30/11/2560

ภาษีดิจิทัล เรื่องที่ SME ต้องรู้

​       ผู้ประกอบการเอสเอ็มอียุค 4.0 คงได้รู้จักการรับและโอนเงินผ่านพร้อมเพย์กันมาบ้างแล้ว หลายคนคงเคยได้ยินโครงการขยายการรับชำระเงินด้วยเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) มาแล้วเช่นกัน ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนเป็นนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยลดการใช้เงินสดลง และล่าสุดกรมสรรพากรได้ออกมาตรการเพื่อเริ่มโครงการการจัดทำและนำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e–Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ซึ่งผู้ประกอบการต้องส่งข้อมูลเหล่านี้ให้กรมสรรพากร และต้องออก e-Tax Invoice และ e-Receipt ให้แก่ผู้ซื้อด้วย โดยการใช้ e-Tax Invoice และ e-Receipt นั้นจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสะดวกคล่องตัวขึ้น โดยมีการลดขั้นตอนในการจัดทำใบกำกับภาษี การนำส่งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงิน และการนำส่งภาษีเมื่อมีการชำระเงินผ่านระบบ e-Payment ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการจัดทำและนำส่ง ดังนี้

1. ผู้ประกอบการต้องมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Certificate) คือ ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่จะยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) กับข้อมูลสำหรับใช้สร้างลายมือชื่อดิจิทัล ซึ่งเปรียบเสมือนบัตรประจำตัวประชาชนที่ใช้ในการระบุตัวตนของผู้ประกอบการ โดยใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์นี้จะต้องออกโดยผู้ให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority) ที่ได้มาตรฐานของกรมสรรพากร ซึ่งปัจจุบันมีเพียงรายเดียวคือ บริษัท ไทยดิจิทัล ไอดี จำกัด

2. ยื่นคำขออนุญาตจากกรมสรรพากร เมื่อผู้ประกอบการมีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือ ต้องดำเนินการยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร ตามแบบคำขอ บ.อ.01 ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร http://etax.rd.go.th

3. จัดทำ e-Tax Invoice และ e-Receipt ผู้ประกอบการต้องจัดทำข้อมูล e-Tax Invoice และ e-Receipt ที่มีสาระสำคัญของใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ และใบรับ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถเลือกจัดทำเป็น 3 รูปแบบคือ 1) รูปแบบ XML File 2) รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เช่น PDF, Word, Excel เป็นต้น หรือ 3) จัดทำข้อมูลผ่านระบบ RD Portal ของกรมสรรพากร ซึ่งทั้ง 3 รูปแบบนี้ผู้ประกอบการต้องลงลายมือชื่อดิจิทัลด้วย

4. นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรทุกเดือน ผู้ประกอบการต้องส่งข้อมูล e-Tax Invoice และ e-Receipt ให้แก่กรมสรรพากรเป็นรายเดือนภาษีภายในวันที่ 15 ของเดือนภาษีถัดไป โดยต้องส่งผ่านระบบการนำส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้แก่ การนำส่งข้อมูลแบบ Host to Host การนำส่งข้อมูลโดย Service Provider และนำส่งข้อมูลผ่านเว็บไซต์ด้วยวิธีการ Upload XML แต่สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่มีความพร้อมในการนำส่งข้อมูล e-Tax Invoice และ e-Receipt ผ่านระบบดังกล่าวนั้นสามารถใช้ระบบจัดทำ e-Tax Invoice และ e-Receipt ผ่านเว็บไซต์กรม​สรรพากรด้วยระบบ RD Portal เนื่องจากระบบดังกล่าวจะนำส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากรทันทีที่ทำรายการเสร็จสมบูรณ์

5. ต้องเก็บรักษา e-Tax Invoice และ e-Receipt เมื่อผู้ประกอบการออกหรือได้รับ e-Tax Invoice และ e-Receipt ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเก็บรักษา e-Tax Invoice และ e-Receipt นั้นไว้ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบกรมสรรพากรด้วย

       ถึงแม้ปัจจุบันระเบียบของกรมสรรพากรฉบับนี้จะยังไม่มีผลบังคับให้ผู้ประกอบทุกรายต้องออก e-Tax Invoice และ e-Receipt ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แต่เร็วๆ นี้จะมีการออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับ​ผู้ประกอบการทุกรายแน่นอน ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรเตรียมปรับตัวให้ทัน เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย แล้วยังช่วยให้การดำเนินงานคล่องตัว มีภาพลักษณ์องค์กรทันสมัยสมกับเป็น SME 4.0


สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต​