พิษ “เงินเฟ้อ – ดอกเบี้ยสูง – เงินบาทอ่อนค่า” กระทบหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจไทยชะลอตัว
แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะปรับตัวลดลงมาเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่ราคาพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งของรัสเซีย – ยูเครนยังคงเป็นแรงกดดันที่ส่งผลให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก
จับตา FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง
ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างสหรัฐฯ กำลังเผชิญสภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายนพุ่งสูงถึง 9.1% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เป็นการตอกย้ำให้ FED ต้องขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณไว้ ซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อปัจจัยอื่น ๆ ดังนี้
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น จากความกังวลต่อการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- เพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อในทางอ้อมซ้ำ เนื่องจากสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียอ่อนค่าลง ในกรอบ 5.0 – 8.5% (ยกเว้นเงินเยนที่อ่อนค่าลง 15.2%)
- การปรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เร็ว และ แรงของ FED อาจส่งผลต่อความผันผวนของตลาดการเงินโลก
ผลพวงจากทิศทางอ่อนค่าของเงินบาท
เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED จะส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายของไทย กับ สหรัฐฯ และทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในทิศทางที่อ่อนค่าลง และ ทำให้มูลค่าเงินต่างชาติเมื่อเทียบกับเงินบาทนั้นมีค่ามากขึ้นซึ่งส่งผลกับประเทศไทยทั้งเชิงบวก และ เชิงลบ ดังนี้
1. ผลกระทบเชิงบวกจากการอ่อนค่าของเงินบาท
- ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบเชิงบวก เพราะ มูลค่าเงินต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้น และ กฎการเข้าประเทศที่ผ่อนคลายลง
- สนับสนุนภาคการส่งออก ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในปีนี้
2. ผลกระทบเชิงลบเมื่อค่าเงินบาทอ่อนค่า
- ทำให้มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสินค้าหลักในการนำเข้าของไทย คือ สินค้าประเภทเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันดิบ
- ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากการที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น และ ส่งผลต่อมายังราคาสินค้าผู้บริโภค
- กดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือน และ เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างภาระหนี้สิน และ รายได้ที่ยังไม่กลับมา
- ปัจจัยทั้งหมดจะกดดันต่อไปที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญ
จากสถานการณ์ภายในประเทศไทยที่กล่าวมา มีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. อาจเริ่มวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น ในการประชุมที่จะมีขึ้นในเดือนนี้ (สิงหาคม)
อย่างไรก็ตามเนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และ ผลกระทบของ COVID-19 ยังคงมีอยู่ทำให้การปรับดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้อาจจะไม่ใช่การปรับดอกเบี้ยทั่วไปของเงินฝาก และ กู้ยืม แต่จะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยในบางผลิตภัณฑ์ โดยขึ้นกับพอร์ตของแต่ละธนาคารมากกว่า ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักในเวลาอันใกล้
ทิศทางสหรัฐฯ ปัจจัยสำคัญกระทบเศรษฐกิจไทย
ในช่วงปีหน้า ปัจจัยเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะเริ่มเห็นสัญญาณชะลอลง และ FED หยุดการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ชะลอการแข็งค่า ในขณะที่การท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวดี ซึ่งห้องค้าธนาคารกสิกรไทยคาดการณ์ว่า
กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี 2565 และ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวน่าจะทำให้เงินบาททยอยกลับมาแข็งค่าได้
ทั้งนี้ยังมีสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย – ยูเคน ที่หากกดดันเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2566 อาจผลักดันให้ FED ขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น และ จะส่งผลต่อให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า ดังนั้นสำหรับนักลงทุนแล้วจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด