Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​

​HIGHTLIGHTS
    • เศรษฐกิจของประเทศจีนในครึ่งปีแรกนั้นมีการเติบโตเพียงแต่ 2.5% เนื่องจากมาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์
    • 3 ปัจจัยหลักกระทบเศรษฐกิจจีน คือ มาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์, หนี้เสียในภาคอสังหาฯ และ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก
    • กระทบต่อธุรกิจส่งออกของไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่ข้องกับวัตถุดิบต่าง ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น เหล็ก เป็นต้น
    • ในระยะยาว มีปัจจัยบวกจากอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำ จำนวนผู้มีรายได้ปานกลางในจีนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือ มาตรการผ่อนปรนของจีนเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีหลัง
    • ในระยะสั้น เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง และ สามารถลงทุนระยะยาว มองเป็นโอกาสสำหรับการทยอยสะสม


        จากการที่ประเทศจีนได้ปิดเมืองสำคัญอย่างเชี่ยงไฮ้ และ ปักกิ่งในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. ที่ผ่านมาเพื่อดำเนินตามมาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์ ส่งผลทำให้กิจกรรมต่าง ๆ หยุดชะงัก และ เศรษฐกิจของประเทศจีนในครึ่งปีแรกนั้นมีการเติบโตเพียงแต่ 2.5% ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายปี 2565 ของทางการที่ 5.5% 

        แม้ในปัจจุบันเมืองสำคัญต่าง ๆ เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการและเปิดเมืองใหม่อีกครั้งแล้ว แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดมีการระบุเพียงแค่จะรักษาการเติบโตให้อยู่ในช่วงสมเหตุสมผล เป็นการบ่งชี้ว่าปีนี้ประเทศจีนอาจจะพลาดเป้าหมาย GDP ที่ตั้งไว้เป็นปีแรก 



3 ปัจจัยหลักกระทบเศ​รษฐกิจจีน ความท้าทายใหญ่ของปี 2565

แม้จะมีการผ่อนคลาย และ เปิดเมืองสำคัญ ๆ ทางเศรษฐกิจบ้างแล้ว แต่ในช่วงครึ่งหลังของปี 65 เศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่เข้ามามีผลกระทบอีกหลาย ๆ ด้าน โดยจัดเป็น 3 ปัจจัยหลักประกอบด้วย



ปัจจัยที่ 1. มาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์

มาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์ของประเทศจีนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญ เพราะ เมื่อเกิดจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีโอกาสที่จะเกิดการล็อคดาวน์ หรือ การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น และ คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ประเทศจีนจะยังคงใช้มาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่าง ดัชนี PMI และ อัตราการว่างงาน ยังไม่มีทีท่าที่จะส่งสัญญาณต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเทศจีนยังไม่สามารถปรับมาตรการให้อยู่ร่วมกับ COVID-19 ได้เหมือนประเทศอื่น ๆ เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ยังมีอัตราที่ต่ำ ประกอบกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ยังมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้วัคซีนเชื้อตาย

    • ดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2565 กลับมาอยู่ในระดับหดตัวที่ 49.0
    • อัตราการว่างงาน โดยในเดือนกรกฎาคมยังอยู่ในระดับสูงที่ 5.4% และ มีปัญหาจำนวนบัณฑิตจบใหม่ปริมาณมาก ซึ่งสวนทางกับทิศทางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซา



ปัจจัยที่ 2 ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

ในช่วงปี 2563 ทางการจีนได้มีการนำนโยบาย Three Red lines (*) มาจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับการกู้ยืมเงินจำนวนมากในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีการกู้เงินจำนวนมากเริ่มประสบปัญหา และ เกิดการผิดนัดชำระหนี้ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มจากบริษัทรายใหญ่อย่าง Evergrande และยังคงเกิดขึ้นกับอีกหลาย ๆ บริษัทต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 

ซึ่งจากปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้เกิดผลที่มากระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น
    • ราคาบ้านใหม่ในประเทศจีนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนกรกฎาคม 2565 ลดลง 0.9% YoY
    • ยอดขายบ้านของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่กว่า 100 แห่งลดลง 39.7% YoY
    • การหยุดผ่อนชำระหนี้ค่าบ้านของประชาชนชาวจีน เนื่องจากบริษัทพัฒนาฯ ไม่สามารถก่อสร้างต่อ และ ส่งมอบได้เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน

        แม้จะมีการเน้นย้ำให้บริษัทพัฒนาฯ ต่าง ๆ ต้องส่งมอบบ้านให้ประชาชน โดยขอความร่วมมือจากธนาคารปล่อยกู้แก่บริษัทพัฒนาฯ ที่ผ่านการคัดเลือกจากทางภาครัฐ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไข ทำให้ในระยะข้างหน้า หากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านความเชื่อมั่นได้ ก็จะทำให้ปัญหาลุกลามไปยังภาคส่วนอื่น ๆ เพราะ ภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจจีนเลยทีเดียว (22.8% ของ GDP)

​(*) นโยบาย Three Red Line คือ นโยบายที่ใช้เพื่อประเมินการกู้ยืมของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยมีรายละเอียด 3 ส่วน คือ
1) อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์ต้องไม่เกิน 70%
2) อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินทุนต้องไม่เกิน 100%
3) อัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อการกู้ยืมระยะสั้นต้องไม่เกิน 1 เท่า



ปัจจัยที่ 3 ส​ถานการณ์เศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลัง

เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งของรัสเซีย และ ยูเครนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ 
    • ทิศทางนโยบายทางการเงินมีความคุมเข้มมากขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐฯ
    • เกิดความกังวลว่าจะเกิดภาวะ Recession หรือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 
    • IMF ได้มีการปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ลง 0.4% เหลือเพียง 3.2%
    • ภาคการส่งออกของจีนที่เป็นปัจจัยสนับสนุนหนึ่งของเศรษฐกิจจีนมีโอกาสเติบโตได้ช้าตามไปด้วย



ทิศทางเศรษฐกิจจีน และ คำแนะนำสำหรับนักลงทุน

ในภาพรวมศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าในปีนี้ เศรษฐกิจของประเทศจีนจะมีโอกาสเติบโตได้ 3.4% ด้วยการใช้นโยบายการคลัง และ การเงินเข้ามาสนับสนุน ทั้งนี้แม้ประเทศจีนจะมีเครื่องมือที่สามารถใช้เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ ถึงแม้ความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำของภาคประชาชนและธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรก ปัจจัยบวกที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังได้ ซึ่งเกิดจาก



         อัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ โดยอัตราเงินเฟ้อเจีนชะลอตัวลงในเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 2.5% จากปีก่อนหน้า ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนที่ 2.7% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ 2.8% เป็นผลจากปัญหาคลื่นความร้อนและยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นทำให้มีการล็อกดาวน์บางเมือง การที่จีนยังไม่มีปัญหาเงินเฟ้อ จึงไม่ได้อยู่ในวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยเหมือนประเทศอื่นๆ ทำให้มีความได้เปรียบในมุมของสภาพคล่อง 

        จำนวนผู้มีรายได้ปานกลางในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยอดการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้บริการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตก็ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น บริการด้านการบริหารความมั่งคั่ง  การทำประกันเมื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว โดยปัจจัยเหล่านี้ช่วยสนับสนุนธุรกิจกลุ่มการบริโภค และการเงินให้ฟื้นตัวได้ก่อน ในช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัว



        ทางการจีนส่งสัญญาณจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ถึงแม้ทางการจีนจะยังมีการใช้มาตรการ COVID-19 เป็นศูนย์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนต่อผลกระทบจากการควบคุมโควิด ส่งสัญญาณว่าจะออก 33 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม จะมีเม็ดเงินราว 3.65 ล้านล้านหยวน (547 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในประเทศจีน รวมถึงการผ่อนปรนมาตรการควบคุมธุรกิจที่เคยเข้มงวดมา ซึ่งต้องรอติดตามว่าจะมีมาตรการอย่างไรบ้าง

        โดยสรุปจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของเศรษฐกิจจีน อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจส่งออกของไทย ในระยะสั้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวัตถุดิบต่าง ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น เหล็ก อาจมีผลต่อระดับราคาจากความต้องการในจีนที่ลดลง 

        ส่วนนักลงทุนที่มีความสนใจลงทุนทั้งสินทรัพย์ถาวร และ สินทรัพย์ทางการเงิน เช่น การลงทุนในหุ้น กองทุนที่มีสินทรัพย์ในประเทศจีน เป็นต้น โดย บลจ.กสิกรไทย มีมุมมองในระยะสั้นจะยังเห็นความผันผวนในตลาดหุ้นจีนอยู่ จึงไม่แนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น แต่สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง และ สามารถลงทุนระยะยาว มองเป็นโอกาสสำหรับการทยอยสะสม เนื่องจากระดับราคาน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนการรับรู้ปัจจัยลบต่างๆไปแล้ว และ ยังราคาต่ำกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวในอดีต อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวมีความชัดเจน อาทิ พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี ผลักดันพลังงานสีเขียว ทำให้มีหุ้นจำนวนมากที่จะได้รับประโยชน์จากแผนนี้​

 


กลับ