เชื่อว่าใน 2-3 ปี ที่ผ่านมา นักลงทุนที่ติดตามข้อมูลการลงทุนจะคุ้นกับประโยคที่ว่า “ตลาดหุ้นพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีราคาแพงเมื่อเทียบกับอดีต" นำโดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ก่อนหน้าที่จะร่วงลงแรงจากความกังวลต่อ COVID-19 ได้เดินหน้าเพิ่มขึ้นจนสร้างสถิติสูงสุดครั้งใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเคยมีราคาซื้อขายอยู่ที่ระดับอัตราส่วน P/E (ใช้คาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน 12 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ 19.2 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ที่ 16.0 เท่า ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ดูผ่านดัชนี Euro Stoxx 600 ที่ 15.6 เท่า เทียบค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังที่ 14.0 เท่า ทำให้นักลงทุนกล้าๆ กลัวๆ กับระดับราคาหุ้นที่สูงขึ้นและสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ดอกเบี้ยโลกก็ต่ำลงและต่ำลงเรื่อยๆ ทำให้เร่งพฤติกรรม Search For Yield ขึ้น นักลงทุนยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นเพื่อมองหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การลงทุนทางเลือกอย่างทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนราคาปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงเวลา 10 ปี ท่ามกลางดอกเบี้ยขาลงมาตลอด ดัชนี SETPREIT สามารถสร้างผลตอบแทนรวมสูงถึง 278.8% หรือคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่ 14.4% (ณ 31 มกราคม 2020)
อย่างไรก็ดี ยังมีอีกการลงทุนทางเลือกที่น่าสนใจคือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund (IFF) ซึ่งตอบโจทย์ในสภาวะการณ์ปัจจุบันที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูงได้ดี อุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจากนักลงทุนสถาบันทั่วโลก เพราะโดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีลักษณะผูกขาดหรือมีคู่แข่งน้อยราย การลงทุนมักต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนสูง ต้องมีการระดมทุนจากผู้ลงทุนสำหรับนำไปใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน เช่น สนามบิน ทางด่วน หรือท่อส่งน้ำมันและก๊าซ ดังนั้น บริษัทส่วนมากจะสร้างพันธะสัญญากับลูกค้าและคู่ค้าเป็นเวลานานถึงกว่า 10 - 20 ปี ส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีรายได้ค่อนข้างแน่นอน และด้วยเหตุผลนี้ผู้เล่นใหม่ๆ จึงยากที่จะเข้ามาแข่งขันและมีบทบาทในตลาด ดังนั้น ประโยชน์ของการจัดตั้งกองทุนและระดมทุนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จึงมีหลายมิติ เช่น ช่วยลดภาระด้านงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐฯ ขณะที่นักลงทุนก็ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ ตัวอย่างใกล้ตัวเช่น Thailand Future Fund (TFFIF) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท โดยอ้างอิงกับรายได้ค่าผ่านทางของทางพิเศษฉลองรัชและบูรพาวิถี มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีที่สูงถึง 17.5% โดยมี Dividend Yield ในช่วง 1 ปีอยู่ที่ 3.8%
ทั้งนี้ หากเรามองภาพที่ใหญ่ขึ้น ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เนื่องจากหลายๆ ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีอายุการใช้งานยาวนาน และถึงกำหนดที่ควรบำรุงซ่อมแซมหรือสร้างทดแทน เช่น สหรัฐฯ ที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานมีอายุเฉลี่ยสูงถึงเกือบ 30 ปี นอกจากนี้ ประเทศเกิดใหม่หลายๆ ประเทศ เช่น จีน ก็ใช้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นมาตรการสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลัง จึงทำให้ระดับการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานโลกต่อจากนี้จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สอดคล้องกับในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาที่ดัชนี Dow Jones Brookfield Global Infrastructure สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงกว่าตลาดหุ้นโลกที่วัดโดยดัชนี MSCI All-Country World ที่ 1.1% ต่อปี และตลาดตราสารหนี้โลกวัดโดยดัชนี Bloomberg Barclays Global Aggregate Bond ถึง 8.3% ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2020)
นอกจากนี้ หากพิจารณาในมุมของการลงทุนเป็นพอร์ตโดยยึดหลักการกระจายความเสี่ยงที่ดี การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่ต่ำกับสินทรัพย์ดั้งเดิม เช่น ตราสารหนี้ และโภคภัณฑ์ เพราะโดยส่วนมากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานมีผลตอบแทนที่ไม่ผันผวนตามวัฎจักรเศรษฐกิจมากนัก เรื่องของความกังวลของการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกจะนำไปสู่สภาวะถดถอยหรือไม่ จึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญของบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงที่ดี และช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตลง มีคุณสมบัติป้องกันเงินเฟ้อที่ดี ส่งผลให้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนอย่างล้นหลาม
ค่าสหสัมพันธ์ของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโลกเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ
ประจำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563