- ราคาสินค้าทั่วโลกกำลังลดราคาลงทั้ง สินค้าโภคภัณฑ์ น้ำมัน และ สินค้าเกษตร
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อโลกในปี 2566 จะปรับตัวลดลง
- สำหรับประเทศไทยจะไม่ปรับตัวลงมาก จากปัจจัยอื่น ๆ เช่น การเก็บเงินเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันของภาครัฐ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินเฟ้อไทยปี 2566 จะอยู๋ที่ 3.0 %
|
จากปี 2565 ที่ผ่านมาเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ทำให้เกิดความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ยูเครน โดยเฉพาะน้ำมัน หรือ สินค้าเกษตรที่รัสเซีย และ ยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ สร้างแรงกดดันเงินเฟ้อให้พุ่งสูงจากเดิมที่สูงอยู่แล้วจากสถานการณ์โลกก่อนหน้า
อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากการที่ FED ปรับขึ้นดอกเบี้ยในสถานกาณณ์ที่เงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศจีนที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจาก
- ดัชนีผู้จัดการผ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน และ จีน เริ่มชะลอตัว
- ยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือน ต.ค. 2565 หดตัวที่ -2.7% YoY
- ยอดค้าปลีกของจีนเดือน พ.ย. 2565 หดตัวที่ -5.9% YoY
สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลง จากการที่อุปทานน้ำมันของรัสเซียไมได้หายไปจากตลาดโลกมากนัก เนื่องจากยุโรปไม่ได้ระงับการนำเข้าน้ำมันในทันที แต่ค่อย ๆ ลดการนำเข้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้สุดท้ายจะถึงขั้นระงับการนำเข้า และ การผ่อนคลายมาตรการโควิดในประเทศจีน จนราคาน้ำมันขยับขึ้นแต่ยังถือว่าน้อยกว่าระดับค่าเฉลี่ยของเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา
ทางด้านราคาสินค้าเกษตร แม้สินค้าแต่ละประเภทจะผันผวนไปตามปัจจัยเฉพาะเฉพาะของแต่ละสินค้า เช่น สภาพอากาศ หรือ ปริมาณผลผลิต แต่ในภาพรวมก็มีการปรับลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก โดยดัชนี Bloomberg Agriculture Index มีการปรับลดลงกว่า 15% จากจุดสูงสุดในปี 2565
2566 การลดลงของอุปสงค์โลก และ ราคาสินค้า
ในครึ่งแรกของปี 2566 สหรัฐฯ และ ยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงอาจเป็นไปได้ว่าจะไม่เติบโต หรือ หดตัวตลอดทั้งปี เนื่องจากผลกระทบของ
- เงินเฟ้อที่ทรงตัวในระดับสูงเป็นเวลานาน
- การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) และ ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
ในขณะที่ประเทศจีนแม้จะมีการผ่อนคลายนโยบายมาตรการโควิดบางส่วนตั้งแต่ธ.ค. 2565 แต่อุปสงค์ในประเทศจีนยังคงอ่อนแรงเรื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดอยู่ นอกจากนี้เศรษฐกิจของประเทศจีนมีแนวโน้มถูกกดดันจากหลาย ๆ สาเหตุ เช่น
- ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว โดยยอดขายในเดือน พ.ย. ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
- อุตสาหกรรมของจีนมียอดคำสั่งซื้อชะลอลงตามอุปสงค์โลก และ กดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ลดลง
อย่างไรก็ตามมีโอกาสที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นได้ โดยปัจจัยหลัก คือ การเกิดวิกฤติพลังงาน ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า มีความเป็นไปได้ในระดับต่ำ ถึงแม้จะมีการระงับการนำเข้าน้ำมัน , การกำหนดราคาเพดานน้ำมันรัสเซีย หรือ การที่จีนจะยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ และ เปิดประเทศเร็วกว่าที่คาด แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่าอุปสงค์จากจีนที่เพิ่มขึ้น ยังไม่มากพอจะผลักดันราคาสินค้าให้เพิ่มสูงขึ้นดังที่เคยเกิดเมื่อครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา
ดังนั้นในปี 2566 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินเฟ้อโลก และ ไทยจะทยอยปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับลดลง สำหรับเงินเฟ้อไทยคงไม่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะ ภาครัฐมีแนวโน้มที่จะเก็บเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมัน และ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
นอกจากนี้ในประเทศไทยจะยังคงเห็นการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากราคาสินค้ายังคงทรงตัวในระดับสูง หรือ กลับมาเร่งตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้ความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้ออ่อนแรงมีน้อยลงตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อไทยในปี 2566 จะอยู่ที่ราว 3.0%