติและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อคนที่ปรับลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และพึ่งเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง

 

สำหรับมุมมองในปี 2020 BOT และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีประมาณการณ์ GDP อยู่ที่ 3.3% และ 2.7% ตามลำดับ ซึ่งเป็นประมาณการณ์ที่มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยความเสี่ยงหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงมาจาก 1) ค่าเงินบาทที่แข็ง 2) ภาคการส่งออกที่ยังคงหดตัวจากปัญหาสงครามการค้าที่อาจกลับมาร้อนแรงอีก 3) ความล่าช้าของการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายของปี 2020  4) การเลือกตั้งในสหรัฐฯ และ 5) แรงหนุนปลายปีจากการระดมซื้อ LTF ที่จะหายไปในปีหน้า โดยสรุปแล้วมองว่าความรุนแรงของความเสี่ยงข้างต้นมีโมเมนตัมของความรุนแรงที่ลดลงในปีหน้า จึงมองว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2020 น่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น โดยหลักทรัพย์กสิกรไทยให้เป้าหมายดัชนี SET ในอีก 12 เดือนข้างหน้าที่ 1,725 (หมายถึง upside ประมาณ 10% จากราคาปิด ณ วันที่ 18 ธันวาคม 2019)

อย่างไรก็ดี “ความไม่แน่นอน คือ ความแน่นอน" ดังนั้นกลยุทธ์ที่สำคัญท่ามกลางเศรษฐกิโลกช่วงปลายวัฏจักรที่เราเน้นย้ำมาตลอด คือ การกระจายความเสี่ยงในหลายๆสินทรัพย์ และหลายๆประเทศนั่นเอง

 

 

ผลตอบแทนรวมเงินปันผลของตลาดหุ้นในประเทศหลักๆของโลก (1 มกราคม 2019 – 18 ธันวาคม 2019)




ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING