หนึ่งในหลักการสำคัญที่นักลงทุนผู้ประสบความสำเร็จยึดถือคือ “ทำใจให้นิ่งเมื่อความผันผวนมาเยือน" แต่ในความเป็นจริง เป็นเรื่องยากที่นักลงทุนจะเอาชนะความกังวลในเวลาที่ตลาดหุ้นผันผวนและร่วงลงอย่างหนัก เช่นที่เกิดขึ้นเป็นวิกฤตดอทคอม ปี 2000 นักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา คงยังพอจำกันได้ว่า ขณะนั้น ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี (ดัชนี S&P500 Technology) ปรับตัวดิ่งลงมากกว่า 40% และเมื่อหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีมีสัดส่วนถึง 37% ของดัชนี S&P500 ในขณะนั้น ราคาหุ้นเทคโนโลยีที่ดิ่งลงจึงกระทบตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนตกต่ำจนยากจะกู้คืน และต้องใช้เวลานานกว่า 17 ปี ราคาหุ้นเหล่านั้นจึงฟื้นกลับมาถึงระดับต้นทุน นักลงทุนหน้าใหม่ส่วนหนึ่งคงยังนึกภาพไม่ออก เพราะประสบการณ์เช่นนี้ช่างแตกต่างจากประสบการณ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ที่สามารถสร้างผลกำไรจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีเป็นเท่าตัว ขณะที่ราคาหุ้นในอุตสาหกรรมอื่นปรับตัวขึ้นเฉลี่ยเพียง 38%
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคนี้ต้องมีเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยที่เสมือนเป็นอีกอวัยวะหนึ่งของร่างกายไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตนี้ได้สร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ในปี 2019 ที่ผ่านมา บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในโลก 5 อันดับแรก ล้วนอยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั้งสิ้น นำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอปเปิ้ลและไมโครซอฟท์ และที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือหุ้นเพียง 2 ตัวนี้ มีสัดส่วนถึงเกือบ 40% ในดัชนี S&P Technology นับเป็นความเสี่ยงของการกระจุกตัวอย่างมาก หากเปรียบเทียบสถิติราคา จะพบอีกว่าปัจจุบันราคาหุ้นของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีส่วนมากได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คำถามต่อไปคือ “โอกาสที่บริษัทเหล่านี้จะยังจะเติบโตต่อไปได้ มีอีกมากน้อยแค่ไหน" ปัจจัยที่จะผลักดันราคาหุ้นกลุ่มนี้ให้วิ่งต่อไปคืออะไร
ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา พัฒนาการของกฎหมายลิขสิทธิ์ ทำให้การลอกเลียนแบบนวัตกรรมและธุรกิจทำได้ยากขึ้น ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีหน้าใหม่ที่มีไอเดียใหม่สามารถสร้างธุรกิจและรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากไอเดียและเทคโนโลยีของตน เชิญชวนให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่อีกมากเข้ามาแข่งขันกันสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง หากยกสหรัฐฯ เป็นตัวอย่าง ปัจจุบัน 15% ของผู้บริโภค สั่งซื้อของออนไลน์ ไม่ว่าจะผ่าน แอปพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ คนอเมริกันเสพสื่อดิจิทัลวันละ 6 ชั่วโมง เรียกได้ว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากยุคก่อน ทำให้ผู้มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ มีโอกาสสร้างรายได้อีกมากมาย ในขณะที่ประชากรที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ส่วนใหญ่ยังมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนาเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมถึงประชากกรจากประเทศเกิดใหม่อีกหลายประเทศ นั่นหมายถึงประชากรอีกเกือบครึ่งโลกจะพัฒนาเป็นตลาดใหม่ในอนาคต
อย่างไรก็ดี พัฒนาการในช่วงที่ผ่านมา และโอกาสในการเติบโตมหาศาลได้สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นเทคโนโลยีไปมากแล้ว โดยเฉพาะกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สำคัญต่างๆ ทางเลือกที่น่าสนใจที่เหลืออยู่น่าจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีนอกตลาด ทั้งประเภทที่อยู่ในระยะเริ่มต้น (Startup) หรือบริษัทผ่านการเริ่มต้นมาสักระยะ เริ่มสร้างรายได้และกำไรแต่ยังอาจไม่พร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนลักษณะนี้ แม้นักลงทุนจะรับความเสี่ยงมากขึ้น แต่หากเลือกบริษัทได้ดี ก็จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบริษัทสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา กองทุนที่ลงทุนในหุ้นของบริษัทนอกตลาด (Private Equity Fund) ที่เน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนเฉลี่ย (IRR) มากกว่าหุ้นนอกตลาดในอุตสาหกรรมอื่นถึง 5% ต่อปี (IRR เฉลี่ยของ Private Equity Fund ทั่วไปอยู่ในช่วงประมาณ 15-20%) และในปีที่ผ่านมา การระดมทุนผ่าน Private Equity Fund สูงกว่าการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยในปี 2018 Private Equity Fund มีมูลค่าตลาดกว่า 5.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่า Private Equity Fund เป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่เป็นที่ต้องการของตลาดสูง
อย่างไรก็ตาม ในอดีตมีหลากหลายความล้มเหลวเป็นบทเรียนราคาแพงให้บริษัทเทคโนโลยี รวมทั้งนักลงทุนในบริษัทกลุ่มนี้ แม้นักลงทุนในปัจจุบันจะเรียนรู้และระมัดระวังมากขึ้น แต่การลงทุนในบริษัทนอกตลาดมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงและความถูกต้องของข้อมูล ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนต้องพิจารณาคือความเชี่ยวชาญของทีมบริหารของ Private Equity Fund ที่จะสามารถมองทะลุโครงสร้างบริษัทและการเงิน ตลอดจนวิสัยทัศน์ต่างๆ ให้เห็นถึงศักยภาพของธุรกิจ รวมทั้งความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ประจำเดือน มีนาคม 2563