16 มี.ค. 63

แชร์ประสบการณ์ ”โจรย่องเบาขโมยการมองเห็น”

คะแนนเฉลี่ย

ประกัน

​​แชร์ประสบการณ์ ”โจรย่องเบาขโมยการมองเห็น”


          ในงานเลี้ยงรุ่นสังสรรค์กับเพื่อนๆ แก๊งค์เก่าๆสมัยเรียนมหาวิทยาลัยในช่วงเย็นวันเสาร์ในเดือนแห่งความรัก เริ่มมีเสียงแซวกันเล็กๆตอนหยิบเมนูอาหารมาดูกัน ใช่ครับ เรื่องของสายตาวัยกลางคนที่อายุเริ่มก้าวผ่านหลักสี่สแควร์มุ่งหน้าห้าแยกปากเกร็ด คนส่วนใหญ่เริ่มที่จะมีสายตากว้างไกล (สายตายาว) มองไม่เห็นเมนูอาหาร ต้องเริ่มยื่นเมนูออกไปให้ไกลตัวเพื่อการมองเห็นตัวหนังสือที่ชัดเจนมากขึ้น  ซึ่งสายตายาวเป็นเรื่องปกติที่แสดงอาการออกอย่างเห็นได้ชัด ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด เพียงแค่ตัดแว่นสายตายาวหรือใส่เลนส์โปรเกรสซีฟก็สามารถกลับมามองเห็นได้ชัดแจ๋ว​



”โจรย่องเบาขโมยการมองเห็น” น่ากลัวกว่าสายตายาว


          เพื่อนในกลุ่มคนนึงพูดระบายความในใจ สิ่งที่น่ากลัวกว่าสายตายาว คือ ภาวะตาบอดที่รักษาไม่ได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เรียกได้ว่าเป็น “โจรย่องเบาขโมยการมองเห็น” พร้อมบอกเล่าความรู้สึกตอนพบหมอ เสียงเงียบสงัดในห้องตรวจตากับความคิดที่วุ่นวายสับสนอยู่ในหัว ยาหยอดตาที่พยาบาลเตือนก่อนหยอดว่าจะแสบนิดนึงนะค่ะ นาทีที่แสงไฟสีเหลืองจ้าส่องลูกตาทั้ง 2 ข้างไปมา ในบรรยากาศที่คุณหมอมีสีหน้าเคร่งเครียดพร้อมดูจอมอนิเตอร์ มีเพียงเสียงคลิ๊กเมาส์ที่ดังขึ้น น้ำเสียงแผ่วเบาของคุณหมอแจ้งว่า “คุณมีโอกาสที่ตาจะบอดมองไม่เห็นได้ ถ้าไม่รักษาแต่เนิ่นๆ” ความรู้สึกวินาทีนั้นเหมือนมีอาการจุกอยู่ที่อก ยอมรับสิ่งที่คุณหมอพูดไม่ได้ คุณหมอคงตรวจผิดพลาดอะไรไปหรือเปล่า ความวิตกกังวลเริ่มวนเวียนอยู่ในหัว เราจะทำอย่างไรต่อไปดี คิดในใจว่านี่เราจะต้องมองไม่เห็นในวัย 40 กว่าแล้วหรือนี่  เราจะต้องหยอดตาตลอดชีวิตแล้วหรือนี่ พร้อมกลับมาปรึกษาภรรยาที่บ้านว่าจะเชื่อหมอดีมั้ย ฝั่งภรรยาที่มีเพื่อนสนิทเป็นหมอตาเฉพาะทางรับรู้ได้ถึงความวิตกกังวลของสามี จึงนำผลการตรวจเอ็กซ์เรย์ตาส่งไลน์ไปปรึกษาเพื่อนให้ช่วยดู ความเห็นของคุณหมอช่วยลดความวิตกกังวลได้ขณะหนึ่ง ตอนตรวจสายตาอาจจะไม่นิ่ง (กรอกตาไปมา) ถ้าไม่สบายใจให้ลองไปตรวจซ้ำในอีกโรงพยาบาลเพื่อคอนเฟิร์มให้มั่นใจว่าเป็นโรคนี้จริง​


