เกือบ 18 เดือนกับสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ที่กดดันการค้าระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก เห็นชัดจากภาวะถดถอยของภาคส่งออก ลามไปถึงภาคการผลิตในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียที่มีจีนเป็นคู่ค้าสำคัญ เช่น เกาหลีใต้ที่ตัวเลขส่งออกเดือนกันยายนหดตัวลงถึง 11.2% เทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2017 ที่ขยายตัวได้ดีถึง 8.8% หรือแม้กระทั่งไทยเราเองที่การส่งออกล่าสุดเดือนกันยายนหดตัวลง 1.4% เทียบกับระดับ ณ สิ้นปี 2017 ที่ขยายตัว 8.5% แต่…ท่ามกลางผลกระทบโดมิโนด้านลบ ยังมีประเทศหนึ่งที่กลายเป็นเป้าหมายส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ แทนจีน นั่นคือ “เวียดนาม" ที่รับผลประโยชน์ไปเต็มๆ สะท้อนในตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน ที่ยังยืนหยัดขยายตัวได้ 8.2% สวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในเกณฑ์หดตัว สำหรับสินค้าส่งออกที่เวียดนามได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือ เครื่องจักร สินค้าอิเล็คทรอนิคส์ และเฟอร์นิเจอร์ ทั้งนี้ สัดส่วนภาคส่งออกเวียดนามต่อการส่งออกของโลกทั้งหมดอยู่ที่ 1.51% แซงหน้าไทยที่ 1.38% ไปเรียบร้อยแล้ว
ปัจจัยที่ส่งให้เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นผู้ชนะท่ามกลางสงครามการค้าที่ตึงเครียด มีดังนี้
1) ข้อตกลงทางการค้าที่เอื้ออำนวยกับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ: สินค้าที่ผลิตในเวียดนามเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือ หน้าจอ และแผงวงจรคอมพิวเตอร์ได้รับยกเว้นภาษีนำเข้า ขณะที่สินค้าจีนต้องเสียภาษีถึง 15-25% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ เวียดนามยังมีข้อตกลงการค้าเสรีกับภูมิภาคและประเทศอื่นๆ เช่น อาเซียน ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรป อีกด้วย
2) ที่ตั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งสินค้าจีน: ในด้านภูมิศาสตร์ เวียดนามตอนเหนือเป็นต่อหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่มาก เพราะอยู่ใกล้จีนซึ่งง่ายต่อการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงในการขนส่งทางบก ขณะที่ประเทศอื่นพึ่งพาเส้นทางเครื่องบินหรือเรือ
3) ค่าแรงงานต่ำกว่าจีน: ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ 120-173 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ถูกกว่าหลายเมืองในจีนที่ 265-329 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสถิติระหว่างปี 2015-2018 ค่าแรงเฉลี่ยในอุตสาหกรรมการผลิตในเวียดนามต่ำกว่าจีนถึง 40% เรียกได้ว่าผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนแรงงานได้เกือบครึ่งทีเดียว
4) นโยบายของรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศพร้อมสิทธิประโยชน์ทางภาษี:
รัฐมีนโยบายมากมายเพื่อกระตุ้นการลงทุน เช่น ยกเว้นภาษีใน 2 ปีแรก และลดภาษีถึง 50% ใน 4 ปีถัดไปสำหรับบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้ VAT และภาษีนิติบุคคลก็ถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ทำให้เวียดนามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ไม่น้อย
อย่างไรก็ดี การขยายฐานการผลิตมาเวียดนามไม่ได้สวยหรูดูดีไปเสียหมด เพราะอุปสรรคที่นักลงทุนต้องเผชิญก็มีหลากหลาย เช่น จำนวนประชากรเวียดนามที่น้อยเมื่อเทียบกับจีนและประเทศอื่นในอาเซียน อ้างอิงจากธนาคารโลกปริมาณการผลิตต่อแรงงานที่ใช้ในเวียดนามต่ำกว่าจีน โดย GDP ต่อการจ้างงานทั้งหมดในเวียดนามอยู่ที่ระดับเพียง 11,142 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2018 เทียบกับ 29,499 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในจีน รวมถึงเวียดนามยังขาดแคลนความก้าวหน้าด้านเครื่องจักรอัตโนมัติซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในภาคการผลิตอีกด้วย อีกประเด็นคือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าประเทศเอเชียอื่นๆ โดยเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2013 เงินเฟ้อเวียดนามอยู่ที่ 3.4% สูงกว่าจีน เกาหลีใต้ และไทยที่ 2% 1.2% และ 0.9% ตามลำดับ จึงหมายถึงความเสี่ยงด้านต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ค่าเงินดองอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าตั้งแต่ปี 2009 ก็เป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม
สำหรับนักลงทุนที่มองว่าการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามเป็นเรื่องไกลตัว และหากมองข้ามมาที่การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอาจจะใกล้ตัวและน่าสนใจมากกว่า เพราะเห็นแรงหนุนที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์ด้านการค้า ไปจนถึงอัตราความเร็วของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ซึ่งล่าสุด GDP ไตรมาส 3 ขยายตัวได้ที่ 7.3% แม้ว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะสดใส แต่ความก้าวหน้าในตลาดทุนยังถือว่าน้อย การลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเดี่ยวๆ ข้อจำกัดหลักๆ เช่น 1) สภาพคล่องต่ำ มีโควต้านักลงทุนต่างชาติ รวมถึงจำกัดการเข้าถึงข้อมูลรายงานการเงินส่วนใหญ่ใช้ภาษาเวียดนามและน้อยรายเผยแพร่ในเว็บไซด์ 2) ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier) ซึ่งผันผวนสูงยิ่งกว่าตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging) หากวัดความผันผวนตลาดหุ้นเวียดนามเทียบกับไทยเฉลี่ยย้อยหลัง 10 ปี อยู่ที่ 18% และ 14% ตามลำดับ 3) ความเสี่ยงค่าเงินดอง เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทำได้ยาก
ประจำวันที่ 25 ตุลาคม 2562