“Smart Beta” การลงทุนแบบ Smart
หลายคนอาจสงสัยว่า ระหว่าง Active fund กับ Passive fund ควรเลือกลงทุนแบบไหน เพราะกองทุนทั้ง 2 ประเภท มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันในหลายด้าน
หัวข้อ
| Active fund
| Passive fund
|
ผลตอบแทนคาดหวัง
| มากกว่าดัชนีชี้วัด
| ใกล้เคียงดัชนีชี้วัด
|
กลยุทธ์การลงทุน
| คัดเลือกหลักทรัพย์ตามมุมมองของผู้จัดการกองทุน
| ลงทุนในสัดส่วนที่เลียนแบบดัชนี
|
ต้นทุนการบริหารจัดการ
| สูง
| ต่ำ
|
ค่าธรรมเนียม
| สูง
| ต่ำ
|
แต่ก็ยังมีวิธีลงทุนอีกทางเลือก ที่รวมข้อดีของกองทุนทั้ง 2 ประเภทไว้ เรียกว่า “Smart Beta”
การลงทุนแบบ Smart Beta
คือ การลงทุนอย่างเป็นระบบที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนเชิงรับทั่ว ๆ ไป ช่วยลดต้นทุน และ ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน รวมกับข้อดีของการลงทุนเชิงรุกในแง่การมุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนีชี้วัดที่คำนวณโดยใช้มูลค่าตลาด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ดังนี้
1. Fundamental Smart Beta หรือ การนำปัจจัยพื้นฐานมาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดน้ำหนัก และ คัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน โดยปัจจัยพื้นฐานอาจเป็นปัจจัยในระดับมหภาค เช่น อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ยอดดุลงบประมาณ หรือ อาจเป็นปัจจัยในระดับจุลภาค เช่น เงินปันผล, กระแสเงินสด หรือ ยอดขายสินค้า
2. Risk-based Smart Beta หรือ การนำปัจจัยด้านความเสี่ยง (Risk) มาใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดน้ำหนัก และ คัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุน เพื่อสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีความเสี่ยงโดยรวมต่ำที่สุด และ มีผลตอบแทนที่สม่ำเสมอกว่าการลงทุนแบบทั่ว ๆ ไป
ตัวอย่างกลยุทธ์ของ Smart Beta ที่เรียกว่า Minimum Volatility หรือ กลยุทธ์ความผันผวนต่ำที่สุด ซึ่ง Minimum Volatility ใช้หลักการบริหาร คือ การเลือกหุ้น และ กำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสมที่จะทำให้พอร์ตการลงทุนมีความผันผวนของผลตอบแทน (Standard Deviation) ต่ำที่สุด ซึ่งช่วยให้เวลาที่ตลาดหุ้นผันผวน กลยุทธ์แบบ Minimum Volatility มักจะปรับลงน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ
