07 ส.ค. 61

จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว ทำไงได้บ้าง

คะแนนเฉลี่ย

ประกัน

​​จ่ายค่าเบี้ยประกันไม่ไหว ทำไงได้บ้าง 


          สำหรับผู้เอาประกันที่มีความจำเป็นต้องหยุดจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตก่อนกำหนด ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง จึงมักจะเวนคืนเงินสด หรือไม่ก็ปล่อยให้ค่าเบี้ยประกันค้างจ่ายไปเรื่อยๆ  ซึ่งหากเวนคืนเงินสด ก็จะได้รับเงินคืนบางส่วนและความคุ้มครองก็สิ้นสุดลงทันที แต่หากปล่อยค่าเบี้ยค้างจ่ายไปเรื่อยๆ บริษัทประกันก็จะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันยังได้รับความคุ้มครองและผลประโยชน์ที่ได้จากกรมธรรม์เหมือนเดิมไปเรื่อยๆ จนกว่ายอดค่าเบี้ยประกันค้างจ่ายรวมดอกเบี้ยทั้งหมดจะเท่ากับมูลค่าเวนคืนเงินสดที่ระบุในกรมธรรม์ เมื่อนั้นกรมธรรม์ก็จะถูกยกเลิก ความคุ้มครองก็จะสิ้นสุดลงเช่นกัน


          ดังนั้น หากผู้เอาประกันที่ต้องการหยุดจ่ายเบี้ยประกัน ในแต่ละกรมธรรม์จะมีตารางมูลค่ากรมธรรม์กำหนดไว้ 3 ทางเลือก ซึ่งแต่ละทางเลือกเหมาะกับผู้เอาประกันที่มีความต้องการไม่เหมือนกัน K-Expert จึงขออธิบายแต่ละทางเลือก โดยอ้างอิงมูลค่าในตารางด้านล่างเป็นตัวอย่างในการคำนวณนะคะ



แบบประกันและตัวเลขสมมติ 
ตารางมูลค่ากรมธรรม์ประกันภัย ต่อ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท 
กรมธรรม์ประกันภัยแบบตลอดชีพ ชำระเบี้ยประกันภัย 19 ปี (มีเงินคืนทุก 5 ปี ปีละ 1% ของจำนวนเงินเอาประกัน) 


หมายเหตุ : ชื่อแบบประกันและตารางมูลค่ากรมธรรม์ที่แสดงข้างต้น เป็นตัวอย่างที่สมมติขึ้น เพื่อประโยชน์ในการทำความเข้าใจเท่านั้น

[เครื่องมือคำนวณ] K-Expert Insurance Solution : คลิกที่นี่ 

ทางเลือกที่ 1 เวนคืนกรมธรรม์


          เหมาะสำหรับ ผู้เอาประกันที่จำเป็นต้องการใช้เงินและไม่ต้องการความคุ้มครองจากกรมธรรม์นี้แล้ว จึงเลือกรับเงินคืนจำนวนหนึ่งตามมูลค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุ   ในตารางกรมธรรม์ 


          วิธีการคำนวณ จะได้รับเงินคืน เท่ากับ เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย คูณ จำนวนเงินเอาประกันตามที่ระบุในหน้าแรกของกรมธรรม์หารด้วย 1,000


          ตัวอย่าง หากผู้เอาประกันทำประกันชีวิตที่จำนวนเงินเอาประกัน 1,000,000 บาท จ่ายเบี้ยมาแล้ว 10 ปี ต้องการเวนคืนกรมธรรม์ในสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10 จะได้รับเงินคืน เท่ากับ  69,000 บาท จากตาราง  *1  ( 69 x 1,000,000 / 1,000 ) เมื่อผู้เอาประกันได้รับเงินคืน ความคุ้มครองก็จะสิ้นสุดทันที

ทางเลือกที่ 2 กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ

          เหมาะสำหรับ ผู้เอาประกันที่ต้องการความคุ้มครองในระยะเวลาเดิมและได้ประโยชน์ต่างๆ เหมือนกรมธรรม์เดิม ภายใต้จำนวนเงินเอาประกันใหม่ที่ลดลง เช่น มีเงินคืนอัตราเดิม กรณีเสียชีวิตก็ได้ความคุ้มครองเท่าเดิม เพียงแต่ประโยชน์ทุกอย่างจะคำนวณจากจำนวนเงินเอาประกันใหม่ที่ลดลง

