Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

Brexit และการเข้าใจตัวเองในฐานะนักลงทุน

Brexit และการเข้าใจตัวเองในฐานะนักลงทุน

นับตั้งแต่การลงประชามติในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 เพื่อแยกอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ Brexit ถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงข้อสรุปว่าจะเป็นรูปแบบใด  ไม่ว่าจะเป็น 1. Brexit แบบไม่มีข้อตกลง  2. Brexit แบบมีข้อตกลง หรือ 3. ลงประชามติใหม่เป็นรอบที่ 2 นอกจากนี้ ก็ได้มีการเลื่อนกำหนดการการออกของอังกฤษอย่างเป็นทางการมาแล้วถึง 2 ครั้ง (ครั้งแรกเป็นการเลื่อนจากกำหนดการในวันที่ 29 มีนาคม เป็นวันที่ 30 มิถุนายน 2019 และครั้งที่ 2 เลื่อนจากวันที่ 30 มิถุนายน เป็นวันที่ 31 ตุลาคม 2019) โดยนายกเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษคนก่อน เนื่องจากล้มเหลวในการได้มติรับรองจากทางรัฐสภาอังกฤษ จนสุดท้ายนายกเมย์ก็ต้องยอมแพ้และลาออกไป และนายบอริส จอนห์สัน ผู้ซึ่งมีจุดยืนชัดเจนว่าจะเอาอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปให้ได้ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนและเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนปัจจุบัน ซึ่ง ณ ขณะนี้ ก็เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงเส้นตายที่วางไว้ คือ 31 ตุลาคม 2019


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2019 แม้ว่านายกจอนห์สันจะได้บรรลุข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่กับทางสหภาพยุโรปแล้ว แต่เมื่อนำมาเสนอต่อรัฐสภาอังกฤษในวันที่ 19 ตุลาคม 2019  ก็ไม่เป็นดังคาด เมื่อสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษลงมติสนับสนุนให้เลื่อนการตัดสินใจรับรองข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปด้วยคะแนนเสียง 322 ต่อ 306 เสียง โดยระบุให้ยับยั้งข้อตกลง Brexit ไปจนกว่าจะมีการผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก่อน ส่งผลให้นายกจอห์นสันต้องยื่นหนังสือต่อสหภาพยุโรปเพื่อขอเลื่อนเส้นตายออกไปจากวันที่ 31 ตุลาคม 2019 แม้ว่าจะไม่เต็มใจก็ตาม และในระหว่างที่ทางสหภาพยุโรปกำลังตัดสินใจว่าจะยอมเลื่อนเส้นตายหรือไม่นั้น ทางด้านนายกจอนห์สันก็ได้ใช้ความพยายามอีกครั้งด้วยการยื่นคำขาดต่อรัฐสภาอังกฤษให้กลับมาพิจารณาข้อตกลง Brexit ของเขาอีกครั้ง รวมทั้งลงมติต่อตารางเวลาในการผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ Brexit ทั้งหมด มิเช่นนั้น เขาจะประกาศยุบสภาเลือกตั้งใหม่ และขู่ว่าความเสี่ยงของ Brexit แบบไม่มีข้อตกลงจะเพิ่มมากขึ้นเพราะสหภาพยุโรปจะไม่ยอมเลื่อนเส้นตายให้


สิ่งที่สำคัญมากสำหรับนักลงทุนในเวลาที่ตลาดผันผวนขึ้นหรือลงเนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมือง คือการเข้าใจตัวเองเรื่องระยะเวลาการลงทุนและปริมาณที่จะรับความผันผวนได้ผนวกกับความสามารถในการคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เปรียบเทียบกับสิ่งที่ตลาดรับรู้ไปแล้ว การที่เรารู้ว่าเราไม่รู้อะไรจะช่วยการวางพอร์ตให้เหมาะสมได้

ไม่ว่าความวุ่นวายนี้ดูจะจบหรือไม่อย่างไร แต่ความคาดหวังในเชิงบวกส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนทำให้หุ้นและค่าเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว เวลาเช่นนี้นักลงทุนควรเอาอารมณ์ออกจากสถานการณ์ความวุ่นวายและมุ่งเน้นการกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนรวมจากการถือเพียงหุ้นและตราสารหนี้ และแบ่งอีกส่วนลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ผันผวนตามหุ้นและตราสารหนี้เช่น ทองคำเและ/หรือเงินสดเพื่อรอลงทุนหากราคาหุ้นหรือตราสารหนี้มีความผันผวนอย่างรุนแรงขึ้น การมีพอร์ตที่มีส่วนผสมของทุกๆอย่าง และคงสถานะการลงทุนอย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้การลงทุนบรรลุเป้าหมายที่นักลงทุนต้องการในระยะยาวได้ดีขึ้น


ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2562


กลับ
PRIVATE BANKING