Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

Investment strategy for 2019 ยิ้มรับปีหมู 2019 ด้วยกลยุทธ์ที่ไม่จำเจ...แต่จำเป็น

Investment strategy for 2019 ยิ้มรับปีหมู 2019 ด้วยกลยุทธ์ที่ไม่จำเจ...แต่จำเป็น

​ขอต้อนรับปีหมู 2019 ด้วยการลงทุนในรูปแบบที่ไม่จำเจ...แต่จำเป็น หลังจากนักลงทุนทั่วโลกเผชิญความสับสนอลหม่านในตลาดการเงินโลกตลอดทั้งปี 2018 ทั้งๆ ที่ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจโลกยังคงฟื้นตัวได้ดี แต่ความอ่อนไหวจากนโยบายระหว่างประเทศ ทั้งด้านการค้า การเมือง และการทหาร ตลอดจนการปรับทิศนโยบายการเงินในฝั่งสหรัฐฯ เมื่อรวมเข้ากับราคาสินทรัพย์ที่เดินหน้าทำสถิติต่อเนื่องมาตลอดหลายปี ทำให้นักลงทุนให้น้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ กับคำเตือน (ล่วงหน้า) ที่ว่าเศรษฐกิจโลกในระยะถัดๆ ไป จะชะลอลง การประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจและผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีจึงไม่สามารถประคองสภาวะการลงทุนได้ โดยเฉพาะเมื่อตัวเลขต่างๆ ดี แต่ดีไม่เท่าที่หวัง

ความปั่นป่วนคงไม่จบลงตามปีปฏิทิน นักลงทุนควรเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงท้ายของวงจรเศรษฐกิจรุ่งเรืองและการเมืองระหว่างประเทศยุคใหม่ บทเรียนสำคัญในปีที่ผ่านมา คือต้องหากลยุทธ์มาเสริมการลงทุนในหุ้น หรือ ตราสารหนี้ แบบเดิม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีกลไกลลงทุนฉีกแนวและแปลกใหม่ คุ้มครองเงินต้นหรือจำกัดการขาดทุน รวมถึงธีมการลงทุนที่ตอบรับ Lifestyle ผู้คนในอนาคต เป็นต้น 

การลงทุนแบบไม่พึ่งพิงสภาวะตลาด (Market Neutral): เป้าหมายสร้างผลตอบแทนระยะยาวทั้งในตลาดขาขึ้นและลง ตราบเท่าที่กลุ่มสินทรัพย์ที่เลือกซื้อราคาขึ้นมากกว่า (ในตลาดขาขึ้น) และลงน้อยกว่า (ในตลาดขาลง) กลุ่มสินทรัพย์ที่เลือกขาย หากจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของพอร์ตลงทุนก็จะทำให้สามารถกระจายความเสี่ยงจากทิศทางตลาดระยะสั้นได้มาก ผลตอบแทนรวมเพิ่มขึ้นด้วยความเสี่ยงที่ลดลง ช่วยประคองพอร์ตโดยเฉพาะในช่วงที่ราคาหุ้นและพันธบัตรลดลงพร้อมกัน 

กลไกบริหารความผันผวน (Managed Volatility): หลายครั้ง นักลงทุนเห็นโอกาสแต่ไม่กล้าลงทุนเพราะทำใจช่วงราคาผันผวนหนักๆ ไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนในหุ้นของตลาดเกิดใหม่ ที่เรียกได้ว่ามีความเหวี่ยงขึ้นลงของราคาสูงมาก แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะนั่งเฝ้าและจับจังหวะลงทุน ดังนั้น ในช่วงที่เห็นโอกาสว่าเศรษฐกิจไม่แย่ กำไรบริษัทเติบโตได้ และราคาหุ้นไม่แพง กลยุทธ์ที่มีความยืดหยุ่นในการปรับสัดส่วนลงทุนในหุ้นให้เหมาะสมกับความผันผวนน่าจะตอบโจทย์ได้ดี เช่น ลดสัดส่วนหุ้นเมื่อความเสี่ยงตลาดสูง กลยุทธ์นี้จะดีขึ้นไปอีกชั้นถ้ามีกระบวนการหรือเครื่องมือคัดเลือกลงทุนเฉพาะหุ้นคุณภาพดีและมีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาด

หุ้นนอกตลาด (Private Equity): ลงทุนในหุ้นไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีหลายประเภท เช่น ลงทุนตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทหรือในบริษัทที่ต้องการเงินเพื่อขยายกิจการหรือเปลี่ยนโครงสร้างการเงิน โดยแต่ละแบบมีความเสี่ยงและผลตอบแทนแตกแต่งกันออกกันไป แต่ข้อจำกัดคือความโปร่งใสของงบการเงิน สภาพคล่องต่ำ และขั้นตอนซับซ้อน ดังนั้นการลงทุนผ่านกองทุนที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ลงทุนทั่วไป

ธีมลงทุนที่เปลี่ยนแปลงโลก: นักลงทุนสามารถมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกเพื่อสังคมที่ดีขึ้นทั้งสำหรับคนยุคปัจจุบันและส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลานในอนาคต ขณะเดียวกันก็ยังสร้างผลตอบแทนได้อย่างยั่งยืน เพราะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจลักษณะนี้มักได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า คู่ค้า และภาครัฐ เช่น การลงทุนในบริษัทที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและสังคม มีธรรมาภิบาล ตลอดจนส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในดินแดนอันห่างไกล ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ การศึกษา และโอกาสเข้าถึงข้อมูลและแหล่งเงินทุน

นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่มาแรงแซงโค้ง: เทรนด์ลงทุนในบริษัททุกแขนงที่ผสมผสานจินตนาการล้ำสมัย เข้ากับประสิทธิภาพของนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) สะท้อนในผลตอบแทนของดัชนี NASDAQ ที่เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ดัชนีหุ้นโลกที่ให้ผลตอบแทนปีที่แล้วเป็นบวก (+7.8% ข้อมูล ณ วันที่ 3 ธันวาคม) ถึงแม้จะมีข่าวคราวของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งดีทั้งร้าย เช่น Facebook หรือ Amazon ไม่เว้นแต่ละวัน หรือโดนกดดันจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แต่ในระยะยาวความต้องการเสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดีย ธุรกรรมออนไลน์ รวมทั้งการนำนวัตกรรมการสร้างธุรกิจ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้บริโภคสะดวก ง่าย และรวดเร็วขึ้น ไม่มีแนวโน้มที่จะแผ่วลงในอนาคตอันใกล้นี้ 

ลองมองหากลยุทธ์ลงทุนเหล่านี้เพิ่มเติมเข้าในพอร์ต เพื่อสร้างเกราะคุ้มกันความผันผวนในปีหมูกันนะครับ


ประจำเดือน มกรามคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING