จากนิยามความมั่งคั่งที่สมบูรณ์ของ KBank Private Banking
สู่บทสนทนา ‘คุยกัน...ตั้งแต่วันนี้’ เพื่อความสุขสูงสุดในอีกมิติแห่งชีวิต
‘ความมั่งคั่งที่สมบูรณ์...ท้ายที่สุดคือการเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพจนถึงวาระสุดท้าย’ จากคำกล่าวหนึ่งของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ในนิยามของความมั่งคั่งที่สมบูรณ์ พร้อมกับความตระหนักและยึดถือมาโดยตลอดกับการส่งมอบบริการของ KBank Private Banking ว่า ความปรารถนาของลูกค้าที่เหนือไปกว่าทรัพย์สินเงินทอง เหนือไปกว่าความมั่งคั่งคือ ความสุขสูงสุดมากกว่าสิ่งอื่นใด จึงได้สานต่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง KBank Private Banking กับ ชีวามิตร วิสาหากิจเพื่อสังคม สู่สัมมนา ‘วางแผนความมั่งคั่งอย่างมั่งคงด้วย...พินัยกรรมชีวิต’
สำหรับสัมมนาครั้งนี้ได้เรียนเชิญลูกค้า KBank Private Banking กว่า 20 ท่าน โดย คุณสุวดี จงสถิตวัฒนา แห่งนานมีบุ๊คส์ พร้อมลูกสาว คุณเจน จงสถิตวัฒนา เป็นสองท่านจากผู้ร่วมสัมมนามาเป็นตัวแทนบอกเล่าการเตรียมพร้อม เพื่อความสุขสูงสุดในระยะสุดท้ายของชีวิต พร้อมด้วย คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ผู้ก่อตั้งชีวามิตร และ คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย
บทสนทนาการออกแบบ ‘พินัยกรรมชีวิต’ เพื่อคุณภาพชีวิตระยะสุดท้าย
จุดเริ่มต้นของสัมมนา ‘วางแผนความมั่งคั่งอย่างมั่นคงด้วย...พินัยกรรมชีวิต’
คุณจิรวัฒน์: จากปรัชญาการทำงานของ KBank Private Banking ที่เน้นการส่งมอบ Perfect Wealth ให้ลูกค้า หมายความว่า ลูกค้าไม่ได้มีเพียงความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังเต็มเปี่ยมด้วยความสุข ฉะนั้นเราต้องเพิ่มมิติของ Happiness เข้ามา ทีนี้ก็มองต่อว่า Happiness คืออะไร ก็คือมิติของตัวเองและคนรอบข้าง ลูกค้าเรา ไม่ว่าจะลงทุนอย่างไร ไม่ว่าจัดการความมั่งคั่งอย่างไร ผมว่าท้ายที่สุดเป้าหมายหลักคือความสุขนั่นเอง ทำไมเราจึงไม่มอบความสุขในมิติอื่นๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย ดังนั้นการขับเคลื่อนด้วยปรัชญา Perfect Wealth คือการส่งมอบความสุข ทั้งในเรื่องของตัวเองและสังคมรอบข้าง ซึ่งงานสัมมนา ‘วางแผนความมั่งคั่งอย่างมั่นคงด้วย...พินัยกรรมชีวิต’ ตอบปรัชญาของเราชัดเจนครับ ทำแล้วลูกค้าแฮปปี้ ได้องค์ความรู้ คิดได้ เข้าใจ นำไปปฏิบัติแล้วเกิดความสุขทันทีโดยไม่ต้องรอว่าทรัพย์สินเงินทองงอกเงยขึ้นหรือเปล่า
คุณหญิงจำนงศรี: การสัมมนาร่วมครั้งนี้ มีจุดเริ่มเมื่อสักปีมาแล้ว จากที่ผู้บริหาร Private Banking Group ของธนาคารกสิกรไทย เช่น คุณนนท์ บุรณศิริ คุณจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ บังเอิญได้มีโอกาสเข้ามา workshop เพียงวันเดียวกับชีวามิตร เขาบอกว่ามันเปิดมุมมองชีวิตที่ไม่เคยนึกถึง คือมุมมองของความเป็นมิตรกับชีวิตระยะท้าย หรือจะเรียกว่า คุณภาพความตายก็ได้ เขาเริ่มคิดกันว่า workshop ที่สบายๆ สัก 2-3 วันน่าจะเป็นของขวัญที่เขาอยากจะมอบให้แก่ลูกค้า KBank Private Banking
(‘ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม’ มีเจตนาสนับสนุนและขับเคลื่อนคนไทยให้มีชีวิตระยะสุดท้ายที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็น ด้านกาย ใจ หรือความสัมพันธ์กับคนและสิ่งแวดล้อม ให้ทุกข์ทรมานน้อยที่สุดทั้งกายและใจ ให้สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจและสามารถวางแผน ‘ชีวิตระยะสุดท้าย’ ที่เหมาะสมกับตัวเองและลูกหลานญาติมิตร อีกทั้งช่วยให้ระยะสุดท้ายของชีวิตไม่เป็นห้วงเวลาแห่งความโศกเศร้าอย่างมากไปนัก)
‘ความตาย’ คุยกันง่ายกว่าที่คิด มิติความสุขระยะสุดท้ายของชีวิตที่ทุกคนเห็นด้วย
คุณหญิงจำนงศรี: คนส่วนใหญ่จะมอง ‘ความตาย’ เป็นจุดสุดท้ายที่ตัวเอง ไม่น่าปรารถนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะท้ายที่ทุกข์ทรมานไม่ว่าจะทรมานจากโรคร้ายหรือการยื้อชีวิตทางการแพทย์ด้วยวิธีต่างๆ หรือการที่ต้องพรากจากคนและสิ่งต่างๆ ที่รัก การยื้อชีวิต และเรื่องนี้คือจุดกำเนิดและหัวใจของชีวามิตรว่า ทำอย่างไรให้เพื่อนมนุษย์ทุกคนตายดี
คุณสุวดี: หลายคนอาจรู้สึกว่าการพูดเรื่องความตายเป็นสิ่งไม่เป็นมงคล แต่ส่วนตัวเราไม่ได้คิดแบบนั้นเลย พอถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องตายค่ะ เคยคุยกับลูกกับเพื่อนช่วงแรกๆ ทุกคนก็สงสัยว่าทำไมเราคิดอย่างนี้ แต่ก็บอกว่า จำเป็นนะ ทำให้ตอนนี้ครอบครัวเหมือนกันหมด มองเรื่องนี้อย่างเข้าใจ ดิฉันกับสามีก็เขียนว่างานศพเราอยากทำแบบไหน เราอยากมีความรู้สึกว่า ถ้าเราต้องตายจะตายแบบเข้าใจและไปแบบสงบ ลูกหลานก็เบาใจว่าเขาดูแลเราได้เต็มที่แล้ว ไม่เป็นภาระ
คุณเจน: เนื่องจากเราอายุยังน้อยทำให้แทบทุกวันไม่ได้คิดเรื่องความตายเลย แต่พอได้ไปร่วมสัมมนาครั้งนี้ ทำให้มุมความคิดเปลี่ยนไปเลยว่า มันเป็นเรื่องไม่ได้ไกลจากตัวเราเลย เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตอนไหนก็ได้ วัยไหนก็ได้ ทำให้เรากลับมาคิดมากขึ้น คิดถึงชีวิตตัวเองลึกซึ้งขึ้น
‘พินัยกรรมชีวิต’ สร้างมุมมองเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน
คุณสุวดี: สิ่งหนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเราคือ รู้สึกสงบขึ้น มีเป้าหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้เป้าหมายเราเป็นอีกแบบคือการทำสมาธิ ฝึกสติ ฝึกทำเพื่อที่ว่าตอนเราเจ็บมาก เราพร้อมจะละโลกต้องทำอย่างไร เตรียมตัวเรื่องทรัพย์สมบัติ แต่อันนี้เป็นเรื่องของการที่เรารู้ว่าจะไปได้เมื่อไหร่ หรือจุดไหนที่เราพร้อม ซึ่งเราเตรียมตัวไปถึงงานศพแล้วด้วย เพราะฉะนั้นตัวเองก็จะบอกคนที่ต้องจัดการให้เรา เนื่องจากถึงตอนนั้นเราก็คงไม่สามารถจัดการอะไรได้แล้ว อยากให้พวกเขาได้รับรู้ก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยเราทำเป็นเอกสารเลยค่ะ ทำให้รู้สึกว่าเราพร้อมจะไป ดิฉันไปร่วมสัมมนาพินัยกรรมชีวิตครั้งนี้พร้อมกับลูกสาวคนเล็ก (คุณเจน) ถามว่าทำไมต้องเป็นเจน เนื่องจากคิม (คุณคิม จงสถิตย์วัฒนา) ลูกสาวคนโต เป็นคนที่บุกไปข้างหน้า เราไว้ใจได้เขาได้ในแง่ธุรกิจ ส่วนเจนก็กำลังเข้ามาช่วยนานมีบุ๊คส์เหมือนกัน แต่เจนเขาเป็นคนที่มีลักษณะที่ชอบดูแลครอบครัว จัดการเรื่องราวในบ้าน ดูแลทุกข์สุขของพ่อแม่และดูแลพี่สาวเขาด้วย เราจึงมองว่าเจนน่าจะเข้าใจเรามากที่สุด เลยชวนมาร่วมสัมมนาครั้งนี้ด้วย
คุณเจน: ตอนแรกไม่รู้เลยว่าเรื่องอะไร ‘พินัยกรรมชีวิต’ เป็นคำที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ เอ๊ะ! น่าสนใจเลยลองมาฟังพร้อมคุณแม่ เลยรู้ว่าเป็นการเขียนความต้องการของเราในช่วงระยะสุดท้ายของชีวิตว่าอยากให้อะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง น่าสนใจมาก เป็นการพูดถึงชีวิตก่อนความตาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยคุยกัน ทำให้ตัวเองเพิ่งรู้ว่าเรามีตัวเลือก ก่อนหน้าเราไม่เคยรู้เลยว่าเราสามารถทำพินัยกรรมชีวิตแบบนี้ได้ นึกว่าทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับหมอเป็นคนสั่ง แต่จริงๆ เราเป็นเจ้าของชีวิต ต้องมีส่วนตัดสินใจนะ ไม่ใช่หมอเป็นคนกำหนดชีวิต เป็นมุมมองของชีวิตที่เปลี่ยนไปจริงๆ รู้สึกขอบคุณ KBank Private Banking เพราะถ้าไม่ได้เชิญมางานนี้เราก็คงไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้เลยในครอบครัวของเรา ไม่มีความรู้ที่จะคิดและวางแผนชีวิตระยะสุดท้าย และวันนั้นได้เปิดอกคุยกับคุณแม่ลึกซึ้งมาก ซึ่งปกติเราไม่มีโอกาสคุยเปิดอกกันได้แบบนี้ ทุกวันนี้เราเริ่มรับผิดชอบครอบครัว ที่ผ่านมา พวกท่านดูแลพวกเราดีมาก แต่ต่อไปต้องเป็นหน้าที่เราที่ต้องดูแลเขา ไม่คิดถึงแต่งานหรือเรื่องส่วนตัวเราอย่างเดียว ครอบครัวเราก็ต้องดูแลซึ่งกันและกัน
โปรย...
เพราะความปรารถนาของลูกค้าที่เหนือไปกว่าทรัพย์สินเงินทอง เหนือไปกว่าความมั่งคั่งคือ ความสุขสูงสุดมากกว่าสิ่งอื่นใด ทำให้เกิดสัมมนาเพื่อมิติแห่งความสุขในมุมใหม่ ‘วางแผนความมั่งคั่งอย่างมั่งคงด้วย...พินัยกรรมชีวิต’
ประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2561