การลงทุนทุกครั้งมีความเสี่ยง การกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์ก็เป็นวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงได้ แต่มีอีกวิธีที่มักจะไม่ค่อยถูกพูดถึง คือวินัยในการตัดขาดทุน บทเรียนสำคัญในปี 2018 คือตลาดซึมลงทั้งปีและไม่มีการตัดขาดทุน แต่นั่นก็คือธรรมชาติของนักลงทุนมักจะถือต่อเวลาขาดทุน ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะมีเหตุผลที่จะถือต่อ ยิ่งถ้าเหตุผลที่ซื้อเข้าไปตั้งแต่ต้นยังคงอยู่ด้วยแล้ว ยิ่งจะมีความลำเอียงในการถือต่อ แต่ลึกๆ แล้วมีต้นตอมาจากความกลัวขาดทุน
ตรรกะและอารมณ์มีส่วนสำคัญมากในการลงทุน แม้นักลงทุนจะเข้าใจดีว่าควรพึ่งตรรกะแต่บ่อยครั้งอารมณ์ก็มักทำให้ลำเอียง จึงขอแนะนำว่าก่อนที่จะเข้าลงทุน ควรทำความเข้าใจในมุมความคาดหวังว่าผลตอบแทนแค่ไหนจึงคุ้มต่อความเสี่ยง ระยะเวลาเท่าไหร่ สมมุติฐานคืออะไร จะพิจารณาตัดขาดทุนเมื่อใด และควรเข้าใจถึงความลำเอียงว่าเป็นเช่นไร เมื่อถึงเวลาที่สินทรัพย์ราคาลงมาถึงจุดพิจารณาตัดขาดทุน ควรพิจารณาใน 3 เรื่อง ได้แก่
- การเข้าใจถึงสาเหตุที่ทำให้สินทรัพย์ราคาลดลงเป็นสิ่งสำคัญมาก มีปัจจัยมากมายที่สามารถกระทบต่อราคา แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือปัจจัยเหล่านั้นอยู่ในการคาดหมายหรือไม่ และสามารถคาดเดาความน่าจะเป็นในอนาคตได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถในการหาสาเหตุได้ หรือปัจจัยเหล่านั้นทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มเกินกว่าที่จะรับได้ คงต้องพิจารณาตัดขาดทุนทันที
- หากสมมุติฐานในการลงทุนเปลี่ยน เช่น คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารทั่วโลกน่าสนใจเพราะน่าจะมีผลประกอบการที่ดีจากการปล่อยสินเชื่อที่โตขึ้นพร้อมๆ กับเศรษฐกิจที่โตขึ้น หากเศรษฐกิจไม่โตหรือสินเชื่อไม่โต ก็อาจส่งผลให้ผลประกอบการกระทบได้ ดังนั้นสมมุติฐานที่เปลี่ยนไปจึงเป็นสาเหตุให้ตัดขาดทุนได้
- การแกว่งตัวของแต่ละสินทรัพย์มีความต่างกัน และหากลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ ระยะเวลาเวลาในการลงทุนจะช่วยให้ผลตอบแทนกลับมาได้เสมอ ถ้านักลงทุนมีความอดทนพอ การแกว่งตัวระยะสั้นก็จะเป็นเพียงเสียงรบกวนเท่านั้น
การมีวินัยในการตัดขาดทุนเริ่มจากการมีจุดที่จะพิจารณาว่าจะตัดขาดทุนหรือไม่ เมื่อราคาลงนักลงทุนควรมองไปข้างหน้าและตัดขาดทุน ยิ่งในการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง มุมมองระยะสั้นและมีสภาพคล่องยิ่งควรทำ วินัยการตัดขาดทุนคือการช่วยปกป้องไม่ให้พอร์ตการลงทุนเสียหายไปมากเกินกว่าที่จะรับได้ และเป็นอีกทางหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงของพอร์ตที่ดี
ประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2562