22 ส.ค. 61

ทางเลือกเงินกู้ของคนมีบ้าน

คะแนนเฉลี่ย

สินเชื่อ/ธุรกิจ

​​​​​​​​​​​​​ ​​ทางเลือกเงินกู้ของคนมีบ้าน​
​​

        เมื่อมีความจำเป็นบางอย่างที่ต้องใช้เงินก้อนโต เชื่อว่าหลายๆ คนคงคิดไม่ตกว่าจะหาเงินก้อนนี้มาจากไหนดี แต่มีทรัพย์สินใกล้ตัวที่เราอาจลืมนึกถึงไป ซึ่งเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ได้ก็คือ “บ้าน” ของเรานั่นเองค่ะ แต่การจะนำบ้านไปกู้เงินหลายคนก็คงคิดหนัก เพราะบ้านเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ แถมยังมีข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็น และเพื่อให้มั่นใจว่าการนำบ้านไปช่วยกู้เงินครั้งนี้จะคุ้มค่าจริง K-Expert มีคำแนะนำก่อนตัดสินใจค่ะ​


         ทำความเข้าใจใช้บ้านกู้เงินเป็นอย่างไร


          • การนำบ้านไปกู้เงินคืออะไร
          สำหรับการนำบ้านไปกู้เงินคือ การนำบ้านพร้อมที่ดินที่ปลอดภาระมาใช้ป็นหลักประกันในการขอกู้เงิน ทั้งที่บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของเราเองหรือของเครือญาติ ได้แก่ พ่อ แม่ ลูก คู่สมรส โดยเมื่อเราได้รับการอนุมัติวงเงินแล้ว บ้านพร้อมที่ดินก็จะถูกนำไปจำนองกับธนาคารจนกว่าเราจะชำระหนี้หมด จึงค่อยไถ่ถอน แล้วบ้านพร้อมที่ดินก็จะปลอดภาระอีกครั้งหนึ่งค่ะ

          • ใช้อะไรกู้ได้บ้าง
          นอกจากบ้านพร้อมที่ดินแล้ว เรายังสามารถนำ ทาวน์เฮาส์ อาคารพาณิชย์ ห้องชุด รวมถึงที่ดินเปล่า มาใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้ได้

          • ขอวงเงินแบบไหนได้บ้าง
          ​โดยวงเงินสินเชื่อที่เราสามารถขอได้นั้นมีทั้งแบบเป็นเงินกู้ (Loan) ที่รับเป็นเงินก้อนแล้วผ่อนรายเดือนตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งระยะเวลาในการผ่อนชำระสามารถผ่อนได้ยาวๆ เหมือนการกู้ซื้อบ้าน เช่น 30 ปี 15 ปี เป็นต้น และน​อกจากวงเงินกู้แล้วยังสามารถขอเป็นวงเงินเบิกเงินเกินบัญชี (O/D) ที่ให้กับบัญชีกระแสรายวันในการเบิกเงินออกมาใช้แต่ละครั้งด้วยการสั่งจ่ายเช็คได้ ซึ่งวงเงินประเภทนี้จะใช้เพื่อเป็นวงเงินหมุนเวีย​นในกิจการ

         ดอกเบี้ยแพงไหม

         เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้จะใช้บ้านเป็นหลักประกัน จึงมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าสินเชื่อบุคคลแบบที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรกดเงินสด หรือสินเชื่อบุคคลที่ได้รับเป็นเงินก้อนแล้วผ่อนรายเดือน ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 17-28% ต่อปี แต่ก็ยังมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าดอกเบี้ยของการซื้อบ้านที่มักได้รับอัตราดอกเบี้ยโปรโมชันหรืออัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำในช่วงปีแรกๆ โดยอัตราดอกเบี้ยของการนำบ้านปลอดภาระไปขอกู้เงินจะอยู่ที่ประมาณ 7-8% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสินเชื่อประเภทนี้จะใช้บ้านเป็นหลักประกันเหมือนกับสินเชื่อการกู้ซื้อบ้าน แต่ดอกเบี้ยของการนำบ้านปลอดภาระไปขอกู้เงินนั้น จะไม่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้

          มีค่าใช้จ่ายเยอะไหม​

​          ค่าใช้จ่ายของการนำบ้านปลอดภาระไปเป็นหลักประกันในการขอกู้เงิน เหมือนกับการกู้ซื้อบ้านใหม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายหลักๆ ได้แก่
               - ค่าจำนอง 1% ของวงเงินกู้
               - ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้
               - ค่าประเมินราคาอยู่ที่ ประมาณ 3,000 บาท
               - ค่าประกันอัคคีภัยอยู่ที่ประมาณ 0.35% ของราคาสิ่งปลูกสร้าง

          ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจะเยอะหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับวงเงินที่เราต้องการขอกู้หรือวงเงินที่ได้รับการอนุมัติค่ะ ตัวอย่างเช่น ได้รับวงเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาท ค่าจำนองจะอยู่ที่ 10,000 บาท ค่าอากรแสตมป์ 500 บาท และค่าประเมิน 3,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับทุนประกัน มูลค่าทรัพย์สิน ระยะเวลาคุ้มครอง เป็นต้น เช่น สมมติว่าบ้านที่ใช้ในการขอกู้มีมูลค่าสิ่งปลูกสร้างอยู่ที่ 700,000 บาท หากทำทุนประกันเท่ากับมูลค่าทรัพย์สิน และเลือกความคุ้มครอง 1 ปี ค่าเบี้ยประกันจะอยู่ที่ประมาณ 2,450 บาทค่ะ ดังนั้น รวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายในการขอกู้เงินในครั้งนี้อยู่ที่ประมาณ 15,950 บาทค่ะ

          คุ้มหรือไม่ที่จะเอาบ้านไปกู้เงิน

          อันดับแรกให้ลองเปรียบเทียบดอกเบี้ยกับค่าใช้จ่าย
         ​ เพราะถึงแม้การเอาบ้านไปกู้เงินจะเสียดอกเบี้ยที่ถูกกว่าสินเชื่อบุคคลประเภทอื่นๆ แต่ต้องไม่ลืมว่าการกู้เงินประเภทนี้มีค่าใช้จ่าย ซึ่งต่างจากสินเชื่อบุคคลโดยทั่วไปที่มักจะไม่มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นหรือฟรีค่าใช้จ่าย ดังนั้น จึงควรเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าใช้จ่าย หากเราเลือกใช้สินเชื่อบุคคลประเภทอื่น เช่น สินเชื่อที่ใช้รถเป็นหลักประกัน สินเชื่อบุคคลที่ไม่ต้องมีหลักประกัน เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น

         ต้องการกู้เงิน 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ยของการนำบ้านไปกู้เงินอยู่ที่ MRR-0.5% ต่อปี ซึ่งเท่ากับ 6.62% ต่อปี สมมติผ่อนเดือนละ 9,400 บาท ใน 1 ปี ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 64,000 บาท โดยจากตัวอย่างเดิมเมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ประมาณ 79,950 บาท (64,000+15,950)

         หากเราลองเปรียบเทียบกับสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สมมติว่าได้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 17% ต่อปี โดยให้ค่าผ่อนเท่ากันที่ 9,400 บาท ใน 1 ปี ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ประมาณ 173,000 บาท

         จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ดอกเบี้ยของการนำบ้านไปกู้เงิน เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแล้วก็ยังต่ำกว่าการกู้เงินแบบสินเชื่อบุคคลที่ ไม่มีหลักประกันค่ะ

​         นอกจากการเปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายแล้วควรดูระยะเวลาในการผ่อนที่เราต้องการ
         โดยหากต้องการผ่อนยาว เช่น 30 ปี 15 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่อเดือน การเลือกนำบ้านไปกู้เงินก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะสินเชื่อบุคคลแบบไม่มีหลักประกันโดยทั่วไปมักให้ระยะเวลาในการผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี หรือ 60 เดือนค่ะ

​         อีกประเด็นหนึ่งที่เราควรนึกถึงก็คือจำนวนเงินที่ต้องการขอกู้

         โดยสินเชื่อบุคคลแบบไม่มีหลักประกันมักจะให้วงเงินไม่สูงเท่ากับการนำบ้านไปกู้เงิน เช่น กำหนดวงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาท แต่หากเราต้องการกู้เงินเป็นจำนวนเงินที่มากกว่า เช่น 2 ล้านบาท การเลือกนำบ้านที่มีมูลค่าสูงมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินก็มีโอกาสที่จะได้วงเงินสูงตามที่เราต้องการได้ค่ะ

         สุดท้ายแล้วหากเราตัดสินใจนำบ้านไปกู้เงิน ต้องไม่ลืมว่า “บ้าน” เป็นทรัพย์สินที่มีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้น เราควรมีวินัยในการชำระหนี้คืนธนาคาร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับบ้านของเราค่ะ

[เครื่องมือคำนวณ] คำนวณเงินผ่อนบ้าน  

​บทความที่เกี่ยวข้อง


ให้คะแนนบทความ

นารีรัตน์ กำเลิศทอง AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย