สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนยืดเยื้อมาแล้วเกือบ 2 ปีแล้ว การบรรลุข้อตกลงทางการค้า “ขั้นแรก" เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2019 ที่ผ่านมา พร้อมกับการประกาศจากทางการสหรัฐฯต่อการระงับการขึ้นภาษีอัตรา 15% ต่อสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มเติม รวมทั้งการประกาศลดกำแพงภาษี ที่เคยถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าที่อัตรา 15% ในวันที่ 1 กันยายน 2019 ลงมาที่ 7.5% เหตุการณ์ดังกล่าวได้ช่วยลดความกังวลของนักลงทุนทั้งหลายที่กลัวว่าสงครามการค้าจะทวีความรุงแรงขึ้นเรื่อยๆ การตกลงขั้นแรกนี้ทำให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ต่างปิดบวกกันถ้วนหน้าหลังข่าวดังกล่าวในระดับ 1-3%
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่ได้มีการลงนามระหว่าง 2 ประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2020 แต่สิ่งที่น่าคิดและเป็นกังวลมากกว่าคือ เงื่อนไขที่ทางการสหรัฐฯยื่นให้ต่อจีนข้างต้นนั้นก็เพื่อแลกกับความคาดหวังจากสหรัฐฯที่ต้องการให้จีนนำเข้าสินค้าและบริการสหรัฐฯมูลค่ากว่า 200,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นระยะเวลาอีก 2 ปีต่อจากนี้ รวมทั้งจีนจะต้องเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ สูงขึ้นถึง 40,000 – 50,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะพบว่าความคาดหวังดังกล่าวของสหรัฐฯต่อจีนถือว่าสูงมากเลยทีเดียว เพราะที่ผ่านมาในปี 2018 จีนนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯราว 179,300 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯแค่เพียง 9 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ทางด้านของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ประกาศว่า สหรัฐฯพร้อมที่จะกลับมาขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนได้อีกทุกเมื่อหากว่าจีนไม่สามารถทำได้ตามที่คาดหวัง นอกจากนี้ แม้ว่าล่าสุดสหรัฐฯจะประกาศยกเลิกขึ้นภาษีและลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนบางส่วน แต่มูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนที่ยังคงถูกจัดเก็บภาษีนำเข้าที่อัตราสูงถึง 25% ก็ยังเป็นมูลค่ามากถึง 267,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบ 50% ของมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่สหรัฐฯนำเข้าจากจีน
ดังนั้น หนทางยังอีกยาวไกลว่าข้อตกลงขั้นแรกระหว่างสหรัฐฯและจีนจะสามารถดำเนินการได้จริงมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงการเจรจาข้อตกลงในขั้นที่ 2 จะดำเนินการได้เร็วมากน้อยแค่ไหนจนกระทั่งทั้ง 2 ประเทศสามารถได้ข้อตกลงร่วมกัน ฉะนั้น แม้จะมีข่าวดีมาช่วยลดความกังวลได้บ้างแต่การลงทุนที่เน้นกลยุทธ์การลงทุนที่กระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและมีการปรับเปลี่ยนน้ำหนักการลงทุนตามสภาวะหรือความผันผวนของตลาดอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงกลยุทธ์การลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ทุกสภาวะตลาดดังเช่น กองทุนเปิดเค มัลติ-สตราทีจี บอนด์ (K-MBOND) ที่เป็นการลงทุนทางเลือก เน้นลงทุนผ่านตราสารหนี้ และสกุลเงิน ผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยมหภาคที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลตอบแทนต่อความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างมั่งคง
ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2562