ประกัน
ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคุณแม่มือใหม่
เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังตั้งท้อง หรือกำลังจะเป็นคุณแม่ ความรู้สึกเกิดขึ้นมากมายหลากหลายรสชาติ เริ่มจากดีใจ มีความสุข ตื่นเต้นที่มีอีกหนึ่งชีวิตอยู่ในท้องเรา และตามมาด้วยความรู้สึกงงๆ นี่เรากำลังจะเป็นแม่คนแล้วเหรอเนี่ย เริ่มเครียด วิตกกังวลว่าเราจะต้องทำตัวยังไง จะดูแลลูกได้ไหม ตามมาด้วยความรู้สึกกดดัน เศร้า เหงา และคุณแม่บางรายอาจหดหู่จนเป็นภาวะซึมเศร้าได้ นอกจากนี้ คุณแม่มือใหม่ต้องเตรียมตัววางแผนจัดการเรื่องต่างๆ อีกมากมายเพื่อรองรับการเกิดมาของลูกน้อย แล้วจะต้องเตรียมตัวเรื่องอะไรบ้าง K-Expert มีคำแนะนำมาฝากคุณแม่มือใหม่ดังนี้
การเตรียมตัวทางร่างกาย
การตั้งครรภ์ช่วงแรกๆ สรีระร่างกายยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่หลายคนจะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงและเริ่มดราม่าตอนที่มีอาการแพ้ท้องซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ คือจะมีอาการเวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย เหม็นกลิ่นอาหาร ทำให้กินอะไรไม่ค่อยได้ นอนก็ไม่ค่อยหลับ เป็นความรู้สึกที่ทุกข์ทรมานพอสมควร ช่วงนี้คุณแม่ส่วนใหญ่อาจต้องการการดูแลและใส่ใจเป็นพิเศษ ซึ่งการเตรียมร่างกายของคุณแม่มือใหม่เพื่อดูแลตัวเองนั้นได้แก่
• ปรับพฤติกรรมการกินใหม่ โดยเลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด พยายามงดดื่มชา กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งจะส่งผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์
• ปรับเปลี่ยนการแต่งกายใหม่ โดยเลือกใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่รัดหน้าท้อง เตรียมซื้อชุดคลุมท้องเพื่อรองรับหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ คุณแม่บางรายที่รักสวยรักงามอาจต้องเตรียมครีมบำรุงผิวหน้าท้องเพื่อป้องกันหน้าท้องลาย และใส่รองเท้าไม่มีส้น เพื่อความปลอดภัยของลูก
• ปรับเปลี่ยนเวลานอนและการพักผ่อน จากที่ชอบนอนดึกๆ ก็ต้องนอนเร็วขึ้น และพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง เช่น เดินช้าๆ ไม่ยกของหนัก หรือไม่เอื้อมมือไปหยิบของที่อยู่สูง
การเตรียมตัวทางจิตใจ
สำหรับด้านจิตใจนั้น คุณแม่มือใหม่ต้องเตรียมตัวรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกแปรปรวนต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามามากมาย มากยิ่งกว่าช่วงที่มีประจำเดือนหลายเท่าตัว เนื่องจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอย่างควบคุมไม่ได้ และการที่ทุกคนจะคอยถามคุณแม่แต่เรื่องท้อง จนดูเหมือนว่าเราถูกครอบงำไปด้วยเรื่องท้องตลอด ทำให้คำพูดของคนอื่นเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจทำให้คุณแม่รู้สึกฉุนเฉียว บางคนอาจเริ่มแสดงจิตใจออกในด้านลบได้ ดังนั้นคุณแม่ควรรู้วิธีเตรียมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้ ซึ่งการเตรียมตัวด้านจิตใจนั้นได้แก่
• รับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของคุณแม่มือใหม่ เช่น หงุดหงิด โกรธง่าย โมโหง่าย และอารมณ์จะรุนแรงกว่าปกติ หรือบางครั้งอยู่ดีๆ ก็อยากร้องไห้ขึ้นมาโดยไม่มีสาเหตุ และอ่อนไหวง่ายมาก ควรหาอะไรทำเพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น เช่น ไปสปา ดูหนังฟังเพลง หรือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เรากลับมารู้สึกดีเหมือนเดิม
• รับให้ได้กับรูปร่าง หน้าตาที่เปลี่ยนไป เช่น อ้วนขึ้น หน้าไม่สวย มีสิว ต้นคอ ข้อพับ หรือรักแร้ดำ ท้องลาย ผมร่วง เท้าบวม ซึ่งส่งผลต่อจิตใจของคุณแม่ ทำให้ไม่อยากออกจากบ้านไปเจอใคร ควรคิดให้กำลังใจตัวเองว่าเดี๋ยวเราคลอดลูกเสร็จก็กลับมาดูแลตัวเองให้สวยเหมือนเดิมได้
• รับมือกับความเครียด ความกลัว และความวิตกกังวลต่างๆ เมื่อใกล้คลอด และภาวะซึมเศร้าหลังคลอด แน่นอนว่าคุณแม่มือใหม่ยังไม่เคยมีประสบการณ์คลอดลูกหรือเลี้ยงลูกมาก่อนก็ย่อมกลัวหรือกังวลเป็นธรรมดา บางคนไม่เคยนอนโรงพยาบาล หรือไม่เคยผ่าตัดมาก่อนก็ยิ่งกลัวไปกันใหญ่ ดังนั้นควรทำใจให้สบาย ท่องไว้ “เพื่อลูกๆ” แล้วคุณแม่จะผ่านไปได้
การเตรียมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ
ในส่วนของการเตรียมเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเลี้ยงดูลูกนั้น มีคำโบราณบอกไว้ว่า “มีลูกหนึ่งคน จนไปเจ็ดปี” เดี๋ยวลองมาดูกันว่าคำกล่าวนี้เป็นจริงหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่คุณแม่มือใหม่จะต้องเตรียมนั้น ได้แก่
• ค่าฝากครรภ์และตรวจครรภ์ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่การฝากครรภ์ที่ต้องไปพบคุณหมอทันทีเมื่อรู้ตัวว่าท้อง และคุณหมอจะนัดมาตรวจครรภ์เฉลี่ยประมาณเดือนละครั้ง ซึ่งค่าใช้จ่ายแต่ละครั้งตั้งแต่หลักพันบาทเป็นต้นไป ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาล แต่หากครั้งไหนเป็นการอัลตร้าซาวด์ ค่าใช้จ่ายก็จะสูงขึ้นมาหน่อย ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ป็นเพียงค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเท่านั้น
• ค่าคลอด ค่าใช้จ่ายในการคลอดลูกขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลและวิธีการคลอด ไม่ว่าจะคลอดแบบธรรมชาติหรือ ผ่าคลอด ทางโรงพยาบาลจะมีราคาแพ็คเกจอยู่ ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้อยู่ที่หลักหมื่นบาทขึ้นไป สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนที่ทำงานประจำ มีประกันสังคม ลองเช็กสิทธิประกันสังคมในส่วนของสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ซึ่งจะเหมาจ่ายให้ 13,000 บาทต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง และค่าฝากครรภ์รวมสูงสุด 1,000 บาท รวมถึงเช็กประกันสุขภาพ และสวัสดิการบริษัทที่มีด้วยว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้หรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายลงได้
• ค่าของใช้ลูก ของใช้ลูกที่ต้องเตรียมไว้มีมากมาย เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป อุปกรณ์อาบน้ำ ขวดนม รวมถึงของเล่นต่างๆ เพื่อเสริมพัฒนาการ ซึ่งราคาของใช้เหล่านี้ค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับแบรนด์หรือคุณภาพของสินค้านั้นๆ ควรเลือกให้เหมาะสมกับความพร้อมของคุณแม่แต่ละคน และถ้าจะให้ดีแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ ตกลงงบประมาณส่วนนี้ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นอาจบานปลาย แนะนำว่าไม่ควรซื้อตุนเกินไป เพราะเด็กโตไว
• ค่าหาหมอและฉีดวัคซีนป้องกันโรค เนื่องจากเด็กเล็กเป็นวัยที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน มีโอกาสเจ็บป่วยง่าย และค่าใช้จ่ายในการรักษาก็ค่อนข้างสูง หากสวัสดิการบริษัทที่มีอยู่ไม่สามารถเบิกค่ารักษาลูกได้หรือเบิกได้ไม่เพียงพอ แนะนำให้ทำ “
ประกันสุขภาพเด็ก” ไว้เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
• ค่าเทอม คุณแม่มือใหม่ควรเริ่มออมเงินไว้เป็นค่าเล่าเรียนลูกตั้งแต่เนิ่นๆ โดยรูปแบบการออมเงินที่เหมาะสมมีหลายแบบด้วยกัน จะเลือกแบบไหนขึ้นอยู่กับสไตล์การออมเงิน ระดับความเสี่ยงที่รับได้ และระยะเวลาในการออมเงิน เช่น
-
บัญชีเงินฝาก K-eSavings ได้รับดอกเบี้ยสูงถึง 1.50% ต่อปี วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท วงเงินส่วนที่เกิน 100,000 บาทขึ้นไป จะได้รับดอกเบี้ย 0.50% ต่อปี (อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก วันที่ 11 กรกฎาคม 2563)
-
บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ 24 เดือน ได้รับดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.25% ต่อปี (อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก วันที่ 11 กรกฎาคม 2563) ช่วยสร้างวินัยในการออมเงินอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน ดอกเบี้ยไม่เสียภาษี
- กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป
การเป็น “คุณแม่” ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอดทน ทุ่มเท เสียสละ และผ่านอารมณ์ความรู้สึกเจ็บปวด มีทั้งสุขปนทุกข์มากมาย แต่ทุกคนสามารถเป็นคุณแม่ที่ดี และเลี้ยงลูกให้เติบโตมาเป็นคนดีได้ หากมีการเตรียมตัววางแผนล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดี ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และเตรียมเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่ออนาคตที่ดีของลูกรัก K-Expert เป็นกำลังใจให้คุณแม่มือใหม่ทุกคน
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง:
บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์
| บัญชีเงินฝาก K-eSavings
|
ประกันภัยวัยซน
| กองทุนรวม
|