สถานะการลงทุนปัจจุบันเป็นอย่างไร
ตอบได้สั้น ๆ ว่าไม่ปกติ เพราะในช่วงเวลาเพียง 1 เดือน เราเห็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด ช่วงระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึง 23 มีนาคม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ S&P500 ลดลงถึง 33.9 เปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้น ภายใน 3 วัน ตลาดหุ้นก็ดีดกลับขึ้นมาถึง 17.5 เปอร์เซ็นต์
เมื่อ 1 เดือนก่อน นับจากวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา มีวันที่ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดรวมทั้งสิ้น 21 วัน และมีถึง 18 วันที่ดัชนี S&P500 ขึ้นลงมากกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ โดยมี 11 วันที่ลง และ 7 วันที่ขึ้น โดยระหว่างนั้นมีทั้งวันที่ตลาดขึ้นเยอะที่สุดตั้งแต่ปี 1933 แล้วก็มีวันที่ดัชนีลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 1940
การจัดการกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กำลังจะทำให้เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯและยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ผู้ที่กู้เงินก็เป็นห่วงว่าจะสามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้และมีสภาพคล่องหรือไม่ ส่วนผู้ที่ให้กู้ก็เป็นห่วงว่าจะได้เงินต้นและดอกเบี้ยคืนมาหรือไม่ สถานการณ์วันนี้เป็นความไม่แน่นอนที่โลกไม่เคยเผชิญมาก่อน และไม่สามารถหาตัวอย่างในอดีตเพื่อเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ได้เลย
แล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป
สามารถแบ่งสถานการณ์ได้เป็น 2 ทิศทาง ได้แก่
1. ทิศทางที่ดี โดยเชื่อว่าการปิดเมืองและมาตรการระยะห่างทางสังคมนั้นจะได้ผล จึงส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตน้อยลง ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น การติดต่อและแพร่ระบาดลดลง มียารักษา มีวัคซีน ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
ถ้าภาครัฐช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดโดยไม่มีข้อจำกัดในปริมาณเงิน เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาได้เร็วเมื่อการระบาดจบลง ธนาคารและระบบการเงินจะยังคงอยู่ในสภาพที่ดี มีเสถียรภาพ
ในเวลา 3 เดือน ของการปิดเมืองและมาตรการระยะห่างทางสังคม ทำให้รายรับของบริษัทน้อยลง ผลประกอบการของหุ้นใน S&P500 ในปี 2020 อาจลดลงถึง 30% แต่ในปี 2021 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% เพราะราคาของสินทรัพย์ที่ลดลงไปในช่วงนี้จะดึงดูดให้นักลงทุนและสถาบันการเงินเร่งเข้ามาซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เพราะวันนี้มีการถือเงินสดในปริมาณสูง และราคาหุ้นน่าจะกลับมาอย่างรวดเร็วเป็น V-Shape แต่อาจไม่กลับไปสูงเท่าราคาในช่วงปลายปี 2019
2. ทิศทางที่เลวร้าย คือการที่มาตรการระยะห่างทางสังคมไม่รัดกุมเพียงพอ ทำให้จำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ มีการกระจายตัวของผู้ป่วยในหลายเมืองใหญ่ ทำให้ระบบสาธารณสุขไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจำนวนมากได้ ทางการจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวด การปิดเมืองจำเป็นต้องดำเนินต่ออีกในหลายเมือง และใช้เวลานานถึง 6 เดือนก่อนที่จะเบาบางลง และอาจมีการปะทุอีกเป็นระลอก
ภาครัฐจะต้องใช้นโยบายการคลังแบกรับผู้ที่ไม่มีงานทำจำนวนมหาศาล ระบบประกันสังคมและการประกันต่าง ๆ จะต้องรับสภาพนี้ต่อไปอีก นโยบายการคลังที่ในหลายประเทศกำลังทำอยู่คือการให้เงินเดือนประชาชน ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดแต่ประสิทธิภาพก็จะน้อยลงถ้าทำมากและต่อเนื่องนานเกินไป ภาครัฐไม่สามารถผลิตตามความต้องการของประชาชน หลังจากการกักตัวเป็นระยะเวลานาน ธุรกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าลง การเปิดธุรกิจใหม่ การจ้างงานใหม่ต้องใช้เวลา และเป็นไปได้ว่าแม้ว่าภาครัฐจะใช้นโยบายการคลังอย่างไร เศรษฐกิจก็จะหดตัวแรงและมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ธุรกิจจำนวนมากจะต้องปิดตัวลง และผู้ว่างงานทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน ทำให้เกิดปัญหาความเลื่อมล้ำและการเมืองตามมาทั่วโลก ส่วนนโยบายทางการเงินจะเพิ่มปริมาณเงินขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีอัตราเงินเฟ้อ
การหมุนของเงินหยุดอย่างเฉียบพลันเป็นเวลาหลายเดือนจะมีผลเป็นลูกโซ่ หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย บางอุตสาหกรรมสามารถกลับมาอย่างรวดเร็วได้ ส่วนบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ความแออัดเป็นส่วนหนึ่งของการหารายได้จะใช้เวลานาน แม้แต่ในธุรกิจเป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีพที่มีปัญหาเรื่องการผลิต อาจต้องปิดตัวลง เพราะห่วงโซ่การผลิตมีความติดขัดอย่างมาก บริษัทที่มีการกู้ยืมสูงก่อนที่จะเกิดโรคระบาดซึ่งบางส่วนเกิดจากการกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุน หรือมีการซื้อหุ้นกลับทำให้สัดส่วนหนี้สูงขึ้น บริษัทเหล่านี้ในช่วงเวลาดี ๆ จะมีผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่สูงขึ้น แต่ในเวลาที่เลวร้ายก็จะมีผลตอบแทนที่เลวร้ายมากด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเมื่อสภาพคล่องมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้นจากการที่รายรับลดลง บริษัทที่มีหนี้สูงน่าจะเป็นบริษัทที่น่าเป็นห่วงที่สุด แต่ตัวแปรที่สำคัญคือ ควรหรือไม่ที่ภาครัฐจะอุ้มบริษัทเหล่านี้
ในทิศทางนี้ เป็นไปได้ที่ผลประกอบการของบริษัทใน S&P500 จะติดลบในไตรมาส 2 และ 3 ทำให้ผลประกอบการทั้งปีของบริษัทใน S&P500 อาจลดลงกว่า 50% ถ้าดูจากราคาหุ้นลดลงในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่าน ๆ มา ราคายังสามารถปรับลงได้อีกกว่า 25% ส่วนการฟื้นตัวของราคาคงต้องมาดูว่าบริษัทที่เหลืออยู่จะสามารถปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีกว่าหุ้นจะกลับมาที่เดิมได้ เพราะระบบต่าง ๆ ต้องใช้เวลาฟื้นฟู
แล้วจะกลับมาปกติเมื่อไร
จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้จะจบลงเมื่อไร ก่อนที่เราจะสามารถตัดสินใจได้ว่าควรจัดการกับความเสี่ยงนั้น ต้องยอมรับว่าเราไม่รู้อะไร เพราะถ้ารู้นักลงทุนควรจะกระจุกความเสี่ยง ถ้ายอมรับว่าไม่รู้ก็ ไม่ใช้ความเสี่ยง ส่งต่อความเสี่ยง หรือกระจายความเสี่ยง
แนวทางการรับมือความเสี่ยงในช่วงโควิด-19 มีอยู่ 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1. ขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงออกบางส่วนและถือเงินสด แต่กลยุทธ์นี้ต้องมาควบคู่กับความคล่องตัวและความพร้อมที่จะซื้อกลับสินทรัพย์ที่ควรสะสม โดยใช้โอกาสของจากราคาที่ลดลง การที่ทุก ๆ สิ่งถูกเทขายทำให้ราคาบิดเบี้ยวไปจากราคาที่ควรเป็นอย่างมาก แต่ก็ทำให้เกิดโอกาสมากเช่นกัน กลยุทธ์นี้คือการประกันด้วยทุนของตัวเอง ซึ่งต้นทุนของโอกาสจะสูงมาก นอกจากเงินสดแล้วการลงทุนกับบริษัทนอกตลาดถือเป็นทางเลือกที่ดีเพื่อจะลดความเสี่ยงจากการเคลื่อนไหวของราคาอีกด้วย
2. ถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงร่วมกับการป้องกันความเสี่ยงขาลง นักลงทุนที่สามารถใช้ตราสารอนุพันธ์เป็นเครื่องมืออาจใช้ตราสารอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงขาลงได้ ในช่วงนี้การซื้อตราสารอนุพันธ์อาจจะมีราคาที่แพงอยู่บ้างแต่ก็สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงได้ วิธีนี้ต้องอาศัยความรู้ในการใช้เครื่องมือลงทุน ต้องมีความคล่องตัวและต้องมีเวลาที่จะติดตามการลงทุนตลอดเวลาอีกด้วย
3. การกระจายความเสี่ยงไปยังหลากหลายสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องจะช่วยลดความเสี่ยงได้ แต่ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงทั้งหมดหายไป ดังนั้นในวิธีนี้นักลงทุนต้องอยู่กับความเสี่ยงให้ได้ ถ้าอยากจะเพิ่มความเสี่ยงบ้างเมื่อเห็นว่าราคาถูกมากแล้ว ควรจะปรับพอร์ตให้สมดุล การลงทุนในกองที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงโดยการใช้ตัวทดทั้งพอร์ตแทนที่จะเพิ่มเพียงหุ้นอย่างเดียว ก็จะช่วยให้พอร์ตสามารถทนทานต่อผลที่เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้อีกด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่นักลงทุนต้องมีในเวลานี้คือ ความคล่องตัวในการจัดการกับความเสี่ยง เพื่อที่จะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานะการที่ไม่ปกตินี้
ประจำวันที่ 6 เมษายน 2563