          สิ่งที่อยากบอกเตือนจากเพื่อนที่ระบายความในใจ คือ นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วๆไปแล้ว การตรวจสุขภาพดวงตาก็สำคัญ เพราะโรคตาบางโรค ไม่มีสัญญาณเตือนก่อน เป็นแล้วเป็นหนัก (ตาบอดได้เลย) ซึ่งเมื่อสูญเสียการมองเห็นไปแล้ว ไม่สามารถรักษาให้กลับดีขึ้นได้ และโรคนี้จะไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น แม้กระทั่งระยะลุกลามของโรคที่ผู้ป่วยเริ่มสูญเสียการมองเห็นโดยรอบ ก็อาจลุกลามไปโดยไม่ทันได้สังเกต


ค่ายาร.พ.รัฐและเอกชนต่างกันถึง 9 เท่า (ต้องหยอดตลอดชีวิตด้วย) ทำไงดีล่ะทีนี้

 

          หลังจากภรรยาปรึกษาเพื่อนสนิทที่เป็นหมอ ก็ได้คิวนัดหมอตาโรงพยาบาลรัฐ คลีนิคนอกเวลาแห่งหนึ่งที่ดูมีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัย ตึกเพิ่งสร้างใหม่ อุปกรณ์ใหม่ ผลตรวจน่าจะเชื่อถือได้แน่นอน  เพื่อนนึกในใจว่ารอบนี้จะพยายามจะไม่กรอกตาไปมาเพื่อไม่ให้ผลคลาดเคลื่อน หลังผลตรวจออกมา คุณหมอที่เพื่อนแฟนแนะนำให้ได้เห็นผลตรวจของโรงพยาบาลแห่งแรกแล้ว ก็ยืนยันผลตรวจตามเดิม พร้อมให้คำแนะนำถึงแนวทางการรักษาโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการหยอดตาตลอดชีวิต เพื่อนจ่ายค่าเสียหายรอบนี้ 3,256 บาท เป็นค่าตรวจวินิจฉัยโดยวิธีพิเศษอื่นๆ 3,000 บาท ค่ายา 2 หลอด 256 บาท ซึ่งค่ายาหยอดตาร.พ.รัฐเฉลี่ยอยู่ที่ขวดละ 128 บาท (บัญชียาหลักแห่งชาติ) ขณะที่ร.พ.เอกชนที่เป็นยาตัวเดียวกันที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกอยู่ที่ขวดละ 1,160 บาท ค่ายาหยอดตาที่ต้องหยอดตลอดชีวิตต่างกันถึง 9 เท่า โอ้แม่เจ้า!!! เจอกับตัวเองเข้าแล้วไง นี่ยังไม่นับรวมค่าหมอ 650 บาท ค่าบริการโรงพยาบาล (วัดสายตา ส่วนสูง น้ำหนัก) 190 บาท ค่าพยาบาล 90 บาท รวมค่าหาหมอ 2,090 บาท  (ค่าตรวจตารอบแรกประมาณ 5 พันบาท)

          เพื่อนนึกอยู่ในใจว่า นี่เป็นแค่โรคตาโรคเดียว ถ้าอายุมากขึ้น แล้วตรวจพบหลายๆโรคแล้วจะทำยังไงกันดี นี่เราเริ่มมีจินตนาการถึงค่ารักษาตัวตอนป่วยโรคร้ายแรงที่อาจจะต้องใช้เงินเยอะกว่านี้ หรือต้องเลือกร.พ.เอกชนในตอนที่ไม่มีสวัสดิการ เบิกเคลมประกันไม่ได้ เราต้องเตรียมเงินไว้เท่าไรบ้างเพื่อลดความเสี่ยงของเงินในกระเป๋ากับค่ารักษาพยาบาล

3 ข้อควรรู่ก่อนซื้อประกันสุขภาพ (เพิ่ม)


          บรรยากาศงานปาร์ตี้เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยอย่างสนุกสนาน หัวข้อในการสนทนามีแต่เรื่องย้อนวัยไปกว่า 20 ปีที่แล้วตอนรับน้องใหม่ๆ  ทบทวนความทรงจำในช่วงวัยเรียนกันหอมปากหอมคอ หัวข้อในการสนทนาเป็นท๊อปฮิตคงหนีไม่พ้นเรื่องไวรัสโคโรน่า หรือ โควิท-19 ที่กำลังมีข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อโรค อีกทั้งสิ่งที่สังเกตุเห็นได้จากเพื่อนๆ ก็คือ มีการพูดคุยกันเรื่อง กำลังจะซื้อบ้านใหม่ให้ลูกๆที่กำลังเติบโต จะซื้อตอนนี้ดีมั้ย เพื่อนที่โสดอยากวางแผนเกษียณหลังทำงานต่างประเทศ และเพื่อนคนเดิมที่กังวลกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ เพราะกลัวค่าหมอและค่ายาที่สูงขึ้น โดยเพื่อนๆ ที่พอมีความรู้ด้านประกันสุขภาพให้คำแนะนำ 3 ข้อ ดังนี้ 

​          1.การทำประกันสุขภาพควรเลือกประกันแบบตลอดชีพ เพราะสามารถซื้อคู่กับประกันสุขภาพได้ยาวถึงอายุ 80 ปี หากทำประกันวินาศภัยปีต่อปี กรณีเคลมเยอะ มีความเสี่ยงที่อาจไม่ต่อเบี้ยประกันปีต่อได้ โดยทุนประกันชีวิต สามารถทยอยทำได้ ไม่ต้องทำให้หมดในครั้งเดียว

          2. ประกันสุขภาพที่ซื้อเพิ่ม ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนหน้าการทำประกัน ถ้าเป็นโรคตาเกี่ยวกับการมองเห็นมาก่อน ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครอง กรณีที่ปกปิดโรคที่มีมาก่อน(ไม่แจ้งบริษัทประกัน) อาจส่งผลให้เคลมไม่ได้ เนื่องจากบริษัทอาจไม่รับประกันแต่แรก 


          3. ประกันสุขภาพมีระยะเวลารอคอย 30-120 วัน กรณีเจ็บป่วยโรคทั่วไป คุ้มครองหลังกรมธรรม์มีผล 30 วัน แต่โรคที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่อง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง มีระยะเวลารอคอย 90-120 วัน หมายความว่า หากเจ็บป่วยโรคพวกนี้ก่อนระยะเวลาที่กำหนด 90-120 วัน ประกันสุขภาพจะยังไม่ได้รับความคุ้มครองโรคดังกล่าว


          คำทิ้งท้ายด้วยความห่วงใยจากเพื่อนในวันนั้น เตือนเพื่อนทุกๆคนว่า อย่าลืมหมั่นตรวจสุขภาพทั่วๆไปเป็นประจำทุกๆปี เพราะอายุเริ่มมากมีความเสี่ยงทั้งสุขภาพร่างกาย สายตา และที่สำคัญคือเรื่องสุขภาพการเงิน อย่ามัวแต่เอาเงินที่มีอยู่ไปลงทุนอย่างเดียว เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้เสมอ “ในวันที่สุขภาพดีเราสามารถเลือกทำประกันสุขภาพได้ หากเราสุขภาพไม่ดี บริษัทประกันก็สามารถเลือกได้เหมือนกันว่าจะไม่รับทำประกัน” 


ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง:


ให้คะแนนบทความ

คนอง ศรีพิบูลพานิชย์ CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย