Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

หุ้นนอกตลาด เมื่อวิกฤตคือโอกาส (ตอนที่ 1)

หุ้นนอกตลาด เมื่อวิกฤตคือโอกาส (ตอนที่ 1)

การรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิต 19 รวมถึงการปิดเมือง  ส่งผลให้เศรษฐกิจกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย มีธุรกิจที่ต้องล้มหายตายจากไป แต่ก็มีบางธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีขึ้นและได้ประโยชน์จากสถานการณ์ “ปกติแบบใหม่ (New Normal)" ด้วยซ้ำ แม้ว่าปัจจุปันจะมีธุรกิจหลากหลายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีราคาที่ลดลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่จะมีโรคโควิด 19 แต่ราคาและโอกาสของการลงทุนในหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์หรือที่เรียกว่า Private Equity ซึ่งเป็นหนึ่งในการลงทุนทางเลือก (Alternative investment) ก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน

การลงทุนในหุ้นบริษัทนอกตลาดนั้นมีหลายช่วง หลายรูปแบบ และความเสี่ยงของการลงทุนจะแตกต่างกันไป โดยจะขอแบ่งรูปแบบการลงทุนในหุ้นบริษัทนอกตลาด เป็น 4 ช่วงของวงจรบริษัท ได้แก่

  1. ลงทุนในช่วงที่บริษัทพึ่งก่อตั้งและยังไม่มีอะไรเลย มีเพียงความฝันของผู้ก่อตั้ง (Startup Capital) หรือขยับขึ้นมาหน่อยคือช่วงที่เริ่มมีของขายแต่อาจจะยังไม่ได้กำไร (Venture Capital) ซึ่งบริษัทในช่วงต้นนี้จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้ม แต่ถ้าทำสำเร็จก็จะได้ผลตอบแทนสูงเป็นหลายๆ เท่าของการลงทุน ในช่วงนี้ผู้ร่วมทุนจะคอยให้ความช่วยเหลือบริษัทอย่างใกล้ชิด การลงทุนในแต่ละบริษัทจึงต้องเป็นจำนวนไม่มาก กระจายไปในการลงทุนที่หลากหลายบริษัท หลายอุตสาหกรรม
  2. ช่วงที่บริษัทเพิ่มยอดขายและต้องการเงินทุนเพิ่ม (Growth Capital) ช่วงนี้บริษัทส่วนใหญ่จะมีสินค้าชัดเจน มีความโดดเด่นในการแข่งขัน เริ่มมีรายได้ และต้องการขยาย จึงต้องการทุนเพิ่มขึ้นมาก ทั้งในส่วนของเงินกู้และเพิ่มทุน ในช่วงนี้ถ้าผู้ร่วมทุนสามารถช่วยให้บริษัทเติบโตได้ดีขึ้น เช่น การขยายตลาด หรือการช่วยทำให้บริษัทมีระบบที่ดีขึ้น เพื่อทำให้ราคาหุ้นต่อยอดขายดีขึ้นด้วย เมื่อการลงทุนในช่วงเวลานี้ ความเสี่ยงน้อยลงกว่าแบบแรก จึงสามารถลดจำนวนบริษัทและอุตสาหกรรมได้  
  3. ช่วงที่บริษัทเป็นผู้นำของตลาด และควบรวมบริษัทเพื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Buyout Capital) ช่วงนี้บริษัทมักจะโตแล้ว มีรายได้ที่ชัดเจน แต่การทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้น บริษัทอาจต้องอาศัยการปรับโครงสร้างของบริษัท การควบรวมกิจการของคู่แข่ง และการขายกิจการบางส่วน เพื่อให้มีประสิทธภาพในการแข่งขันมากขึ้น โดยการทำสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจและกลยุทธ์ของบริษัทที่ชัดเจน การลงทุนในบริษัทเหล่านี้มักจะใช้ต้นทุนสูง ต้องใช้มืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถที่จะดำเนินให้มีผลกำไรเพิ่มขึ้นในระยะยาวได้ เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี จำเป็นต้องมีการรวมทุนที่ค่อนข้างใหญ่
  4. ช่วงทีบริษัทซบเซา อยู่ในขาลง หรือมีปัญหาเฉพาะของบริษัท แม้บางบริษัทจะอยู่ในตลาดแล้วแต่ไม่โต            ก็สามารถออกจากตลาดมาปรับโครงสร้างได้ การดำเนินการจะคล้ายกับ Buyout Capital ซึ่งต้องอาศัยอำนาจการตัดสินใจทิศทางของบริษัท ปรับโครงสร้างลดต้นทุน และต้องใช้เงินทุนมากเช่นกันเพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงที่เพียงพอ

 

ทั้งสี่ช่วงของการลงทุนใน Private Equity มีความแตกต่างและซับซ้อน นักลงทุนควรมีการกระจายความเสี่ยงในการซื้อกองทุนที่มีการกระจายบริษัทที่ลงทุนอย่างเหมาะสม และต้องอาศัยผู้จัดการกองทุนที่มีความชำนาญเฉพาะทาง ในการซื้อขายบริษัท เข้าใจถึงความเสี่ยงขององค์กร ความเสี่ยงของอุตสาหกรรม สามารถเพิ่มศักยภาพของบริษัทที่ซื้อได้ และที่สำคัญต้องสามารถหาบริษัทที่น่าจะซื้อ ในราคาที่เหมาะสมได้ 

การกระจายลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอย่าง Private Equity มากขึ้นในช่วงนี้ เป็นโอกาสท่ามกลางวิกฤต ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ประกอบกับในสภาวะดอกเบี้ยขาลงที่ช่วยให้บริษัทเหล่านี้มีผลประกอบการที่ดีขึ้น ที่ผ่านมา KBank Private Banking ได้เคยแนะนำการลงทุนในกองทุน Private Equity ไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันกองนี้ยังมีสภาพคล่องอยู่ที่จะใช้เลือกซื้อบริษัทดีๆ ที่มีคนขายออกมามากขึ้น หรือมีราคาที่ดีขึ้นในช่วงวิกฤตโรคโควิด 19 และในอนาคตอันใกล้นี้ ทาง KBank Private Banking จะมีกองทุน Private Equity ที่จะแนะนำในลักษณะคล้ายกันนี้ออกมาอีก ซึ่งจะอธิบายรายละเอียดในตอนต่อไป


ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2563


กลับ
PRIVATE BANKING