เปิดปี 2019 มาก็มีหลายสถาบันเริ่มออกมาคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ แต่บางแห่งกลับมองว่าปีนี้อาจเห็นเฟดลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ ถ้อยแถลงของประธานเฟดเองก็ไม่ค่อยชัดเจนว่าจะทำอย่างไร เน้นอยู่ที่การพึ่งข้อมูลเป็นหลัก แต่ที่แน่ๆ ปีนี้ เป็นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของการขึ้นดอกเบี้ยและการลงทุน
ช่วงนี้การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นทั่วโลกเต็มไปด้วยอารมณ์ที่มีทั้ง ความคาดหวังระยะสั้นของตลาดเรื่องดอกเบี้ย เรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่าง สหรัฐฯ และจีน เรื่องการเมืองในสหรัฐฯ ที่การใช้พนักงานและการปิดภาครัฐมาเป็นประเด็นในเรื่องของการต่อลองงบประมาณ อีกทั้งเฟดเองยังคงย้ำการพึ่งพาข้อมูลในการตัดสินใจ (Data Dependency) ซึ่งเป็นที่รู้กันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า การคาดเดาข้อมูลมหภาคมีโอกาสผิดผลาดสูงมาก จะเห็นได้จากการปรับข้อมูลย้อนหลังที่สูงมาก ซึ่งผลสรุปในทุกๆ เรื่องในระยะสั้นเป็นไปได้หลายทาง ทั้งในทางที่ตลาดคาดหวังและในทางที่ทำให้ตลาดผิดหวัง ซึ่งนำไปสู่ความผันผวนสูงขึ้นมากในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงปลายปี การเคลื่อนไหวระหว่างวันของ ดัชนี S&P 500 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการวัดความเสี่ยง ซึ่งเหวี่ยงเกิน 5% ในวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา
ความเชื่อมั่นในการมองอนาคตสำคัญมากในการลงทุน การอยู่ในตลาดทุน ผมและนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะสร้างความคาดหวังต่อแต่ละเรื่องตลอดเวลา แต่ในความเป็นจริง ความเชื่อมั่นในการคาดเดาเหตุการณ์ระยะสั้นมักจะมีน้อยกว่าความเชื่อมั่นระยะยาว ในระยะยาว มองว่าดอกเบี้ยระยะสั้นไม่น่าขึ้นได้อีกมาก เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อโลกไม่ได้สูงมาก ภาคเอกชนจีนและสหรัฐฯ จะปรับตัวทำให้การค้าขายดำเนินต่อได้ การเมืองสหรัฐจะสรุปได้ และเฟดจะตัดสินใจเท่าที่มีความสามารถให้เศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างดีที่สุด
หลายครั้งที่ถูกถามว่าจะทำอย่างไรดีในช่วงนี้ นักลงทุนหลายท่านไม่อยากลงทุน จึงถือเงินสดหรือกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ถ้านักลงทุนมองว่าความเสี่ยงในช่วงนี้สูงกว่าที่คาด อีกทางหนึ่งคือมองข้ามความเสี่ยงระยะสั้นไปให้ได้ และให้นักลงทุนใช้โอกาสนี้ในการปรับพอร์ต ทำความเข้าใจตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน สามารถทนรับกับสภาพเหวี่ยงของตลาดหุ้นอย่างนี้ได้หรือไม่ ถ้ารับความเสี่ยงได้เช่นเดิม การปรับพอร์ตให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับสมดุลดังเดิมก็น่าจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวได้
ประจำวันที่ 7 มกราคม 2562