สินเชื่อ/ธุรกิจ
เงินไม่สะดุดแม้ยามฉุกเฉิน
หากวันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วพบว่าจำเป็นต้องใช้เงินด่วนจำนวนก้อนหนึ่ง เมื่อสำรวจเงินเก็บที่มีกลับพบว่าไม่เพียงพอ เป็นคุณจะทำอย่างไร? เรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เพราะไม่มีใครล่วงรู้เหตุการณ์ในอนาคตได้ว่า เหตุการณ์ไม่คาดฝันนั้นจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไร ครั้นจะหันหน้าไปหยิบยืมใครก็ไม่กล้า หรืออาจไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเราที่ต้องการ สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต และบัตรกดเงินสด เป็นทางออกหนึ่งที่จะช่วยเราได้ แล้วควรเลือกใช้แบบไหนถึงจะคุ้มค่าที่สุด K-Expert มีคำแนะนำมาฝาก
กรณีที่ 1: หากช็อตเงินหรือต้องการใช้เงินด่วน และไม่สามารถรอได้ เช่น ต้องนำเงินไปจ่ายค่ารักษากรณีเจ็บป่วย นำเงินไปซ่อมบ้าน ซ่อมรถ
- กดเงินสดจากบัตรเครดิต
เหมาะกับ คนที่มีบัตรเครดิต และใช้บัตรเครดิตอยู่เป็นประจำ เมื่อช็อตเงินระยะสั้นๆ แล้วประเมินตัวเองได้ว่าจะสามารถนำมาจ่ายคืนได้เร็ว เช่น รอเงินเดือนออกอีกไม่กี่วันก็สามารถนำมาจ่ายคืนได้หมดแล้ว ก็สามารถกดเงินสดจากบัตรเครดิตมาใช้ได้
ข้อดี สะดวก ง่าย ได้เงินทันใจ และอัตราดอกเบี้ยไม่สูงมาก
ข้อจำกัด ต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 15,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และมีค่าธรรมเนียมการกดเงินสด 3% ของยอดเงินที่กด
-กดเงินสดจากบัตรกดเงินสด (บัตรกดเงินสด K-Express Cash)
เหมาะกับ คนที่ไม่มีบัตรเครดิต เนื่องจากอาจจะมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำในการสมัคร
บัตรเครดิต แต่สามารถสมัครบัตรกดเงินสดได้ หรือมีบัตรกดเงินสดอยู่แล้ว เมื่อช็อตเงินระยะสั้นๆ แล้วประเมินตัวเองได้ว่าจะสามารถนำมาจ่ายคืนได้เร็ว ก็สามารถกดเงินสดจากบัตรกดเงินสดมาใช้ได้
ข้อดี สมัครง่าย สะดวก ได้เงินทันใจ และไม่มีค่าธรรมเนียมการกดเงินสด
ข้อจำกัด อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง
คราวนี้ลองมาดูกันว่า ระหว่าง “บัตรเครดิต” กับ “บัตรกดเงินสด” หากต้องการเงินใช้เงินฉุกเฉินขึ้นมา บัตรใดจะคุ้มค่ากว่ากัน
กรณีกดเงินสดไม่เกิน 80,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยบัตรกดเงินสด 27% ต่อปี อัตราดอกเบี้ย
บัตรเครดิต 18% ต่อปี โดยจ่ายขั้นต่ำของแต่ละบัตรอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน จากการคำนวณพบว่า
- หากกดเงินสดแล้วจ่ายคืนทั้งหมดภายใน 3 เดือน ควรใช้บัตรกดเงินสด เพราะมีดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายโดยรวมน้อยกว่า
- หากกดเงินสดแล้วจ่ายคืนทั้งหมดได้หลัง 3 เดือน ควรใช้บัตรเครดิต เพราะมีดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายโดยรวมน้อยกว่า
กรณีที่ 2: หากต้องการเงินก้อน แต่ไม่ฉุกเฉิน สามารถรอได้ ไม่ได้รีบใช้เงินมาก เช่น นำเงินไปแต่งบ้าน แต่งงาน เรียนต่อ
-สินเชื่อบุคคล (สินเชื่อบุคคลกสิกรไทย)
เหมาะกับ คนที่วางแผนการใช้เงินเอาไว้ล่วงหน้า แต่มีเงินไม่เพียงพอ และไม่สามารถนำเงินก้อนมาจ่ายคืนทีเดียวได้ จึงต้องการทยอยผ่อนจ่ายแบบเท่ากันทุกเดือน ก็สามารถขอสินเชื่อบุคคลมาใช้ได้
ข้อดี เลือกระยะเวลาผ่อนชำระสั้นหรือยาวได้ ทำให้ยอดผ่อนต่อเดือนเหมาะกับความสามารถในการชำระ
ข้อจำกัด อัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง และหากปิดหนี้ก่อน 24 เดือน จะมีค่าปรับ
เปรียบเทียบบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อบุคคล
|
บัตรเครดิต
|
บัตรกดเงินสด |
สินเชื่อบุคคล |
วัตถุประสงค์การใช้
| ใช้จ่ายแทนเงินสด/ผ่อนสินค้า + เป็นวงเงินฉุกเฉินพร้อมใช้ | ใช้ผ่อนสินค้า + เป็นวงเงินฉุกเฉินพร้อมใช้ | สินเชื่อเงินก้อนพร้อมใช้ |
กรณีต้องการเงินสด เหมาะกับ
| คนที่ช็อตเงินระยะสั้นๆ และสามารถจ่ายคืนได้เร็ว
| คนที่ช็อตเงินระยะสั้นๆ และสามารถจ่ายคืนได้เร็ว | คนที่วางแผนใช้เงินล่วงหน้า และต้องการผ่อนจ่ายเท่ากันทุกเดือน โดยเลือกระยะเวลาผ่อนสั้นหรือยาวได้ |
อัตราดอกเบี้ย | 18% ต่อปี
| 20-27% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับวงเงินอนุมัติ) | 19-26% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับวงเงินอนุมัติ) |
ค่าใช้จ่าย
| ค่าธรรมเนียม 3% ของ ยอดเงินที่กด
| ค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อทุกๆ วงเงินกู้ 2,000 บาท | ค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อทุกๆ วงเงินกู้ 2,000 บาท |
การจ่ายคืนขั้นต่ำ
| อย่างน้อย 10% (ไม่น้อยกว่า 1,000 บาท) แต่สามารถจ่ายมากกว่านี้ได้
| อย่างน้อย 5% (ไม่น้อยกว่า 500 บาท) แต่สามารถจ่ายมากกว่านี้ได้
| ขึ้นอยู่กับวงเงินอนุมัติและระยะเวลาผ่อนจ่าย โดยผ่อนจ่ายเท่ากันทุกเดือน
|
การปิด/โปะ | ไม่มีค่าปรับ
| ไม่มีค่าปรับ
| ปิดก่อน 24 เดือน มีค่าปรับ 1%
|
คำแนะนำในการใช้
ก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อบุคคล หรือกดเงินสดจากบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดมาใช้ อยากให้พิจารณาให้รอบคอบถึงความจำเป็นในการใช้เงินก่อนว่า เราจำเป็นต้องใช้เงินก้อนนี้จริงหรือไม่ หากจำเป็นต้องใช้ แต่ไม่รีบมาก สามารถวางแผนเก็บเงินเพื่อให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการได้หรือไม่ และเมื่อตัดสินใจขอสินเชื่อบุคคล หรือกดเงินสดจากบัตรเครดิต และบัตรกดเงินสดมาใช้แล้ว ควรรีบนำเงินมาชำระคืนให้เร็วที่สุด หรือชำระตรงเวลาสม่ำเสมอทุกเดือน วิธีนี้จะช่วยเราประหยัดดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นนั่นเอง
ทั้งนี้ อยากให้ลองสำรวจตัวเองดูว่า เรามีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้บ้างแล้วหรือยัง หากยังไม่มี แนะนำให้เตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพื่อป้องกันปัญหาช็อตเงินที่อาจเกิดขึ้น แถมยังช่วยลดการเป็นหนี้และมีภาระทางการเงินตามมาอีกด้วย โดยสำรองเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 1 เท่า และกองทุนตลาดเงินอีก 5 เท่า เนื่องจากมีสภาพคล่องสูง หากต้องการใช้เงินเมื่อไรก็สามารถนำมาใช้ได้ทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง: