“ธรรมนูญครอบครัว" ความหมายที่สมบูรณ์ ของการบริหารความสัมพันธ์ เพื่อส่งมอบธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน
นับตั้งแต่ที่ธนาคารกสิกรไทยได้ริเริ่มบริการ KBank Private Banking เพื่อให้บริการลูกค้าระดับไฮเอนด์ เรื่องราวความประทับใจมากมายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ปณิธานของงานบริการระดับมาตรฐานสากลที่ถูกออกแบบมาเพื่อครอบคลุมทุกความต้องการด้านความมั่งคั่ง จากการประสานความเชี่ยวชาญของ Lombard Odier ผู้ให้บริการไ พรเวทแบงค์ระดับสากลที่ดำเนินธุรกิจมากว่า 220 ปี ครอบคลุมถึงบริการอย่าง 'บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว (Family Wealth Planning Service)' เพื่อให้การเก็บรักษา การสร้างให้งอกเงยและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการถ่ายทอดและส่งต่อทรัพย์สินของครอบครัว ซึ่งรวมถึงการส่งต่อความสำเร็จทางธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นระบบ หนึ่งในบริการที่เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารทรัพย์สินครอบครัวคือ 'ธรรมนูญครอบครัว'
“ถ้าเราพูดถึงคำว่า 'ธุรกิจครอบครัว' โจทย์ที่ท้าทายอย่างหนึ่งก็คือ การรักษาดุลยภาพระหว่างธุรกิจและความเป็นครอบครัว เพื่อป้องกันความขัดแย้งและเป็นรากฐานในการสร้างธุรกิจครอบครัวให้เติบโต" คุณนนท์ บุรณศิริ Private Banking Family Wealth Management Advisory Head ธนาคารกสิกรไทย เล่าถึงที่มาของบริการว่า
“ธรรมนูญครอบครัวก็คือการทำข้อตกลงในครอบครัว ซึ่งก็เหมือนกับกฎระเบียบทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก คือพอมีคนหมู่มาก ก็เป็นเรื่องปกติที่ย่อมจะมีความเข้าใจ ความคาดหวัง ความต้องการ ความกังวลต่างๆ ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นในการจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เราก็ต้องหาทางสายกลาง ธรรมนูญครอบครัวก็คือการสร้างทางสายกลางที่สอดคล้องกับค่านิยมและความเชื่อของแต่ละครอบครัว เพื่อให้สมาชิกทุกคนในครอบครัวอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดองและมีความสุข ในขณะเดียวกันธรรมนูญครอบครัวก็ยังเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ธุรกิจครอบครัวเติบโตอย่างยั่งยืนและสามารถส่งต่อความสำเร็จนี้ไปยังสมาชิกครอบครัวในรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างไม่สิ้นสุด"
คุณกร ศิวกร พิทยานุกุล ผู้บริหารบริษัท Smooth E จำกัด ตัวแทนจากครอบครัว 'พิทยานุกุล' ซึ่งมีความสนใจในเรื่องการทำธรรมนูญครอบครัว ได้เล่าให้เราฟังว่า "เมื่อก่อนผมคิดว่าธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญเท่าไหร่สำหรับครอบครัวขนาดเล็กแบบผม เพราะเราเป็นครอบครัวเล็กๆ ที่สนิทสนมกันดี แต่ด้วยขนาดของธุรกิจที่เติบโตขึ้นในทุกๆ วัน ผมจึงมองว่าการวางแผนการจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างเป็นระบบตั้งแต่วันนี้ น่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีกว่า ซึ่งที่ผ่านมาทางทีม Family Wealth Planning Service ของ KBank Private Banking มีผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผมมาก"
“ที่สำคัญคือ ผมและครอบครัวยังมีโอกาสได้เดินทางไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านธุรกิจระดับโลกร่วมกับ Lombard Odier ซึ่งเป็นพันธมิตรของ KBank Private Banking สิ่งนี้ยิ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการได้รับความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับธรรมนูญครอบครัว เป็นประโยชน์สำหรับครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกไม่มากแบบครอบครัวของผมครับ"
คุณเมย์ เลิศประภาพงศ์ เจ้าหน้าที่บริษัท Bloomberg L.P. ตัวแทนจากครอบครัว 'พะเนียงเวทย์' หลานสาวคนแรกของคุณตา ผู้บริหารบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) และธุรกิจในเครือ ยอมรับว่าในวัยเด็กเธอไม่ค่อยเข้าใจในธุรกิจครอบครัวสักเท่าไหร่ แต่เมื่อมีโอกาสได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท Bloomberg L.P. บวกกับพัฒนาการทางความคิดที่เติบโตขึ้น ส่งผลให้เธอเข้าใจ ภาคภูมิใจ และตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อกันมาด้วยความรักและปรารถนาดีจากรุ่นสู่รุ่น
"จริงๆ ครอบครัวคนไทยหรือไทย-จีน เราโตมากับคำว่ากงสี ซึ่งการเบิกเงินหรือการบริหารโดยคนๆ หนึ่ง แต่หากในอนาคต เรามีกฎเกณฑ์มากขึ้น พอเรามีตัวกลางตรงนี้ มันทำให้ทุกอย่างจัดการง่ายขึ้น ทำให้เห็นถึงความโปร่งใส เห็นถึงความใส่ใจของทุกคนในธุรกิจครอบครัวมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีมาตรฐานเดียวกัน เลยคิดว่าธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เมย์มองว่า ธรรมนูญครอบครัวจะเป็นตัวกลางที่ช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ในครอบครัว และส่งผลถึงด้านการช่วยรักษาความมั่นคงของธุรกิจ ให้มีความยั่งยืนต่อไปได้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต ซึ่งเมย์คิดว่านี่เป็นสิ่งที่คุณตาคาดหวังไว้เหมือนกัน"
หนึ่งในขั้นตอนการทำธรรมนูญครอบครัว คือการที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะต้องจัดสรรเวลามาประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อตกลงกันอยู่เสมอ ซึ่งสิ่งนี้กลับกลายเป็นผลพลอยได้ เพิ่มพูนความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ยิ่งใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม
"ด้วยความที่ทุกคนต้องมาเจอกันบ่อยขึ้น ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น มาแลกเปลี่ยนความคิดในหัวข้อต่างๆ ที่มันยากหรือมันลึกซึ้ง ทำให้ทุกคนได้เปิดใจคุยกัน ทำให้รู้สึกผูกพันกันมากกว่าเดิมอีกค่ะ มันก็กลายเป็นเรื่องดีที่มองว่าอาจมีส่วนช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความราบรื่นมากขึ้น ที่สำคัญคือ ธรรมนูญครอบครัวยังเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างมาตรฐานความเท่าเทียมกันให้กับสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้ในทางหนึ่ง เพราะในระหว่างขั้นตอนการทำ ทุกคนในครอบครัวสามารถมีสิทธิ์มีเสียงในการสร้างข้อตกลงที่ดีร่วมกันได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจในเครือที่ทางครอบครัวช่วยบริหาร และต่อตัวบุคคลแต่ละคนด้วย อีกอย่างที่คนรุ่นเมย์มองว่าสำคัญมาก คือการที่รุ่นหลานๆ ที่กำลังเติบโต ทุกคนก็จะมีความสบายใจจากการทำธรรมนูญครอบครัว สามารถใช้ชีวิตได้ในแบบของตัวเอง โดยที่ก็ยังเชื่อมโยงถึงกัน ยังมีความเป็นครอบครัวอยู่เสมอ"
คุณนุ่น ธิดา วรเนตร ที่ปรึกษากฎหมาย บริษัท แอลเอส ฮอไรซัน จำกัด ตัวแทนจากครอบครัว 'ตันตรานนท์' ซึ่งเป็นครอบครัวคหบดีเก่าแก่ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีธุรกิจหลักของครอบครัวคือธุรกิจค้าปลีกที่ครอบคลุมทั้งในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ
“ตัวนุ่นเองถือเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 3 ของธุรกิจครอบครัว ตอนเด็กๆ จำได้ว่าที่บ้านคุณตาจะมีบอร์ดสีเขียวบอร์ดหนึ่งที่คุณตาจะเขียนภาษาจีนไว้ แล้วมีเขียนภาษาไทยกำกับไว้ด้วยว่า 'ครอบครัวสันติสุข ธุรกิจราบรื่น' ซึ่งเมื่อมาถึงวันนี้ มันเหมือนเป็นหลักคำสอนที่เชื่อมโยงกับหัวใจสำคัญในการทำธรรมนูญครอบครัวโดยบังเอิญพอดีเลย"
คุณนุ่นเริ่มรู้จักกับคำว่าธรรมนูญครอบครัว ผ่านทางการแนะนำของคุณน้านาย (วรวัชร ตันตรานนท์) "นุ่นเรียนจบกฎหมายมา คำถามแรกที่ถามน้านายคือ ธรรมนูญครอบครัวมันมีผลบังคับตามกฎหมายไหมคะ คำตอบคือไม่ได้มีผลทางกฎหมายขนาดนั้น แต่มันเหมือนเป็นสัญญาใจ พอได้กลั่นออกมาจนเป็นเอกสารเล่มหนา มันเหมือนเป็นการสกัดเอาสิ่งที่บรรพบุรษเราสอนออกมาเป็นตัวหนังสือ เพื่อให้รุ่นหลานๆ ต่อไปได้ซึมซับถึงสิ่งที่สืบทอดกันมามากกว่า จริงๆ ก่อนจะมาทำธรรมนูญครอบครัว อากงแบ่งหุ้นธุรกิจที่บ้านให้ลูก 5 คนเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้น พอมีประเด็นเรื่องธรรมนูญครอบครัว มันเลยดูเหมือนว่าพวกเราทำไปหมดแล้วหรือเปล่า แต่ว่าจริงๆ แล้วมันก็ผสมผสานกันได้อยู่ มันจะมีช่องว่างระหว่างการเป็นรูปแบบบริษัทกับการเป็นรูปแบบครอบครัว ธรรมนูญครอบครัวมันมาอยู่ตรงกลาง ธรรมนูญครอบครัวที่บ้านนุ่น เน้นเรื่องอยากจะให้สมาชิกทุกคนอยู่ดีกินดี ซึ่งตรงนี้เราไม่ได้มองว่าต้องให้เงิน แต่ต้องให้การศึกษา ต้องให้สุขภาพ ต้องให้สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่ดีของชีวิต ครอบครัวที่อยากให้ลูกหลานปรองดอง ควรจะทำ ยิ่งเราเป็นครอบครัวใหญ่ เราก็ไม่อยากให้ใครต้องมาลำบาก ในขณะเดียวกัน ความลำบากของใครบางคนก็ไม่ควรจะมากระทบกับครอบครัวอื่นที่อยู่สุขสบาย การมีธรรมนูญครอบครัวมันเป็นตัวช่วยซัพพอร์ทคนที่ลำบากและทำให้คนที่อยู่สบายได้มีความรู้สึกสบายใจ"
ส่วนสิ่งที่ตามมาหลังจากทำธรรมนูญครอบครัวเสร็จสมบูรณ์ลงแล้วนั้น คุณนุ่นบอกว่าอยู่เหนือความคาดหวัง "สมัยที่อากงยังอยู่เราจะมีทริปไปเที่ยวกันทั้งครอบครัวทุกสองปีครั้ง แต่หลังจากอากงกับอาม่าจากไป ทริปก็หายตามไปด้วย ล่าสุดหลังจากที่มีธรรมนูญครอบครัวครบหนึ่งปี เราก็มีทริปครอบครัวกันอีกครั้ง"
"อีกอย่างที่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นเลยก็คือ เราเกิดไอเดียต่อยอดเชื่อมโยงทางธุรกิจครอบครัวใหม่ๆ ที่น่าจะได้มีโอกาสทำร่วมกันเร็วๆ นี้"
คุณนนท์ ยังได้กล่าวปิดท้ายด้วยมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับบริการที่ปรึกษาด้านการบริหารทรัพย์สินครอบครัว ไว้ว่า “ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจครอบครัวถือเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญอย่างมากในหน่วยเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วก็ประมาณ 60-70% เลยทีเดียว เพราะธุรกิจครอบครัวเป็นธุรกิจที่ควบคุมทั้งการลงทุน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และ GDP ของประเทศ หากในอนาคต ธุรกิจครอบครัวเหล่านี้ไม่สามารถส่งผ่านธุรกิจหรือการลงทุนต่อไปได้ในช่วงเจนเนอเรชั่นต่อไป การลงทุนของประเทศก็จะถูกทำลายได้ในที่สุด บริการ Family Wealth Planning Service จึงถือเป็นอีกหนึ่งบริการสำคัญของ KBank Private Banking ที่ทีมงานทุกคนรู้สึกภูมิใจว่าเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างราบรื่นต่อไปในอนาคต
ประจำวันที่ 1 เมษายน 2563