          วิธีการคำนวณ จำนวนเงินเอาประกันใหม่ลดลง เท่ากับ มูลค่าใช้เงินสำเร็จ คูณ จำนวนเงินเอาประกันตามที่ระบุในหน้าแรกของกรมธรรม์หารด้วย 1,000


          ตัวอย่าง หากผู้เอาประกันทำประกันชีวิตที่จำนวนเงินเอาประกัน 1,000,000 บาท มีเงินคืนทุก 5 ปี ปีละ 1% ของจำนวนเงินเอาประกัน และได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 100% ของจำนวนเงินเอาประกันตลอดสัญญา


          หากจ่ายเบี้ยประกันมาแล้ว 10 ปี ต้องการเปลี่ยนกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จในสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10 จากตาราง  *2  จะไม่ได้รับเงินคืนทันที จำนวนเงินเอาประกันใหม่จะลดลงเท่ากับ 569,000 บาท ( 569 x 1,000,000 / 1,000 ) จนถึงอายุ 99 ปีเหมือนเดิม ได้รับเงินคืนทุก 5 ปี ปีละ 1% ของจำนวนเงินเอาประกันใหม่ เท่ากับ 5,690 บาท (569,000 x 1%) นอกจากนี้ เงื่อนไขความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 100% ของจำนวนเงินเอาประกันใหม่ เท่ากับ 569,000 บาท ตลอดสัญญา

ทางเลือกที่ 3 การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา

          เหมาะสำหรับ ผู้เอาประกันต้องการจำนวนเงินเอาประกันเดิม แต่ยอมรับได้กับระยะเวลาคุ้มครองที่ลดลง ซึ่งอาจจะมีเงินคืนทันทีและมีเงินคืนเมื่อครบกำหนด ขึ้นอยู่กับตารางที่ระบุในกรมธรรม์

          วิธีการคำนวณ จะได้จำนวนเงินเอาประกันเดิมต่อไปอีก เป็นจำนวนปีและจำนวนวัน ตามระยะเวลาที่ขยายในตาราง  *3  หากมีเงินจ่ายคืนทันที หรือ เงินครบกำหนด นำมูลค่าในตาราง คูณ จำนวนเงินเอาประกันตามที่ระบุในหน้าแรกของกรมธรรม์ หารด้วย 1,000

          ตัวอย่าง หากผู้เอาประกันทำประกันชีวิตที่จำนวนเงินเอาประกัน 1,000,000 บาท จ่ายเบี้ยมาแล้ว 10 ปี ต้องการเปลี่ยนกรมธรรม์เป็นแบบขยายระยะเวลา ในสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10 จะได้จำนวนเงินเอาประกันเท่าเดิม 1,000,000 บาท ส่วนเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต ไม่ว่าเดิมจะมีเงื่อนไขอย่างไร หากเปลี่ยนเป็นแบบขยายระยะเวลา ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจะเท่ากับจำนวนเงินเอาประกันใหม่ทันที นับจากสิ้นปีกรมธรรม์ที่ 10 ต่อไปอีก 20 ปี 200 วัน และได้รับเงินคืนทันทีเท่ากับ 5,000 บาท (5 x 1,000,000 / 1,000 ) และเมื่อครบกำหนดในอีก 20 ปี 200 วัน ก็จะได้รับเงินคืนอีกเท่ากับ 100,000 บาท (100 x 1,000,000 / 1,000) 

          ดังนั้น เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะหยุดจ่ายเบี้ยประกันควรเลือกทางเลือกที่ตรงกับความต้องการ โดยคำนวณมูลค่าจากตารางในกรมธรรม์ของตัวเอง เนื่องจากมูลค่าที่ระบุในตารางของแต่ละกรมธรรม์ไม่เหมือนกัน นอกจากนี้มูลค่าในตารางเป็น มูลค่า ณ สิ้นปีกรมธรรม์ หากช่วงเวลาที่กำลังตัดสินใจเลือกไม่ใช่วันครบรอบสิ้นปีกรมธรรม์ แนะนำให้เลือกมูลค่าของสิ้นปีกรมธรรม์ที่ใกล้เคียงคำนวณเบื้องต้นประกอบการตัดสินใจ หรือสอบถามบริษัทประกันก่อนตัดสินใจเลือกนะคะ

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

Workshop: 
- รู้ทันประกัน คุ้มครองคนที่รักอย่างถูกวิธี 
- วิธีเลือกประกันสุขภาพที่เหมาะกับคุณ 
- ทบทวนกรมธรรม์ เพื่อให้ไม่พลาดทุกสิทธิ์ที่มี 





ให้คะแนนบทความ

นันท์นภัส จันทเสรีนนท์

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย