สินเชื่อ/ธุรกิจ
ปรับร้านตามยุค เพิ่มรายได้แบบรัวๆ
หลายปัญหาที่ธุรกิจร้านอาหารต้องเจอ ทั้งเรื่องต้นทุนสูง สวนทางกับยอดขาย คู่แข่งในตลาดมีเยอะ พนักงานไม่พร้อม ลูกค้ามีความต้องการสูงขึ้น ฯลฯ หากคุณมีร้านขายอาหารตึกแถวธรรมดาๆ วันนี้เรามีไอเดียในการสลัดคราบตึกแถวธรรมดาๆ ทิ้งไป แล้วรีโนเวทตึกแถวใหม่ แปลงให้กลายเป็นร้านอาหารน่านั่ง บรรยากาศอบอุ่น หาตัวช่วยในการควบคุมต้นทุน รวมถึงความหลายหลายของช่องทางรับเงิน เพื่อเพิ่มกำไรให้ร้านอาหาร ด้วย 3 เทคนิคปรับร้านตามยุค เพิ่มรายได้แบบรัวๆ
1. เพิ่มลูกค้า สร้างรายได้
การสลัดคราบตึกแถวธรรมดาๆ รีโนเวทให้เป็น…ร้านอาหารน่านั่ง บรรยากาศอบอุ่น เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้าร้าน ด้วยการรีโนเวทตึกแถวให้เป็นร้านอาหารก็ถือเป็นไอเดียที่ดีไอเดียหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารทั่วไป ร้านชาบู หมูกระทะ บุฟเฟ่ต์ปิ้งย่าง หรือร้านขนมเก๋ๆ ตึกแถวเก่าๆ ก็กลายเป็นร้านเหล่านี้ได้ เพียงแค่รีโนเวทมันซะใหม่ จนแทบลืมความเก่าทรุดโทรมไปเลย
หน้าร้านเก๋ๆ สะดุดตา น่าสนใจ (ขอบคุณภาพจาก dotproperty)
ตกแต่งภายในให้น่านั่ง บรรยากาศอบอุ่น มีมุมถ่ายรูปเช็คอิน
2. อุดรูรั่ว ป้องกันต้นทุนบานปลาย
รูรั่วที่หลายๆ ร้านค้า โดยเฉพาะร้านอาหารมักมองข้าม ขาดการควบคุม จนส่งผลต่อกำไรของร้านค้าในที่สุด รูรั่วที่ว่าได้แก่
• รั่วจากการให้บริการ
ร้านที่วุ่นวาย ช้าตลอดเวลา เด็กเสิร์ฟรับออเดอร์ลูกค้าผิดพลาด เขียนให้พ่อครัวด้วยลายมือที่ต้องเกาหัวทุกทีที่อ่าน ลูกค้ารอนาน (จนยกเลิกรายการ) และอารมณ์เสียใส่ หรือจะเป็นการคิดเงินผิดพลาด คิดขาดเราก็ขาดทุน คิดเกินลูกค้าก็ว่าเราโกง คิดช้าลูกค้าบ่นรอนานเสียเวลา ต่อว่าร้านค้าบอกไม่ประทับใจ
• รั่วจากคุณภาพสินค้า
แม้สินค้าจะดี หรืออาหารจะรสชาติเลิศแค่ไหนก็ตาม แต่หากอาหารนั้นเน่าเสีย ไม่สะอาดถูกสุขลักษณะ รวมถึงภาชนะ อุปกรณ์ และเครื่องใช้อื่นๆ พบตัวอ่อนแมลงสาบอยู่ตามถาดอาหาร บนโต๊ะอาหาร และกล่องทิชชู่ ลูกค้ารายไหนที่เจอแบบนี้เชื่อได้เลยว่าคงไม่กลับมาร้านนี้เป็นครั้งที่สองแน่นอน
• รั่วจากความไม่ซื่อสัตย์ของพนักงาน
ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่พนักงานจะแอบทำอะไรบางอย่าง เช่น "โกงยกบิล" ที่ใช้ช่องโหว่ของระบบการทำงาน โดยพนักงานเดินไปเก็บเงินลูกค้า แต่ไม่นำเงินมาส่งที่แคชเชียร์ ซึ่งถ้าแคชเชียร์ไม่ได้บันทึกไว้ว่ารอเงินโต๊ะไหนอยู่ เด็กเสิร์ฟก็อาจจะโกงยกบิลแบบนี้ได้สบายๆ หรือแม้แต่การแอบนำวัตถุดิบในครัวไปทำอาหารกินกันเองหรือนำไปขายต่อก็ตาม
แนวทางการแก้ไข
• ปรับปรุงคุณภาพการบริการ
ถามลูกค้า เป็นการถามมุมมองของลูกค้าของเราว่าเขารู้สึกอย่างไร ต้องการอะไรในการบริการของเรา แล้วสรุปเป็นคะแนนว่า เราได้คะแนนความพึงพอใจจากลูกค้าเป็นเท่าไร จะทำให้เรารู้ว่าตอนนี้ เราอยู่ที่จุดใด ระดับใด ซึ่งก็คือการสำรวจความผูกพันของลูกค้า
กำหนดสิ่งที่ควรปฏิบัติ ในการให้บริการลูกค้าหรือการคิดว่าสิ่งที่พนักงานจะให้บริการลูกค้าต้องปฏิบัติอะไรบ้าง ซึ่งก็คือการออกแบบการบริการ (Service Design)
พัฒนา คือ การนำเอาสิ่งที่พนักงานควรจะปฏิบัติไปใช้บริการลูกค้าจริง พร้อมการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมอยู่เสมอ และติดตามผล เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
• ปรับปรุงคุณภาพสินค้า
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ลูกค้าสามารถเห็นหรือสัมผัสได้โดยตรง อย่างการจัดตกแต่งบริเวณร้านและหน้าร้าน ความสะอาดของอาหาร การแต่งกายของพนักงาน ไปจนถึงห้องน้ำ ที่ล้วนสะท้อนถึงความสะอาดของสินค้าหรืออาหาร รวมไปถึงสิ่งที่ลูกค้าอาจ ไม่เห็นโดยตรง แต่ก็ส่งผลต่อหลักสุขาภิบาลอาหาร เช่น ความสะอาดและความเป็นระเบียบของห้องครัว การมีระบบกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลที่ดี ไม่มีแมลงรบกวน เป็นต้น
• ดูแลพนักงาน
หนึ่งในปัญหาที่คนทำร้านอาหารไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือเล็กต่างยอมรับว่า “สำคัญ” และสร้างความเครียดให้ได้บ่อยๆ ก็คือเรื่องของ “พนักงาน” เรื่องของพนักงานถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของร้าน และมีผลโดยตรงต่อกำไร-ขาดทุนได้เช่นกัน ฉะนั้นควรคำนึงถึงเรื่องค่าจ้างแรงงาน ควรที่จะปรับให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันกับคู่แข่ง รวมถึงสวัสดิการต่างๆ อาทิเช่น แบบฟอร์มชุดทำงานฟรี ส่วนแบ่งเงินทิป มีค่าเดินทางหรือที่พักสำหรับพนักงาน รวมถึงการอบรมพัฒนาฝีมือให้พนักงานในเรื่องใจรักบริการ (service mind) การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรืออบรมการทำอาหาร ทำเครื่องดื่มใหม่ๆ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานรู้สึกสนุกกับงานมากขึ้น ได้เห็นถึงคุณค่าในการทำงานกับร้านอาหาร และเกิดเป็นความภักดีตามมา
• ใช้โปรแกรมหรือแอปพลิเคชัน ช่วยจัดการร้าน
โปรแกรมร้านอาหาร เพื่อการบริหารจัดการที่ง่ายกว่า รองรับสถานการณ์ที่หลากหลาย เช่น ย้ายโต๊ะ แยกบิลได้ รองรับร้านอาหาร ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ปัจจุบันโปรแกรมการจัดการร้านอาหารมีให้เลือกใช้มากมาย ทั้งเวอร์ชันเสียสตางค์และแจกฟรี การใช้งานง่ายผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต มีรายงาน ควบคุมสต็อกและช่วยตรวจนับได้ง่าย ที่ช่วยแก้ปัญหาร้านอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็น
- ไม่ต้องกลัว พนักงานทุจริต
- ลดการจ้างพนักงาน
- บริการรวดเร็ว ลูกค้าประทับใจ
- จัดการสต็อกได้ง่าย
- ลดปัญหาการสื่อสารภายในร้าน
3. เพิ่มช่องทางหรือโอกาสรับเงิน เพื่อลดต้นทุน
โดยทั่วไปคนมักมองว่าการใช้เงินสดเป็นวิธีการรับชำระเงินที่ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ แต่การใช้เงินสดนั้นมีต้นทุนที่มองไม่เห็นแอบแฝงอยู่มากมาย เช่น เวลาที่เสียไปในการตรวจนับเงินสด การเตรียมเงินทอน รวมถึงการกระทบยอดรายการชำระเงิน เสียโอกาสในการขายเมื่อลูกค้ามีเงินสดไม่เพียงพอ ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรม การปลอมแปลงธนบัตร หรือแม้กระทั่งการทุจริตของพนักงาน การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) กำลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้จ่ายประจำวันของคนไทยเพื่อทดแทนการใช้เงินสด และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะปลอดภัย สะดวก สามารถรับโอนจ่ายได้ทุกที่ ทุกเวลา ช่วยเพิ่มยอดขายให้ร้านได้
ช่องทางรับเงินยอดฮิต อาทิเช่น
• เงินสด
• เครื่องรับบัตร (Debit Card, Credit Card)
• QR Code
• พร้อมเพย์ (ผ่านเบอร์โทรศัพท์หรือเลขที่บัญชี)
สุดท้ายแล้ว อะไรๆ ก็ใช้เงิน
ไอเดียดี แต่ขาดเงินทุน ธุรกิจก็คงโตได้ยาก แล้วแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในธุรกิจ ไม่ว่าจะร้านค้าหรือร้านอาหารนั้นมีอะไรบ้างล่ะ
• เงินออมส่วนตัว
หากเราได้ทำการคำนวณค่าใช้จ่ายของร้านดูแล้ว และเงินออมที่มีเพียงพอที่จะรองรับค่าใช้จ่ายของร้านค้าประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี อาจเริ่มต้นจากการใช้เงินออมในร้านค้าได้เพราะเป็นทางเลือกที่ไม่มีต้นทุนดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้เงินออมทั้งหมดที่มี ควรจะแบ่งมาใช้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของเงินเก็บที่มีทั้งหมด
• หยิบยืมจากคนใกล้ชิด
สำหรับใครที่เพิ่งเรียนจบและยังไม่มีเงินเก็บมากนัก แต่มีความตั้งใจทำธุรกิจจริงๆ อาจขอยืมคนใกล้ตัวที่มีกำลังทรัพย์และไม่ได้เผชิญความลำบากทางการเงินอยู่ เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่คิดดอกเบี้ย โดยอาจจะแลกเป็นหุ้นในร้าน ในกรณีที่ร้านไปได้ดี มีกำไร อาจแบ่งปันผลให้คนที่ช่วยเหลือในตอนเริ่มต้น
• ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
ทางเลือกนี้อาจจะยากสำหรับผู้เริ่มต้นกิจการใหม่เนื่องจากธนาคารจะขอดูความสามารถในการทำธุรกิจ ผลประกอบการที่ผ่านมาและการเดินบัญชีอย่างอย่าน้อย 2-3 ปี อีกเรื่องที่สำคัญคือเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ โดยทั่วไปธนาคารจะพิจารณาว่าต้องมีกำไรสุทธิแต่ละเดือนมากกว่าภาระการผ่อนรวมอย่างน้อย 1.2 เท่า
เช่น หากต้องผ่อนหนี้เดือนละ 10,000 บาท ควรมีกำไรอย่างน้อยเดือนละ 12,000 บาท จึงจะมีโอกาสกู้ผ่าน และโดยปกติต้องมีหลักทรัพย์ในการค้ำประกันด้วย โดยวงเงินในการขอสินเชื่อก็จะขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ที่นำไปค้ำประกัน อาทิเช่น สถานประกอบการ บ้านพักอาศัยของผู้ขอกู้หรือของญาติพี่น้อง เป็นต้น ดังนั้น หากใครคิดจะใช้ทางเลือกนี้อย่างน้อยควรเตรียมความพร้อมและเอกสารในการขอสินเชื่อ ดังนี้
- เตรียมเอกสารส่วนตัวผู้ขอกู้: สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ทะเบียนพาณิชย์ รูปถ่ายกิจการ ฯลฯ
- เตรียมเอกสารทางการเงิน: รายการเดินบัญชีทุกธนาคารย้อนหลัง 6 เดือน บิลการค้า หลักฐานการเสียภาษีเงินได้
- เตรียมเอกสารหลักประกัน: สำเนาโฉนดที่ดิน หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ใบอนุญาตปลูกสร้าง
สำหรับร้านอาหารหรือธุรกิจที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อาจจะขอสินเชื่อประเภทนี้ยาก ทำให้ต้องหันไปพึ่งสินเชื่อส่วนบุคคล ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการหาแหล่งเงินทุน แต่ก็มาพร้อมกับต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงเช่นกัน
การขายอาหารไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดนั้น คุณภาพของอาหารถือเป็นหัวใจหลักที่สำคัญ นอกเหนือจากนี้ การให้บริการก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากทุกวันนี้มีการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้น การสร้างจุดขายให้สินค้าและองค์ประกอบอื่นๆ รวมถึงความอดทน มุ่งมั่น มองให้ต่าง คิดให้ต่างนั้น เป็นปัจจัยที่จะทำให้สามารถยืนหยัดในโลกของการขายอาหารได้
บทความที่เกี่ยวข้อง :