25 ธ.ค. 62

3 ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันชีวิต (ฉบับแรก)

คะแนนเฉลี่ย

ประกัน

​​​​​​​​3 ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันชีวิต (ฉบับแรก)​​

          ก่อนฉลองเทศกาลปีใหม่วันหยุดยาว หลายๆคนคงต้องจัดการเรื่องเงินๆเรื่องทองๆ ลดหย่อนภาษีกันให้เรียบร้อยก่อนเดินทางท่องเที่ยว ยังจำกันได้ไหมครับว่าเราเลือกวิธีการลดหย่อนภาษีครั้งแรกด้วยวิธีการใดบ้าง ผมชวนย้อนอดีตนั่งไทม์แมชชีนไปกับโดราเอมอนกันนิดนึงครับ ทางเลือกต้นๆสำหรับลดหย่อนภาษีคงเป็นกองทุน LTF กองทุน RMF และประกันชีวิตที่เป็นการสร้างหลักประกันเพื่ออนาคตให้กับตัวเอง แล้วคนที่เลือกประกันชีวิต เคยตั้งคำถามในการซื้อมั้ยครับว่า หากเราต้องการซื้อหรือทำประกันชีวิตฉบับแรกมีเรื่องอะไรที่ต้องรู้ นอกจากเรื่องการลดหย่อนภาษีบ้าง​​


​​​​​​3 ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันชีวิต (ฉบับแรก)​

​​          1. ซื้อประกันฉบับแรกดูอะไรบ้าง?
          2. ประกันชีวิตที่เน้นออมทรัพย์ เป็นการลงทุนที่ดีหรือไม่
          3. มีประกันแบบอื่นๆที่น่าสนใจหรือไม่

ซื้อประกันฉบับแรกดูอะไรบ้าง

          ผู้เริ่มต้นทำงานที่มีเงินได้เป็นของตนเอง เริ่มจะมองหาประกันชีวิตที่เป็นเงินก้อนให้กับตัวเอง เพื่ออนาคต หลายๆคนมีข้อสงสัยว่าหากต้องทำประกันชีวิตสักฉบับมีเรื่องอะไรที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมบ้าง วันนี้ผมจะมาคลายข้อสงสัยให้กับผู้ที่กำลังจะตัดสินใจลดหย่อนภาษีช่วงสิ้นปี กับ “3 ข้อควรรู้ก่อนซื้อประกันชีวิต” กันครับ

     1. วัตถุประสงค์การทำประกันชีวิตคืออะไร 

          หากต้องการทำประกันเพื่อตัวเอง เก็บเงินก้อนเพื่อใช้ในอนาคต ทำเพื่อสร้างวินัยในการออมเงิน แนะนำให้เลือกประกันประเภทสะสมทรัพย์ ซึ่งจะมีส่วนของความคุ้มครองชีวิตน้อย ค่าเบี้ยที่จ่ายจะเน้นเงินมาลงทุนเพิ่มผลตอบแทน เหมาะกับผู้ที่ต้องการเก็บเงินเพื่ออนาคตและไม่ชอบความเสี่ยงจากการลงทุน เน้นเงินต้นอยู่ครบ ชอบแบบการันตีผลตอบแทน ประกันแบบนี้เน้นเรื่องการออม มีส่วนของประกันชีวิตน้อย เมื่อเสียชีวิตจะได้รับเงินส่วนที่สะสมบวกความคุ้มครองอีกเล็กน้อย


     ​2. ความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกัน 

​          ประกันชีวิตโดยส่วนใหญ่จะมีการจ่ายเบี้ยระยะยาวและจ่ายมากกว่า 1 ครั้ง ดังนั้น การตัดสินใจเลือกแบบประกันต้องมั่นใจว่ามีความสามารถในการจ่ายเบี้ยครบได้ตามที่กำหนดไว้ เช่น แบบประกันเพื่อสะสมทรัพย์ 615 จ่ายเบี้ย 6 ครั้ง คุ้มครอง 15 ปีเป็นต้น ในช่วง 6 ปีที่จ่ายเบี้ยต้องมีกระแสเงินสดที่จะจ่ายเบี้ยได้ทุกปี หากจ่ายเบี้ยไม่ครบตามสัญญา ผิดนัดชำระเบี้ยงวดใดงวดหนึ่ง จะส่งผลเสียต่อเจ้าของกรมธรรม์ เรียกว่า ผิดสัญญา ส่งผลให้ไม่ได้รับเงินคืนตามที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันชีวิต
 

     3. ต้องการความคุ้มครองสุขภาพเพิ่มเติมหรือไม่ 

          คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแล้วจะได้ความคุ้มครองสุขภาพให้ด้วย ซึ่งประกันสุขภาพเป็นสัญญาส่วนเพิ่มจะซื้อหรือไม่ซื้อก็ได้ (จ่ายเบี้ยทิ้ง) ควรพิจารณาสวัสดิการต่างๆ เรื่องค่ารักษาพยาบาลที่มีว่าเพียงพอหรือไม่ หากเป็นพนักงานบริษัทเอกชน จะมีประกันสังคม ประกันกลุ่มของบริษัท หากเพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม สำหรับเจ้าของธุรกิจ อาชีพอิสระที่ยังไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล อาจพิจารณาเพิ่มเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาพยาบาล โรคร้ายแรงต่างๆ (เพิ่มเติม) 


ประกันชีวิตที่เน้นออมทรัพย์ เป็นการลงทุ​นที่ดีหรือไม่

          จุดประสงค์หลักของประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ก็คือ “การการันตีเงินสำหรับอนาคต” คุ้มครองความเสี่ยงเรื่องความไม่แน่นอนของการที่จะไม่มีเงิน หรือมีเงินก้อนสำหรับเป้าหมายในอนาคตไม่เพียงพอ  ยกตัวอย่างเช่น ต้องการออมเงิน เก็บเงินเพื่อเกษียณหรือเพื่อให้ลูกเรียนและจะใช้เงินในอีก 15 ปีข้างหน้า การเลือกทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่มีอายุกรมธรรม์ 15 ปีก็จะช่วยให้สามารถเก็บออมได้ เมื่อครบ 15 ปี เราก็จะมีเงินก้อน เพื่อให้ตนเองยามเกษียณหรือให้ลูกเรียนได้ เมื่อครบกำหนดได้รับเงินต้นคืนบวกผลตอบแทนนิดหน่อย แต่หากเสียชีวิตก็ได้รับความคุ้มครองเท่าทุนประกันชีวิตเพื่​อให้คู่สมรส พ่อ แม่หรือเพื่อการศึกษาลูก เป็นต้น

          ผลตอบแทนจากการลงทุนที่คาดหวังของแต่ละคนไม่เท่ากัน ​ผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง เคยลงทุนหุ้น กองทุนหุ้นแล้วได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 8-10% ต่อปี ประกันแบบสะสมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน 2% ต่อปี ก็อาจไม่ใช่การลงทุนที่ผู้รับความเสี่ยงสูงคาดหวัง แต่ถ้าถามคำถามนี้กับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ไม่ต้องการให้เงินต้นสูญหาย กลุ่มนี้ก็อาจมองว่าการลงทุนในประกันสะสมทรัพย์เป็นการลงทุนที่ดี


มีประกันแบบอื่นๆที่น่าสนใจหรือไม่

​          ความรักความห่วงใยที่มีต่อคนที่เรารักมีหลากหลายรูปแบบ คุณเคยลองตั้งคำถามตัวเองเล่นๆหรือไม่ หากเราไม่อยู่ 3 วัน กลับมาบ้านมาสิ่งที่ทำอย่างแรกคืออะไร ใครที่เคยมีลูกเล็กๆคงเข้าใจอารมณ์นี้ดี คงอยากโผเข้าไปกอดเจ้าตัวน้อย หรือเข้าไปกอดภรรยาที่รัก หรือหากคุณต้องไปทำงานต่างประเทศไม่อยู่ 3 เดือน มีใครบ้างมั้ยที่เราต้องคอยเป็นห่วง คนโสดอาจนึกถึงคุณพ่อ คุณแม่ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะ 3 วันหรือ 3 เดือนที่ไปทำงาน ระหว่างนี้เรายังสามารถส่งรอยยิ้มพูดคุยกับคนที่รักผ่านโทรศัพท์มือถือได้ แต่อาจจะสัมผัสด้วยการกอดคนที่รักไม่ได้ แล้วถ้าคุณต้องไปทำงาน 3 ปีหรือต้องจากคนที่รักตลอดไป คุณคิดว่ามีห่วงเรื่องอะไรบ้าง 

          ห่วงใยคนที่เราต้องดูแล กรณีเป็นเสาหลักของบ้านและมีผู้อยู่ในอุปการะของคุณ เช่น ภรรยา พ่อ แม่ ลูก คุณอาจเลือกทำประกันสุขภาพให้พวกเขาเพื่อช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพกรณีเจ็บป่วย หรือถ้าต้องการประกันชีวิตแบบที่จ่ายค่าเบี้ยน้อย ได้รับความคุ้มครองชีวิตที่สูง เป็นมรดกให้กับคนข้างหลัง ควรเลือกสร้างหลักประกันให้ครอบครัวด้วยประกันแบบตลอดชีพ ประกันแบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปกป้องครอบครัว (คนทำไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ทำ)

          ห่วงคนข้างหลังเดือดร้อน หากมีภาระหนี้บ้านหรือหนี้ธุรกิจแนะนำประกันแบบชั่วระยะเวลา หากเราไม่อยู่ตลอดไปคนข้างหลังก็จะไม่เดือดร้อนจากหนี้บ้านหรือธุรกิจที่เราสร้างไว้ 

          ห่วงตัวเอง นอกจาก ประกันสะสมทรัพย์ ยังมีประกันสุขภาพ ประกันแบบบำนาญ เพื่อเป็นเงินใช้หลังเกษียณ

          ห่วงใยคนที่ต้องดูแล แล้วควรต้องทำประกันทุนประกันชีวิตเท่าไร K-Expert แนะนำให้ควรมีทุนประกันอย่างน้อย 3 เท่าของรายได้ต่อปี เพื่อให้คนข้างหลังมีเวลาปรับตัว บวกเพิ่มภาระหนี้ที่มีทั้งหมดเพื่อให้ภาระหนี้ไม่ตกอยู่กับคนข้างหลัง โดยทุนประกันชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องทำให้ครอบคลุมตั้งแต่ครั้งแรก คุณสามารถทะยอยทำเพิ่มทุกครั้งที่มีรายได้เพิ่ม มีการเปลี่ยนงาน หรืออาจทบทวนทุนประกันชีวิต ประกันสุขภาพที่มีว่าเพียงพอหรือไม่อย่างน้อยปีละครั้งครับ 

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง:​
 
​​ประกันสุขภาพเฮลท์ โพรเทคชัน​​

   ​


ให้คะแนนบทความ

คนอง ศรีพิบูลพานิชย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย