Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

ปฏิวัติการลงทุน เพื่อความยั่งยืน

ปฏิวัติการลงทุน เพื่อความยั่งยืน

​ในช่วงเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่านวัตกรรมด้านเทคโนโลยี" เป็นแรงขับเคลื่อนหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยช่วยอำนวยความสะดวก ส่งเสริมวิถีการดำเนินชีวิตของคนทั่วโลกให้ง่าย สบาย และรวดเร็วขึ้นในทุกๆ ด้าน ประโยชน์อันมหาศาลนี้สะท้อนโดยตรงในราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องเช่น Amazon และ Google ที่ก้าวกระโดดมาแล้วกว่า 1,200% และ 300% ตามลำดับ ในช่วงเวลาเพียง 10 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2019) 


แต่จากนี้ต่อไป นักการเงินและนักลงทุนหลายกลุ่มเชื่อว่า “การปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสู่การแบ่งปัน หมุนเวียน และสะอาด จะเป็นโจทย์สำคัญโจทย์ใหม่ในการผลักดันเศรษฐกิจโลกต่อไป ตัวอย่างใกล้ตัวที่ทุกคนเริ่มคุ้นเคยกันดีคือ กระแสรณรงค์การไม่ใช้ถุงพลาสติกในการจับจ่ายซื้องของต่างๆ ร้านบุฟเฟต์ให้ลูกค้าตักอาหารเท่าที่พอรับประทาน ความนิยมของการไม่ทานเนื้อสัตว์ (เนื่องจากอัตราความสูญเสียในการบำรุงปศุสัตว์ที่สูง) รวมทั้งแนวคิดขยะเป็นศูนย์ (Zero Waste) บ่งบอกถึงแนวโน้มที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากร รวมทั้งการดำเนินธุรกิจให้เกิดความยั่งยืน เป็นสิ่งที่คนทุกรุ่นเห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องสนับสนุน องค์กรที่เตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เริ่มปรับปรุงโครงสร้าง กระบวนการ รวมทั้งแนวความคิด เพื่อเข้าสู่ ความยั่งยืน" จึงมีโอกาสสูงที่จะอยู่ในฝั่งผู้ชนะก่อนคู่แข่ง


นักลงทุนสถาบัน และ Private Banker กำลังให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมากและเน้นว่าสิ่งสำคัญที่สามารถทำได้ในทันทีคือ การปรับโมเดลการวิเคราะห์เศรษฐกิจและหลักทรัพย์  ซึ่งก่อนหน้านี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในธุรกิจและหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีแนวโน้มจะเติบโตและสร้างกำไรสูง โดยไม่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนมากเท่าที่ควร แต่ประเด็นร้อนในโลกปัจจุบันได้เปลี่ยนความคาดหวังของนักลงทุน เมื่อเห็นประชากรบางส่วนบริโภคมากเกินจำเป็น ปัญหาขยะเพิ่มพูน สร้างภาระในการกำจัดของเสียมหาศาล ประชากรเกือบ 400 ล้านคน ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและถูกหลักอนามัย ผู้อพยพจากสภาวะอากาศเป็นพิษมีแนวโน้มจะสูงถึง 1,000 ล้านคนภายในปี 2050 หรือปัญหาความไม่เท่าเทียมทางฐานะในสังคมที่คาดกันว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า จะมีคนในเกณฑ์รายน้อยเพิ่มอีก 100 ล้านคน แม้ปัญหาเหล่านี้จะมีมาเนิ่นนาน แต่มักถูกมองข้ามเพราะไม่คิดว่าจะสะสมจนส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิต สังคม และความเป็นอยู่ของคนในโลกได้รวดเร็วขนาดนี้


2-3 ปี ที่ผ่านมา องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนไม่สามารถเพิกเฉยต่อไป ต่างออกมาให้ข้อมูลตามสื่อต่างๆ ถึงผลกระทบเชิงลบทั้งปัจจุบันและในระยะยาว ทำให้นักลงทุนซึมซับและกังวลมากขึ้นถึงวิธีการจัดการ ด้านเจ้าของกิจการเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะไม่สามารถอยู่รอดได้จากแรงต้านของผู้บริโภค นักลงทุน ตลอดจนกฎเกณฑ์ใหม่ๆ จากทางการ หากไม่รีบปรับตัว


ในอนาคตอันใกล้ บริษัททั่วโลกจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ บริษัทประเภท “เหยี่ยว" ที่ผู้บริหารมีวิสัยทัศน์อันหลักแหลมเสมือนแววตาของเหยี่ยว มองทะลุ เฉียบคม พิจารณา และพร้อมปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยกลยุทธ์ที่ชัดเจนในกรอบระยะเวลา 3-5 ปี เร่งปรับทุกกระบวนการอย่างถี่ถ้วน พร้อมจรรยาบรรณที่ดีและความโปรงใส่ จะก้าวขึ้นเป็นผู้ชนะ ในอุตสาหกรรม ส่วนบริษัทประเภทที่สอง กลุ่ม “นกกระจอกเทศ" ที่มักก้มหน้ามองอยู่กับที่ ภายใต้ขอบเขตอันจำกัด ขาดวิสัยทัศน์ มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถปรับตัวทัน สุดท้ายต้องปิดตัวลง


แม้องค์กรชั้นนำอาจเริ่มด้วยตัวเองและเปลี่ยนแปลงได้จริง แต่แรงกระตุ้นสำคัญมักมาจากการผลักดันเชิงนโยบายจากรัฐบาล แรงกดดันจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับตามกระแสหรือความกังวลต่ออนาคต รวมทั้งนวัตกรรมเทคโนโลยีที่จะร่วมกันสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่มีคุณภาพ เช่น แนวโน้มการเคลื่อนย้ายออกจากระบบเศรษฐกิจที่ฟุ่มเฟือยไปยังเศรษฐกิจสะอาด การบริโภคที่เน้นรีไซเคิล แม้สิ่งเหล่านี้จะต้องเพิ่มงบประมาณในโครงการวิจัยและพัฒนา เช่น เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต


ในอนาคตผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและมีบทบาทต่อสังคมที่ต่างกัน จะมีเป้าหมายเดียวกัน คือการปฏิวัติเพื่อความยั่งยืน ซึ่งมีความหมายไปไกลกว่า คุณธรรมและจริยธรรม สำหรับนักลงทุน องค์กรธุรกิจที่ปรับตัวสู่ความยั่งยืน จะอยู่รอดและเป็นแหล่งของผลตอบแทน การวิเคราะห์แบบจำลองทางการเงิน รวมถึงวิธีการดำเนินธุรกิจ เป็นหน้าที่สำหรับผู้เชี่ยวชาญเพื่อคัดสรรและแสวงหาโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นไปที่ผลกำไรระยะสั้นแต่ต้องมั่นใจได้ว่าผลกำไรเหล่านี้จะยั่งยืนในโลกที่ท้าทาย 


ประจำเดือน มกราคม 2563


กลับ
PRIVATE BANKING